คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10978/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์หรือรับของโจรฐานใดฐานหนึ่ง เมื่อปรากฏว่าศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยฐานรับของโจร ต้องถือว่าศาลได้พิพากษาลงโทษจำเลยเต็มตามความประสงค์ของโจทก์แล้ว โจทก์ย่อมไม่อาจฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ เพื่อให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์ได้อีก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 93, 335, 357 ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาอุปกรณ์รถยนต์แทรกเตอร์ที่หายไปเป็นเงิน 55,000 บาท แก่ผู้เสียหาย และเพิ่มโทษจำเลยตามกฎหมาย
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 จำคุก 3 ปี เพิ่มโทษจำเลยกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 93 เป็นจำคุก 4 ปี 6 เดือน ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาอุปกรณ์รถยนต์แทรกเตอร์ที่หายไปเป็นเงิน 55,000 บาท แก่ผู้เสียหาย ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคแรก จำคุก 3 ปี ยกคำขอให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาอุปกรณ์รถยนต์แทรกเตอร์ที่หายไป เป็นเงิน 55,000 บาท แก่ผู้เสียหาย กับคำขอให้เพิ่มโทษ และยกฟ้องข้อหาลักทรัพย์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุดังฟ้อง มีคนร้ายลักรถยนต์แทรกเตอร์ หมายเลขทะเบียน ต – 2191 พิจิตร ของนายวิทยา ผู้เสียหาย ต่อมาวันที่ 20 พฤษภาคม 2547 เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยได้พร้อมรถยนต์แทรกเตอร์ของผู้เสียหายอยู่ในความครอบครองของจำเลยยึดไว้เป็นของกลาง ตามบัญชีของกลางคดีอาญา คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า จำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษฐานลักทรัพย์หรือรับของโจรฐานใดฐานหนึ่ง เมื่อปรากฏว่าศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาลงโทษจำเลยฐานรับของโจร ต้องถือว่าศาลได้พิพากษาลงโทษจำเลยเต็มตามความประสงค์ของโจทก์แล้ว โจทก์ร่วมไม่อาจฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 เพื่อให้ลงโทษจำเลยเป็นอย่างอื่นได้อีก ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการต่อไปว่า เพิ่มโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 93 ได้หรือไม่ เห็นว่า ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 6 มีพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 มาตรา 4 ที่บัญญัติให้ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ต้องโทษในกรณีความผิดต่างๆ ซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 และได้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับโดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้น ๆ ดังนั้น เมื่อความผิดที่โจทก์อาศัยเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษ จำเลยได้ต้องโทษและพ้นโทษแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ จำเลยย่อมได้รับประโยชน์ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงเพิ่มโทษจำเลยไม่ได้ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการสุดท้ายว่า จำเลยต้องคืนหรือใช้ราคาอุปกรณ์รถยนต์แทรกเตอร์ที่หายไปเป็นเงิน 55,000 บาท แก่ผู้เสียหายหรือไม่ เห็นว่า ตามทางนำสืบของโจทก์ฟังได้ว่า เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยได้พร้อมรถยนต์แทรกเตอร์ของผู้เสียหายอยู่ในความครอบครองของจำเลย แต่ผาลดันหน้าและผาลท้ายซึ่งเป็นอุปกรณ์รถยนต์แทรกเตอร์ของผู้เสียหายหายไป นั้น ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงในคดีว่าจำเลยเป็นผู้ทำให้รถยนต์แทรกเตอร์ของผู้เสียหายตกอยู่ในสภาพไม่สมบูรณ์ โดยถอดผาลดันหน้าและผาลท้ายซึ่งเป็นอุปกรณ์รถยนต์แทรกเตอร์ออกไป การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ยกคำขอให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาอุปกรณ์รถยนต์แทรกเตอร์ที่หายไปเป็นเงิน 55,000 บาท แก่ผู้เสียหาย นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ก็ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share