แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ใบตราส่งที่จำเลยที่ 2 ออกให้แก่ผู้ซื้อทั้งห้าราย จำเลยที่ 2 ตั้งข้อสงวนเกี่ยวกับน้ำหนักของสินค้าตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 23 ไว้มีข้อความเป็นภาษาอังกฤษว่า SAID TO WEIGH และระบุน้ำหนักของสินค้าที่ผู้ซื้อทั้งห้าราย สั่งซื้อตรงกับที่ระบุไว้ในใบกำกับสินค้าของผู้ซื้อแต่ละรายอันแสดงว่าจำเลยที่ 2 ได้รับแจ้งจากบริษัท น. ผู้ส่งสินค้าถึงน้ำหนักของสินค้าของผู้ซื้อแต่ละรายที่บรรทุกลงในระวางเรือบรรทุกสินค้า ซึ่งโดยผลของมาตรา 25 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว โจทก์มีภาระการพิสูจน์ว่าผู้ส่งสินค้าได้ส่งมอบสินค้าให้แก่จำเลยที่ 2 ตามจำนวนน้ำหนักที่แจ้งให้จำเลยที่ 2 ระบุไว้ในใบตราส่งดังกล่าว เมื่อผู้ส่งสินค้าได้แสดงใบรับรองน้ำหนักของสินค้าโดยบริษัท ธ. ซึ่งทำการตรวจสอบน้ำหนักของสินค้าของผู้ซื้อแต่ละรายด้วยเครื่องชั่งก่อนที่จะนำสินค้าบรรทุกสินค้าพร้อมออกใบรับรองไว้ โดยฝ่ายจำเลยทั้งสี่มิได้นำสืบหักล้างเอกสารดังกล่าว คงมีแต่พยานจำเลยที่ 3 มาเบิกความลอยๆ เป็นเพียงความเห็นและการสันนิษฐานเท่านั้น ย่อมไม่มีน้ำหนักรับฟังหักล้างใบรับรองน้ำหนักของสินค้าดังกล่าวได้
สำหรับค่าใช้จ่ายในการค้นหาสินค้าขาดจำนวน เมื่อความรับผิดของผู้ขนส่งสินค้าทางทะเลในความเสียหายของสินค้าที่ตนรับขนส่งต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 39 วรรคหนึ่ง ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวย่อมไม่รวมถึงค่าใช้จ่ายในการค้นหาสาเหตุที่สินค้าสูญหายด้วย เพราะเป็นค่าเสียหายของโจทก์ซึ่งเกิดขึ้นจากสัญญาประกันภัยระหว่างโจทก์กับผู้เอาประกันภัยแต่ละรายไม่เกี่ยวกับผู้ขนส่ง จำเลยที่ 2 ผู้ขนส่งจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ให้แก่โจทก์
แม้ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ผู้ประกอบกิจการรับขนสินค้าระหว่างประเทศและเป็นเจ้าของเรือบรรทุกสินค้า ได้ร่วมกับจำเลยที่ 2 ทำสัญญารับขนส่งสินค้ากับผู้ขายหรือผู้ส่งสินค้าหรือร่วมกับจำเลยที่ 2 ออกใบตราส่ง แต่การที่จำเลยที่ 1 นำเรือของตนมารับขนส่งสินค้าโดยมิได้นำสืบพยานหลักฐานว่าไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 เพราะเหตุใดเนื่องจากขาดนัดยื่นคำให้การ คงมีเพียงรายการสำแดงทั่วไปของเรือระบุว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของเรือบรรทุกสินค้ามีจำเลยที่ 3 เป็นตัวแทนเจ้าของเรือ โดยมิได้ระบุชื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้เช่าเรือหรือเป็นผู้ดำเนินการ อันถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 เช่าเรือบรรทุกสินค้าจากจำเลยที่ 1 และเป็นการเช่าประเภทเสมือนผู้เช่าเป็นเจ้าของเรือ (Chatrer Party by Demise) ที่เจ้าของเรือได้โอนการครอบครองและการควบคุมตลอดจนอำนาจสั่งการให้แก่จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้ขนส่งสินค้าพิพาท
ย่อยาว
คดีทั้งหกสำนวนนี้ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งให้พิจารณาพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งหกสำนวนว่า โจทก์ และเรียกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ทั้งหกสำนวนว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ตามลำดับ
