คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6973/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นรวมพิจารณาพิพากษาคดีทั้งสองสำนวนเข้าด้วยกัน โดยโจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์เฉพาะสำนวนคดีแรกที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เป็นจำเลยเท่านั้น มิได้ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 4 เป็นจำเลยด้วย แม้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาคดีทั้งสองรวมกันก็ไม่ก่อให้เกิดสิทธิในการเป็นโจทก์ร่วมในคดีที่จำเลยที่ 4 เป็นจำเลย อันมีผลเท่ากับว่าโจทก์ร่วมมิได้เป็นคู่ความในคดีที่จำเลยที่ 4 เป็นจำเลย โจทก์ร่วมจึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์และฎีกาคดีในส่วนของจำเลยที่ 4 คดีในส่วนของจำเลยที่ 4 ต้องฟังยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แม้ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมในส่วนของจำเลยที่ 4 ด้วย ก็เป็นการไม่ชอบ ไม่ก่อให้เกิดสิทธิในการฎีกาแก่โจทก์ร่วม ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่า โจทก์ เรียกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ตามลำดับ และเรียกจำเลยในสำนวนหลังว่า จำเลยที่ 4
โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองสำนวนและแก้ฟ้องเป็นใจความว่า ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335, 357, 83 และให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันคืนทองแดงแผ่น 26,634 กิโลกรัม หรือใช้ราคาเป็นเงิน 6,577,356.03 บาท แก่ผู้เสียหาย
ระหว่างพิจารณา บริษัทล้านช้าง มิเนโรล จำกัด ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในสำนวนคดีแรก ศาลชั้นต้นอนุญาต จำเลยที่ 1 หลบหนี ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีชั่วคราว
จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคสอง จำคุก 3 ปี คำให้การชั้นสอบสวนและทางนำสืบของจำเลยที่ 2 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี และให้จำเลยที่ 2 คืนทองแดงแผ่น 26,634 กิโลกรัม หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาเป็นเงิน 6,577,356.03 บาท แก่โจทก์ร่วม ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 และที่ 4
โจทก์ร่วมและจำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 จำคุกคนละ 1 ปี 6 เดือน คำให้การชั้นสอบสวนและทางนำสืบของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 1 ปี ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันคืนทองแดงแผ่นที่ยังไม่ได้คืนหรือใช้ราคาเป็นเงิน 6,577,356.03 บาท แก่โจทก์ร่วม ข้อหาอื่นให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ร่วมและจำเลยที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังยุติโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งในชั้นนี้ว่า บริษัทล้านช้าง มิเนโรล จำกัด โจทก์ร่วม ว่าจ้างบริษัทมามนุท (ประเทศไทย) จำกัด ขนส่งทองแดงแผ่นจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเข้ามาในประเทศไทย โดยมีบริษัทวังปู จำกัด เป็นผู้รับขนส่งช่วง เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2549 บริษัทวังปู จำกัด นำรถบรรทุกหัวลากและรถกึ่งพ่วง 11 คัน บรรทุกทองแดงแผ่นของโจทก์ร่วมที่ผลิตในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวผ่านชายแดนที่จังหวัดมุกดาหารไปยังท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี วันรุ่งขึ้น รถบรรทุกหัวลากและรถกึ่งพ่วงแล่นมาถึงท่าเรือแหลมฉบังเพียง 10 คัน รถบรรทุกหัวลาก หมายเลขทะเบียน 70 – 4209 ระยอง และรถกึ่งพ่วง หมายเลขทะเบียน 70 – 4138 ระยอง ซึ่งบรรทุกทองแดงแผ่น 26,634 กิโลกรัม ราคา 6,577,356.03 บาท ของโจทก์ร่วม มีนายทินรัตน์ เป็นผู้ขับ ขาดการติดต่อระหว่างการขนส่งบริเวณสถานีบริการน้ำมันพีที อำเภอเริงนกทา จังหวัดยโสธร โดยในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง มีคนร้ายลักทองแดงแผ่นนั้นไป วันเดียวกันเวลาประมาณ 19 นาฬิกา นายทินรัตน์นำทองแดงแผ่นของโจทก์ร่วมที่ถูกลักไปไว้ที่ร้านธงชัยค้าของเก่าของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นสามีภริยากัน ต่อมาวันที่ 18 ธันวาคม 2549 ร้านธงชัยค้าของเก่าขายทองแดงแผ่นดังกล่าวให้แก่บริษัทต. รัตนโกสินทร์ (ต. ศรีเจริญรีไซเคิล) จำกัด ซึ่งมีจำเลยที่ 4 เป็นกรรมการผู้จัดการ ในราคากิโลกรัมละ 220 บาท เป็นเงิน 5,850,000 บาท แล้วจำเลยที่ 4 ขายทองแดงแผ่นต่อให้พ่อค้าที่สาธารณรัฐประชาชนจีนจำนวน 20 ตันเศษ และร้านเทพาอุดมสินจำนวน 5 ตันเศษ หลังจากนั้นร้านเทพาอุดมสินขายต่อให้พ่อค้าที่เขตบริหารพิเศษฮ่องกง สาธารณรัฐประชาชนจีนอีกต่อหนึ่ง โดยระหว่างนี้บริษัทวังปู จำกัด และโจทก์ร่วมต่างไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนกองปราบปราม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต่อมาพนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานแล้วยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายจับจำเลยที่ 1 และนายทินรัตน์ ครั้นวันที่ 9 มกราคม 2550 เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยที่ 1 ได้ วันรุ่งขึ้น พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายจับจำเลยที่ 2 และที่ 3 แล้วเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ในวันนั้น พนักงานสอบสวนสอบปากคำจำเลยที่ 2 และที่ 3 รวมทั้งนายป้อ นายสุวรรรณ นายศึกษา และนายประสาน ลูกจ้างของร้านธงชัยค้าของเก่า แล้วได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายจับจำเลยที่ 4 ครั้นวันที่ 30 มกราคม 2550 เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยที่ 4 ได้ สำหรับคดีในส่วนของจำเลยที่ 4 ที่โจทก์ร่วมฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 4 ตามฟ้องนั้น เห็นว่า โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์เฉพาะสำนวนคดีแรกที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เป็นจำเลย เท่านั้น มิได้ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 4 เป็นจำเลยด้วย แม้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาคดีทั้งสองสำนวนนี้รวมกันก็หาก่อให้เกิดสิทธิในการเป็นโจทก์ร่วมในคดีที่จำเลยที่ 4 เป็นจำเลยด้วยไม่ อันมีผลเท่ากับว่าโจทก์ร่วมมิได้เป็นคู่ความในคดีที่จำเลยที่ 4 เป็นจำเลย โจทก์ร่วมจึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์และฎีกาในส่วนของจำเลยที่ 4 คดีในส่วนของจำเลยที่ 4 จึงต้องฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แม้ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมในส่วนของจำเลยที่ 4 ด้วย ก็เป็นการไม่ชอบ หาก่อให้เกิดสิทธิในการฎีกาแก่โจทก์ร่วมไม่ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ร่วม ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่วินิจฉัยในส่วนของจำเลยที่ 4 และยกฎีกาของโจทก์ร่วมในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 4 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share