แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลจำเลยได้จัดตั้งขึ้นเป็นนิติบุคคลโดยพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. 2517 วัตถุประสงค์ของจำเลยไม่ใช่การบริหารราชการแผ่นดิน มีคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลทำหน้าที่ควบคุมดูแลกิจการและวางนโยบายของจำเลยแยกต่างหากจากการบริหารราชการแผ่นดิน จำเลยจึงมิใช่ส่วนราชการที่เป็นราชการส่วนกลางตามที่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 218 ระบุไว้ ไม่เข้าข่ายยกเว้นใช้บังคับประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน
โจทก์ซึ่งออกจากงานเพราะเหตุเกษียณอายุ มีสิทธิที่จะได้รับทั้งเงินบำเหน็จและค่าชดเชย คณะกรรมการของจำเลยให้โจทก์ขอรับเงินได้ประเภทเดียว เป็นการปฏิเสธจ่ายเงินอีกประเภทหนึ่ง โจทก์ขอรับเงินบำเหน็จจึงหาใช่เป็นการสละสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยไม่
ย่อยาว
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี สำหรับโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 9 ที่ 15 คิดเพียง 3 ปี ที่ 4 ที่ 6 ที่ 7 คิดเพียง 1 ปี ที่ 8 ที่ 10 ที่ 18 ที่ 19 ที่ 20 คิดเพียง 5 ปี ที่ 11 คิดเพียง 4 ปี ที่ 14 ที่ 17 คิดเพียง 2 ปี กับดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่กล่าว ยกฟ้องโจทก์ที่ 3 ที่ 5 ที่ 12 ที่ 21 โจทก์ที่ 3 ที่ 5 ที่ 12 ที่ 21 และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “จำเลยอุทธรณ์เป็นประการแรกว่า กิจการของจำเลยเป็นราชการส่วนกลาง เข้าข่ายยกเว้นไม่ให้ใช้บังคับตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานพิเคราะห์แล้ว ราชการส่วนกลางตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 1(1) หมายถึงราชการส่วนกลางตามที่กำหนดไว้ในประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 218 ลงวันที่ 29 กันยายน 2515 ข้อ 5 คือ สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงทบวง และกรมหรือส่วนราชการอื่นที่มีฐานะเป็นกรม ส่วนจำเลยได้จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินเแบ่งรัฐบาล พ.ศ. 2517 มีวัตถุประสงค์ตามมาตรา 65 ได้แก่ออกสลากกินแบ่งรัฐบาล จัดการโรงพิมพ์ และทำกิจการอื่นที่เกี่ยวเนื่องหรือที่เป็นประโยชน์แก่การดำเนินกิจการของจำเลย มาตรา 6 บัญญัติให้จำเลยมีฐานะเป็นนิติบุคคล มาตรา 11 และมาตรา 13 ให้มีคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลทำหน้าที่ควบคุมดูแลกิจการและวางนโยบายของจำเลย เห็นได้ว่าจำเลยมิใช่ส่วนราชการที่เป็นราชการส่วนกลางตามที่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 218 ระบุไว้ และวัตถุประสงค์ของจำเลยไม่ใช่การบริหารราชการแผ่นดิน ทั้งยังมีคณะกรรมการทำหน้าที่บริหารกิจการแยกต่างหากจากการบริหารราชการแผ่นดินของสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง ทบวง กรมหรือส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกรม จำเลยจึงหาใช่ราชการส่วนกลางไม่ แม้ตามพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. 2517 มาตรา 29 บัญญัติว่า จำเลยต้องเสนองบประมาณค่าใช้จ่ายงบลงทุนต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ และเสนองบประมาณค่าใช้จ่ายงบทำการต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ มาตรา 10 บัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีอำนาจหน้าที่กำกับโดยทั่วไปเกี่ยวกับสำนักงานของจำเลยและมาตรา 32 บัญญัติให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้สอบบัญชีของจำเลย ก็เป็นเรื่องการควบคุมของรัฐบาลในฐานะที่เป็นเจ้าของกิจการของจำเลยไม่ใช่สารสำคัญที่จะทำให้จำเลยเป็นราชการส่วนกลาง กิจการของจำเลยจึงไม่เข้าข่ายข้อยกเว้นใช้บังคับประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ตามที่ระบุไว้ในข้อ 1(1) แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับดังกล่าว” ฯลฯ ตามมาตรา 5 ได้แก่สลากกินแบ่งรัฐบาล จัดการโรงพิมพ์ และทำกิจการอื่นเกี่ยวเนื่องหรือเป็นประโยชน์แก่การดำเนินกิจการของจำเลย มาตรา 6 บัญญัติให้จำเลยมีฐานะเป็นนิติบุคคล มาตรา 11 และมาตรา 13 ให้มีคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลทำหน้าที่ควบคุมดูแลกิจการและวางนโยบายของจำเลย เห็นได้ว่าจำเลยมิใช่ส่วนราชการที่เป็นราชการส่วนกลางตามที่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 218 ระบุไว้ และวัตถุประสงค์ของจำเลยไม่ใช่การบริหารราชการแผ่นดิน ทั้งยังมีคณะกรรมการทำหน้าที่บริหารกิจการแยกต่างหากจากการบริหารราชการแผ่นดินของสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง ทบวง กรมหรือส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกรม จำเลยจึงหาใช่ราชการส่วนกลางไม่ แม้ตามพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. 