แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การที่เจ้าของที่ดินเดิมและจำเลยยอมให้ที่ดินเฉพาะส่วนที่เป็นทางพิพาทในที่ดินของจำเลยให้ประชาชนใช้สัญจรไปมาเป็นเวลาช้านานหลายสิบปี มีการวางท่อประปา เดินสายไฟฟ้าที่ไหล่ทาง มีการสร้างซ่อมสะพานข้ามคู คลอง โดยใช้เงินของทางราชการในทางที่ต่อจากทางพิพาทเพื่อให้ประชาชนได้ใช้สอย ถือไม่ได้ว่าเป็นการใช้ทางเดินโดยวิสาสะ แต่แสดงให้เห็นว่าเจ้าของที่ดินเดิมได้อุทิศที่ดินส่วนที่เป็นทางพิพาทให้เป็นทางสาธารณะโดยปริยาย อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304(2) เจ้าของที่ดินเดิมหาจำต้องแสดงเจตนาโดยชัดแจ้งว่าเป็นการยกให้ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 12818ตำบลบางด้วน อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการซึ่งมีทางสาธารณะกว้างประมาณ 2 ถึง 3 เมตร ตัดผ่านเชื่อมไปสู่ทางสาธารณะ สำหรับราษฎรใช้เป็นทางสัญจรไปมากว่าสี่สิบปีแล้วนายสำนวน เภตราไชยอนันต์ เจ้าของที่ดินคนเดิม ได้ทำหนังสือยกที่ดินของตนส่วนที่ทางสาธารณะตัดผ่านให้แก่ทางราชการอำเภอเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2518 เป็นทางสาธารณะกว้าง 2.50 เมตรยาวผ่านตลอดที่ดินเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2529 จำเลยได้ปักเสาตีไม้เคร่าและนำสังกะสีปิดกั้นทางสาธารณะ ขอให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปิดกั้นทางสาธารณะออกไป เพื่อให้โจทก์และราษฎรทั่วไปใช้สัญจรเข้าออกได้ตามปกติ เป็นทางกว้าง 2.50 เมตร ยาวตั้งแต่เชิงสะพานไม้ผ่านที่ดินของจำเลยไปออกสู่ทางสาธารณะสายวัดบางด้วนนอกและห้ามมิให้จำเลยและบริวารขัดขวางการใช้ทางต่อไป
จำเลยให้การ ทางพิพาทจึงมิใช่ทางสาธารณะ แต่เป็นทางเดินแคบ ๆ ที่เจ้าของที่ดินเดิม ๆ เคยอนุญาตให้คนทั่วไปเดินผ่านได้เนื่องจากเป็นที่ว่างเปล่ามิได้ทำประโยชน์ ทางสาธารณะจะต้องไม่ใช่ทางที่ตัดผ่านเข้าไปในที่ดินมีโฉนดของเอกชน แม้ว่าราษฎรใช้เดินมาช้านานสี่สิบกว่าปีก็ไม่อาจตกเป็นทางสาธารณะได้ทางที่ผ่านที่ดินมีโฉนดจะเป็นทางสาธารณะได้ เจ้าของต้องยกหรืออุทิศให้เป็นทางสาธารณะ หากราษฎรขออนุญาตจากเจ้าของที่ดินหรือถือวิสาสะใช้ทาง แม้จะนานกว่าสี่สิบปีก็ไม่อาจตกเป็นทางสาธารณะได้ ทางพิพาทนี้เดิมเป็นของคนเดินบนคันดินท้องร่องสวนกว้าง80 เซนติเมตร เวลาน้ำขึ้นจะท่วมคันดินทางเดินราษฎรเพิ่งเอาลูกรังและหินมาถมทางพิพาทเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2528 ซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษา ก่อนปิดกั้นจำเลยได้ทำทางเดินให้ราษฎรใช้สัญจรแทนทางพิพาทแล้ว ราษฎรมิได้เดือดร้อน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ทางพิพาทกว้าง 1.50 เมตร ยาวตั้งแต่สะพานข้ามคลองบางด้วน ผ่านที่ดินโฉนดเลขที่ 12818 ตำบลบางด้วนอำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ ไปจนถึงทางสาธารณะสายวัดบางด้วนนอกตามภาพถ่ายหมาย จ.1 ภาพที่ 1เป็นทางสาธารณะประโยชน์ ห้ามจำเลยปิดกั้นหรือขัดขวางการที่ประชาชนจะใช้ทางสาธารณะอีกต่อไป
