แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
อสังหาริมทรัพย์อาจตกอยู่ในภาระจำยอม ก็เพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่นเท่านั้น จะอ้างว่าใช้ที่ดินนั้นเพื่อประโยชน์แก่การค้าน้ำแข็งหาได้ไม่
ผู้ที่ต้องยอมรับภารจำยอมคือ เจ้าของทรัพย์ จำเลยเป็นเพียงผู้เช่าที่ดินของวัด จำเลยย่อมไม่มีหน้าที่จะ ยกวัดเข้ามาเป็นจำเลย
โจทก์ฟ้องอ้างภาระจำยอม โดยกล่าวว่า โจทก์ได้ใช้ที่ดินนั้นเข้าออกเพื่อประโยชน์อื่น เช่นนี้ เป็นการฟ้องเคลือบคลุม ไม่แจ้งชัดว่าประโยชน์ใด โจทก์จะนำสืบมิได้ เพราะไม่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรค 2
ประเด็นในคดีเป็นเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพอนามัยของโจทก์ภายหลังการกั้นรั้วของจำเลยหรือเพราะเหตุที่กั้นรั้วนั้น ว่าโจทก์ยังสุขสบายตามสมควรหรือไม่ เช่นนี้ ศาลไม่จำเป็นต้องสืบพยานถึงความสุขสบายของโจทก์ ตั้งแต่ครั้งที่จำเลยยังไม่กั้นรั้วและศาลยังไม่ไปเดินเผชิญสืบ
ย่อยาว
โจทก์ทั้ง ๓ สำนวน ฟ้องขอให้จำเลยเปิดรั้วและเรียกค่าเสียหาย โดยอ้างว่า จำเลยได้กั้นรั้วในที่ ๆ โจทก์ใช้เป็นท่าเรือสพานปลา ทำให้โจทก์ขาดรายได้ที่เคยได้จากการนั้น การกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดสิทธิ์ในภารจำยอม และทำให้โจทก์ไม่ได้รับแสงสว่างและทางลม ต้องเสื่อมเสียสุขภาพอนามัย
จำเลยทุกสำนวนต่อสู้อย่างเดียวกันว่า จำเลยที่ ๑ เป็นผู้เช่าที่ดินบริเวณสพานปลานี้จากกรมการศาสนาอันเป็นที่ธรณีสงฆ์ ส่วนที่ดินของโจทก์ที่อยู่ติดต่อกันนั้น มีตรอกเดินออกถนนและทางสาธารณะไปสู่ตลาดสดกับท่าสพานปลาได้ถึง ๔ ด้าน จำเลยมิได้ปล่อยให้บุคคลใดเข้ามาใช้บริเวณสพานปลาของจำเลยโดยพละการ จำเลยที่ ๒ ได้ประกาศประกวดราคาผูกขาดการขายน้ำแข็งในบริเวณสพานปลาและแจ้งให้โจทก์กับพวกทราบด้วยว่า ถ้าโจทก์กับพวกประมูลไม่ได้ จำเลยก็จะกั้นรั้วระหว่างที่ดินของโจทก์กับสพานปลาเพื่อรักษาผลประโยชน์ของผู้ที่ประมูลได้ โจทก์ทราบแล้วมิได้ทักท้วงโต้แย้งผลที่สุดนายวิรัชประมูลได้ จำเลยจึงทำรั้วขึ้นตามที่ตกลงไว้กับนายวิรัช มิได้เจตนาจะแกล้งหรือละเมิดต่อโจทก์ รั้วนั้นมิได้กั้นแสงสว่างทางลมอย่างใด โจทก์ไม่เสียหายและตัดฟ้องว่า บริเวณสพานปลาเป็นที่ธรณีสงฆ์ ไม่อาจตกอยู่ในภาระจำยอม สิทธิครอบครองหรือสิทธิอื่นใดทั้งสิ้น
คู่ความแถลงรับกันในรายงานพิจารณาบางประการและศาลชั้นต้นเดินเผชิญสืบตรวจดูสภาพที่พิพาทแล้วสั่งงดสืบพยาน และเห็นว่า คดีทั้งสามสำนวนนี้มีประเด็น ๒ ข้อ คือ (๑) โจทก์ได้ภารจำยอมเหนือสพานท่าปลาซึ่งเป็นของวัดโพธิ์งามหรือไม่ และ (๒) การที่จำเลยสร้างรั่วปิดกั้นเช่นนี้ จะเป็นการละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ผลที่สุดศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่ได้ภารจำยอม และการกระทำของจำเลยไม่เป็นการละเมิด พิพากษายกฟ้องโจทก์ทุกสำนวน ซึ่งศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาพิพากษายืน
ข้อวินิจฉัยของศาลฎีกามีว่า ที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ได้ใช้ที่ดินสพานปลามากกว่า ๔๐ ปี เพื่อประโยชน์ค้าน้ำแข็ง และใช้เข้าออกสำหรับประโยชน์อื่นด้วย เจ้าของที่ดินสพานปลาจึงต้องยอมรับกรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๘๗ นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า อสังหาริมทรัพย์อาจต้องตกอยู่ในภารจำยอมอันเป็นเหตุให้เจ้าของต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของคน ก็เพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่นเท่านั้น เมื่อเช่นนี้ โจทก์จึงอ้างเอาการค้าขายหรือค้าน้ำแข็งมาใช้ในกรณีนี้มิได้ ส่วนข้อที่ว่า ใช้เข้าออกเพื่อระโยชน์อื่น ศาลฎีกาเห็นว่า ตามฟ้องของโจทก์กล่าวถึงประโยชน์อื่นไว้ในลักษณะเคลือบคลุมไม่แจ้งชัดว่า ประโยชน์ใด โจทก์จะนำสืบมิได้ เพราะไม่แสดงชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๑๗๒ วรรค ๒
ศาลฎีกาเห็นว่า ผู้ที่จะต้องรับภารจำยอม คือ เจ้าของทรัพย์ แต่จำเลยเป็นเพียงผู้เช่าเท่านั้น และเมื่อปรากฏว่าวัดเป็นเจ้าของที่ดินแน่นอนเช่นนี้ จำเลยผู้เช่าก็ไม่มีหน้าที่ที่จะเรียกวัดเข้ามาเป็นจำเลย ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่าที่ธรณีสงฆ์จะตกอยู่ในภารจำยอมได้หรือไม่
เรื่องแสงสว่างทางลม ศาลชั้นต้นได้บันทึกไว้แล้ว ศาลไม่จำเป็นต้องสืบพยาน ถึงความสุขสบายของโจทก์ตั้งแต่ครั้งที่จำเลยยังไม่ได้กั้นรั้วและศาลยังไม่ไปเดินเผชิญสืบเพราะประเด็นที่ได้โต้เถียงกันในคดีนี้ เกี่ยวกับสุขภาพอนามัยของโจทก์ภายหลังการกั้นรั้วของจำเลยหรือเพราะเหตุที่กั้นรั้วนั้น ว่าโจทก์ยังสุขสบายตามสมควรหรือไม่