แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยฐานร่วมกันกรรโชกและฐานร่วมกันบุกรุก เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท แต่ละบทระวางโทษเท่ากันให้ลงโทษฐานร่วมกันกรรโชกจำคุก 5 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยกระทำความผิดฐานร่วมกันกรรโชก ให้จำคุก 3 ปี 4 เดือน และให้ยกฟ้องโจทก์ฐานร่วมกันบุกรุก ดังนี้ในความผิดฐานร่วมกันกรรโชกศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เฉพาะโทษอันเป็นการแก้ไขเล็กน้อย เมื่อศาลอุทธรณ์ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 5 ปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 83, 91, 337, 362, 365 (2) และให้จำเลยคืนเงินจำนวน 8,100,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายสุนัยผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 337 วรรคแรก, 365 (2) ประกอบ 362, 83 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ตาม ป.อ. มาตรา 90 แต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานร่วมกันกรรโชก จำคุก 5 ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 8,100,000 บาท แก่โจทก์ร่วม คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 337 วรรคแรก, 83 ให้จำคุก 5 ปี ข้อนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตาม ป.อ. มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี 4 เดือน ให้ยกฟ้องข้อหาบุกรุก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกาโดยยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดฐานร่วมกันกรรโชกและฐานร่วมกันบุกรุก เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท แต่ละบทระวางโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานร่วมกันกรรโชก จำคุก 5 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยกระทำความผิดฐานร่วมกันกรรโชก ให้จำคุก 3 ปี 4 เดือน และให้ยกฟ้องโจทก์ฐานร่วมกันบุกรุก ดังนี้ ในความผิดฐานร่วมกันกรรโชกศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เฉพาะโทษอันเป็นการแก้ไขเล็กน้อย เมื่อศาลอุทธรณ์ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 5 ปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยเข้าในบ้านของโจทก์ร่วมโดยไม่มีทีท่าข่มขู่โจทก์ร่วมนั้น เป็นการโต้แย้งดุลพินิจการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงย่อมต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว
พิพากษายกคำสั่งรับฎีกาของศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นส่งคำร้องขออนุญาตฎีกาไปให้ผู้พิพากษาตามที่จำเลยระบุในคำร้องพิจารณาสั่ง แล้วดำเนินการต่อไป.