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติในเบื้องต้นตามที่คู่ความไม่โต้เถียงกันว่า ทางพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของทางเดินซึ่งเดิมเป็นค้นดินบนร่องสวนเริ่มจากแยกถนนซอยสายวัดบางด้วนนอกมุ่งไปทางทิศตะวันตกไปออกวัดบางนางเกรง มีความยาวประมาณ2 กิโลเมตร ผ่านหมู่ที่ 2 ที่ 3 และที่ 6 ตำบลบางด้วนอำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ บางตอนผ่านคู คลอง ลำประโดง ซึ่งมีสะพานข้ามประชาชนในหมู่บ้านดังกล่าวรวมทั้งโจทก์ตลอดจนประชาชนทั่วไปใช้สัญจรไปมาเป็นเวลาช้านานหลายสิบปี เมื่อปี 2528 จำเลยซื้อที่ดินซึ่งมีทางพิพาทตัดผ่านมาจากนางปิ่น นาคจู โดยในโฉนดที่ดินไม่ปรากฏว่ามีทางสาธารณะครั้นวันที่ 5 ธันวาคม 2528 วันเฉลิมพระชนมพรรษาชาวบ้านช่วยกันบูรณะทางพิพาทโดยนำหินมาโรย นำขอนมะพร้าวมากั้นที่ขอบทางมีสภาพตามภาพถ่ายหมาย จ.1 ภาพที่ 1 ต่อมาวันที่ 7มกราคม 2529 จำเลยปิดกั้นทางพิพาท แต่ได้ทำทางอยู่ริมที่ดินของจำเลยเพื่อให้ประชาชนใช้แทน ปัญหาในชั้นฎีกามีว่า ทางพิพาทเป็นทางสาธารณะหรือไม่และมีความกว้างเท่าใด สำหรับปัญหาแรกจำเลยฎีกาว่าทางพิพาทไม่ใช่ทางสาธารณะจะเป็นทางสาธารณะได้นั้นเจ้าของที่ดินจะต้องยกให้ มิใช่ชาวบ้านใช้เดินโดยถือวิสาสะจะทำให้ทางเดินเป็นทางสาธารณะไปได้ เห็นว่า การที่นางปิ่นเจ้าของที่ดินเดิมและจำเลยยอมให้ที่ดินเฉพาะส่วนที่เป็นทางพิพาทในที่ดินของจำเลยให้ประชาชนใช้สัญจรไปมาเป็นเวลาช้านานหลายสิบปีมีการวางท่อประปา เดินสายไฟฟ้าที่ไหล่ทาง มีการสร้างซ่อมสะพานข้ามคู คลอง โดยใช้เงินของทางราชการ ในทางที่ต่อจากทางพิพาทเพื่อให้ประชาชนได้ใช้สอย ถือไม่ได้ว่าเป็นการใช้ทางเดินโดยวิสาสะแต่กลับแสดงให้เห็นว่าเจ้าของที่ดินเดิมได้อุทิศที่ดิน ส่วนที่เป็นทางพิพาทให้เป็นทางสาธารณะโดยปริยาย อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304(2) ก่อนที่ดินแปลงนี้จะตกมาเป็นของจำเลย กรณีเช่นนี้เจ้าของที่ดินหาจำต้องแสดงเจตนาโดยชัดแจ้งว่าเป็นการยกให้ไม่ ฉะนั้น บันทึกการยกที่ดินตามเอกสารหมาย ล.3 ว่ามีการปลอมข้อความบางส่วนที่เกี่ยวกับทางพิพาทตามที่จำเลยฎีกาจึงไม่จำต้องวินิจฉัย เพราะหากวินิจฉัยไปก็ไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไปได้ การที่จำเลยซื้อที่ดินรวมทั้งทางพิพาทซึ่งเจ้าของเดิมได้อุทิศให้เป็นทางสาธารณะแล้ว แม้ทางพิพาทอยู่ในเขตโฉนดที่ดินที่จำเลยซื้อมา จำเลยก็ไม่มีสิทธิที่จะยึดถือเอาทางพิพาทเป็นของตนและปิดกั้นได้ สำหรับปัญหาที่ว่าทางพิพาทมีความกว้างเท่าใด จำเลยฎีกาว่าทางพิพาทเป็นทางเดินมีความกว้างไม่เกิน80 เซนติเมตรนั้น เห็นว่า แม้สภาพทางพิพาทตามภาพถ่ายหมาย จ.1ภาพที่ 2 จะมีการเอาหินมาโรย นำขอนมะพร้าวมากั้นริมทาง ซึ่งจำเลยอ้างว่าเพิ่งมีการกระทำดังกล่าวในวันที่ 5 ธันวาคม 2528ก็ตาม แต่ตามภาพถ่ายที่ 1 หมายดังกล่าวและจากการเดินเผชิญสืบของศาลชั้นต้นได้ความว่า สุดทางพิพาทด้านทิศตะวันตกมีสะพานไม้เก่าพื้นสะพานปูด้วยแผ่นไม้แบบลูกระนาด มีความกว้าง 1.50 เมตร เท่ากับทางพิพาท และจากการนำสืบของโจทก์และภาพถ่ายหมาย ล.1ซึ่งเป็นพยานของจำเลย ปรากฏว่ามีคนใช้รถจักรยานยนต์ในทางที่จำเลยสร้างขึ้นใหม่เพื่อใช้แทนทางพิพาท ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่า ทางพิพาทนอกจากประชาชนใช้เดินแล้วยังได้ใช้รถจักรยานยนต์และรถจักรยานสองล้อด้วย โดยสภาพของการใช้ทางดังกล่าวจะต้องมีความกว้างพอให้รถจักรยานยนต์หรือรถจักรยานยนต์สองล้อผ่านไปได้ดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยต้องกันมาว่าทางพิพาทเป็นทางสาธารณะมีความกว้าง 1.50 เมตร ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน