คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7009/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามสัญญาจะซื้อจะขายไม่มีข้อความว่าจำเลยต้องจัดการให้ผู้เช่าขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินภายใน 2 เดือน นับแต่วันที่1 กันยายน 2533 การที่โจทก์อ้างและนำสืบว่าจำเลยทั้งสองผิดสัญญา เพราะไม่จัดการให้ผู้เช่าออกไปจากที่ดินพิพาท จึงเป็นการนำสืบพยานบุคคลเพิ่มเติมตัดทอนหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารสัญญาจะซื้อจะขาย ซึ่งโจทก์และจำเลยทั้งสองตกลงทำสัญญาเป็นหนังสือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรคสองการนำสืบพยานบุคคลเพิ่มเติมตัดทอนหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารเช่นนี้ จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข)ไม่อาจรับฟังตามที่โจทก์นำสืบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณเดือนสิงหาคม 2533จำเลยทั้งสองตกลงจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 206935 เลขที่ดิน 2560เนื้อที่ 167 ตารางวา แก่โจทก์ในราคา 1,670,000 บาทโดยจำเลยทั้งสองให้คำมั่นสัญญาว่าจะจัดการให้ผู้อยู่อาศัยในที่ดินออกไปจากที่ดิน พร้อมกับขนย้ายสิ่งของออกไปก่อนวันโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์โดยปราศจากภาระผูกพัน โจทก์ชำระเงินในวันทำสัญญา 500,000 บาทส่วนที่เหลือชำระภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2533 อันเป็นวันโอนกรรมสิทธิ์ โจทก์หลงเชื่อจึงได้ตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับจำเลยทั้งสอง เมื่อถึงกำหนดชำระเงินค่าที่ดินงวดสุดท้ายพร้อมโอนกรรมสิทธิ์ จำเลยทั้งสองไม่สามารถจัดการให้ผู้อยู่อาศัยในที่ดินออกไปจามที่ตกลงกันโจทก์บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยทั้งสองแล้วจำเลยทั้งสองไม่ชำระเงินคืน ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน532,054.79 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองไม่เคยให้คำมั่นสัญญาว่าจะจัดการให้ผู้เช่าซึ่งอาศัยในที่ดินออกไปพร้อมกับขนย้ายสิ่งของออกจากที่ดินก่อนจะมีการโอนกรรมสิทธิ์โจทก์นำความเท็จนอกเหนือสัญญามาฟ้องเพื่อเรียกเงินมัดจำคืนทั้งก่อนถึงวันโอนกรรมสิทธิ์ตามสัญญาโจทก์แจ้งว่ามีปัญหาเรื่องเงินขอเลื่อนการจดทะเบียนออกไป 15 วันจำเลยทั้งสองตกลงโดยกำชับว่า หากภายใน 15 วันไม่ไปทำการโอนและชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลือจำเลยทั้งสองจะริบเงินมัดจำและถือว่าสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเลิกกันเมื่อครบกำหนดโจทก์แจ้งว่าหาเงินไม่ทันให้จำเลยทั้งสองขายที่ดินให้บุคคลอื่นและขอเงินมัดจำคืนบางส่วน จำเลยทั้งสองไม่ยินยอมและบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยทั้งสองจึงมีสิทธิริบเงินมัดจำได้ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าโจทก์ตกลงทำสัญญาจะซื้อที่ดินพิพาท โฉนดเลขที่ 206935เลขที่ดิน 2560 เนื้อที่ 167 ตารางวา ตำบลประเวศอำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร จากจำเลยทั้งสอง ราคา 1,670,000 บาท โจทก์ชำระเงินมัดจำแล้ว500,000 บาท ส่วนที่เหลือจะชำระภายในวันที่31 ตุลาคม 2533 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญาหรือไม่โจทก์เบิกความว่า เมื่อเดือนสิงหาคม 2533จำเลยทั้งสองตกลงจะขายที่ดินพิพาทแก่โจทก์ในราคา1,670,000 บาท โจทก์ไปดูที่ดินก็พบว่ามีนายชาลี ทวีผลเช่าอยู่ สอบถามจำเลยทั้งสองแล้วจำเลยทั้งสองรับว่าจะจัดการให้ผู้เช่าออกไปจากที่ดินพิพาทภายใน 2 เดือน นับแต่วันที่ 1 กันยายน 2533 ต่อมาถึงวันนัดทำสัญญาจะซื้อขายที่พิพาทกันโจทก์เป็นฝ่ายร่างสัญญาจะซื้อจะขาย โดยมีข้อความว่าจำเลยทั้งสองต้องจัดการให้ผู้เช่าขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดิน แต่จำเลยทั้งสองไม่ยอมลงลายมือชื่อในสัญญาดังกล่าวโดยบอกว่า จะจัดการให้ผู้เช่าออกไปแต่ขออย่าได้ระบุข้อความดังกล่าวไว้ในสัญญา โจทก์เชื่อคำรับรองของจำเลยทั้งสองและได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายระหว่างโจทก์กับจำเลยตามเอกสารหมาย จ.6 และโจทก์ได้จ่ายเงินมัดจำด้วยดราฟต์ จำนวนเงิน 500,000 บาทแก่จำเลยทั้งสอง เมื่อพิเคราะห์ตามสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวเห็นได้ว่าไม่มีข้อความว่า จำเลยทั้งสองต้องจัดการให้ผู้เช่าขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินภายใน2 เดือน นับแต่วันที่ 1 กันยายน 2533 แต่อย่างใด ดังนั้นการที่โจทก์อ้างและนำสืบว่า จำเลยทั้งสองผิดสัญญาเพราะไม่จัดการให้ผู้เช่าออกไปจากที่ดินพิพาท จึงเป็นการนำสืบพยานบุคคลเพิ่มเติมตัดทอนหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารสัญญาจะซื้อจะขาย ซึ่งโจทก์และจำเลยทั้งสองตกลงทำสัญญาเป็นหนังสือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรคสองโดยมิใช่เป็นเพียงหลักฐานรับเงินและจ่ายเงินดังที่โจทก์อ้าง การนำสืบพยานบุคคลเพิ่มเติมตัดทอนหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารเช่นนี้จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข) ไม่อาจรับฟังตามที่โจทก์นำสืบว่า จำเลยทั้งสองมีหน้าที่จัดการให้ผู้เช่าซึ่งอยู่ในที่พิพาทออกไปแต่อย่างใด เมื่อจำเลยทั้งสองไม่มีหน้าที่ดังกล่าวแม้จะฟังว่า ยังมีผู้เช่าอยู่ในที่ดินพิพาทก็ไม่ทำให้จำเลยทั้งสองผิดสัญญาต่อโจทก์ โจทก์จึงไม่อาจบอกเลิกสัญญาและเรียกเงินมัดจำคืนจากจำเลยทั้งสอง
พิพากษายืน

Share