2517 มาตรา 29 บัญญัติว่า จำเลยต้องเสนองบประมาณค่าใช้จ่ายงบลงทุนต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ และเสนองบประมาณค่าใช้จ่ายงบทำการต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ มาตรา 10 บัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีอำนาจหน้าที่กำกับโดยทั่วไปเกี่ยวกับสำนักงานของจำเลยและมาตรา 32 บัญญัติให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้สอบบัญชีของจำเลยก็เป็นเรื่องการควบคุมของรัฐบาลในฐานะที่เป็นเจ้าของกิจการของจำเลย ไม่ใช่สารสำคัญที่จะทำให้จำเลยเป็นราชการส่วนกลาง กิจการของจำเลยจึงไม่เข้าข่ายข้อยกเว้นใช้บังคับประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ตามที่ระบุไว้ในข้อ 1(1) แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย ฉบับดังกล่าว” ฯลฯ
“จำเลยอุทธรณ์ต่อไปว่า คณะกรรมการของจำเลยประชุมกันครั้งที่ 13/2519 ลงวันที่ 21 ธันวาคม 2519 อนุมัติให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จหรือจ่ายค่าชดเชยในการออกจากงานโดยไม่มีความผิดแทนการขอรับเงินบำเหน็จ เมื่อโจทก์ได้เลือกเอาวิธีรับเงินบำเหน็จแทนการรับค่าชดเชย จึงถือว่าโจทก์สละสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยแล้วนั้นเห็นว่าสิทธิของโจทก์เป็นสิทธิที่จะได้รับทั้งเงินบำเหน็จและค่าชดเชย คณะกรรมการของจำเลยให้โจทก์ขอรับเงินได้ประเภทเดียว เป็นการปฏิเสธจ่ายเงินอีกประเภทหนึ่งโจทก์ขอรับเงินบำเหน็จจึงหาใช่เป็นการสละสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยไม่
จำเลยอุทธรณ์ต่อไปว่า โจทก์ไม่เคยเรียกร้องทวงถามค่าชดเชยจำเลยยังไม่ผิดนัด จึงไม่ต้องเสียดอกเบี้ย พิเคราะห์แล้ว ค่าชดเชยเป็นเงินที่นายจ้างต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 2 ประกอบด้วย ข้อ 46 เมื่อไม่จ่ายย่อมถือว่าผิดนัดนับแต่วันเลิกจ้าง โดยมิพักต้องเรียกร้องหรือทวงถาม ค่าชดเชยเป็นหนี้เงิน เมื่อผิดนัดก็ต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ผู้เป็นลูกจ้าง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 224 ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันเลิกจ้าง และที่จำเลยอ้างอีกว่าโจทก์บางคนเรียกดอกเบี้ยเมื่อเกินระยะเวลา 5 ปีแล้ว ย่อมขาดอายุความ โจทก์ดังกล่าวไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 166 นั้น เห็นว่า วันค้างชำระดอกเบี้ยแต่ละงวดไม่ตรงกัน บทบัญญัติมาตรา 166 หมายความว่าดอกเบี้ยงวดที่ค้างชำระเกินกว่า 5 ปีแล้วเท่านั้นที่ขาดอายุความ ส่วนงวดที่ค้างชำระไม่เกิน 5 ปีหาขาดอายุความด้วยไม่ การที่โจทก์บางคนฟ้องเรียกดอกเบี้ยเกินกว่า 5 ปี จึงไม่สิ้นสิทธิที่จะได้รับดอกเบี้ยที่ค้างชำระยังไม่เกิน 5 ปีไปด้วยศาลแรงงานกลางพิพากษาให้โจทก์ดังกล่าวได้รับดอกเบี้ยคิดเพียง 5 ปี จึงไม่ขัดกับมาตรา 166 ที่จำเลยอ้าง
จำเลยอุทธรณ์เป็นการสุดท้ายว่า อายุความฟ้องเรียกค่าชดเชยมีกำหนด 2 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อพ้นกำหนดดังกล่าวแล้ว คดีจึงขาดอายุความ พิเคราะห์แล้วค่าชดเชยเป็นเงินที่นายจ้างต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้างโดยบทบัญญัติของกฎหมาย ไม่ใช่เงินประเภทหนึ่งประเภทใดที่จำแนกไว้ในมาตรา 165 การฟ้องเรียกค่าชดเชยไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้เป็นอย่างอื่น จึงต้องใช้อายุความ 10 ปีตามหลักทั่วไปในมาตรา 164 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โจทก์ฟ้องคดีนี้ภายในกำหนดดังกล่าว จึงหาขาดอายุความไม่ อุทธรณ์จำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น อุทธรณ์โจทก์ที่ 3 ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 36,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องย้อนหลังไป 5 ปี และดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 5 ที่ 12 ที่ 21 เสีย”