โจทก์ทั้งหกสำนวนฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 12,014,763.19 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 11,803,212.32 บาท นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทั้งหกสำนวนขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 3 ทั้งหกสำนวนให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 ทั้งหกสำนวนให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งหกสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังว่า บริษัทส.ไทยเจริญพรพาณิชย์ จำกัด บริษัทอาร์ทีอะโกร จำกัด บริษัทเอสพีเอ็ม อาหารสัตว์ จำกัด บริษัทบี.เอ็น.ที.เทรดดิ้ง จำกัด และบริษัทวี.ซี.เอ.เอฟ. กรุ๊ป จำกัด ได้สั่งซื้อกากถั่วเหลืองจากบริษัทโนเบิล รีซอร์สเซส เอสเอ ผู้ขาย ในประเทศอาร์เจนตินา รวมจำนวน 14,772 เมตริกตัน 3,336 เมตริกตัน 2,859 เมตริกตัน 477 เมตริกตัน และ 6,672 เมตริกตัน โดยเงื่อนไขการซื้อขายในราคาซีเอฟอาร์ ไลเนอร์ เอาท์ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย บรรทุกสินค้าแบบเทกอง และผู้ซื้อทั้ง 5 ราย ได้ตกลงทำสัญญาประกันภัยเพื่อความสูญหายหรือเสียหายของสินค้าในระหว่างการขนส่งตั้งแต่ท่าเรือเมืองซานลอเรนโซ ประเทศอาร์เจนตินา จนถึงโรงงานของผู้เอาประกันภัย ผู้ขายได้บรรทุกกากถั่วเหลืองของผู้ซื้อทั้ง 5 ราย ในระวางเรือกลอเรียส เมเปิ้ล รวมกับสินค้ากากถั่วเหลืองของผู้ซื้อรายอื่นในประเทศไทย โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ขนส่ง ทั้งนี้จำเลยที่ 2 ได้เช่าเรือกลอเรียส เมเปิ้ล ของจำเลยที่ 1 มาใช้บรรทุกสินค้าและจำเลยที่ 2 ได้ออกใบตราส่งให้แก่ผู้ซื้อทั้ง 5 ราย เรือกลอเรียส เมเปิ้ล ออกเดินทางจากท่าเรือเมืองซานลอเรนโซ ประเทศอาร์เจนตินา ถึงท่าเรือเกาะสีชังและได้มีการขนถ่ายสินค้าทั้งหมดลงเรือลำเลียงของจำเลยที่ 4 กับพวก นำไปส่งมอบแก่ผู้เอาประกันภัยทั้ง 5 ราย และผู้ซื้อ ปรากฏว่าบริษัทส.ไทยเจริญพรพาณิชย์ จำกัด ได้รับสินค้าน้ำหนักน้อยกว่าที่ระบุในใบกำกับสินค้า 3 รายการ รวม 490.372 เมตริกตัน บริษัทอาร์ทีอะโกร จำกัด ได้รับสินค้าน้ำหนักน้อยกว่าที่ระบุในใบกำกับสินค้า 94.907 เมตริกตัน บริษัทเอสพีเอ็ม อาหารสัตว์ จำกัด ได้รับสินค้าน้ำหนักน้อยกว่าที่ระบุในใบกำกับสินค้า 94.907 เมตริกตัน บริษัทบี.เอ็น.ที.เทรดดิ้ง จำกัด ได้รับสินค้าน้ำหนักน้อยกว่าที่ระบุไว้ในใบกำกับสินค้า 15.834 เมตริกตัน และบริษัทวี.ซี.เอ.เอฟ. กรุ๊ป จำกัด ได้รับสินค้าน้ำหนักน้อยกว่าที่ระบุไว้ในใบกำกับสินค้า 221.483 เมตริกตัน ตามรายงานการสำรวจของบริษัทดี.เอส. เซอร์เวย์ แอนด์ เซอร์ จำกัด บริษัทควอลิตี้ คาร์โก อินสเปกชั่น จำกัด และบริษัทตรวจสอบสินค้าสากล จำกัด ผู้เอาประกันภัยทั้ง 5 ราย เรียกร้องให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายของสินค้าที่ขาดจำนวน โจทก์ได้พิจารณาความเสียหายของสินค้าขาดจำนวน โดยหักความเสียหาย ส่วนแรกที่ผู้เอาประกันภัยทั้ง 5 ราย ต้องรับผิดตามสัญญาประกันภัยแล้วได้ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยทั้ง 5 ราย ดังนี้ จำนวน 3,025,527.49 บาท 834,306.06 บาท และ 3,025,527.49 บาท ให้แก่บริษัทส.ไทยเจริญพรพาณิชย์ จำกัด จำนวน 374,303.26 บาท ให้แก่บริษัทอาร์ทีอะโกร จำกัด จำนวน 1,223,005.79 บาท ให้แก่บริษัทเอสพีเอ็ม อาหารสัตว์ จำกัด จำนวน 194,063.23 บาท ให้แก่บริษัทบี.เอ็น.ที.เทรดดิ้ง จำกัด และจำนวน 3,021,936.48 บาท ให้แก่บริษัทวี.ซี.เอ.เอฟ. กรุ๊ป จำกัด ตามลำดับ
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกว่า สินค้ากากถั่วเหลืองของผู้ซื้อทั้ง 5 ราย ที่เอาประกันภัยไว้กับโจทก์สูญหายไประหว่างการขนส่งของจำเลยที่ 2 อันจะทำให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า ใบตราส่งที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้ออกให้แก่ผู้ซื้อทั้ง 5 ราย จำเลยที่ 2 ได้ตั้งข้อสงวนเกี่ยวกับน้ำหนักของสินค้าตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 23 ไว้ มีข้อความเป็นภาษาอังกฤษว่า SAID TO WEIGH และระบุน้ำหนักของสินค้าที่ผู้ซื้อทั้ง 5 ราย ได้สั่งซื้อตรงกับที่ระบุไว้ในใบกำกับสินค้าของผู้ซื้อแต่ละราย อันแสดงว่า จำเลยที่ 2 ได้รับแจ้งจากบริษัทโนเบิล อาร์เจนตินา เอสเอ ผู้ส่งสินค้าถึงน้ำหนักของสินค้าของผู้ซื้อแต่ละรายที่บรรทุกลงในระวางเรือกลอเรียส เมเปิ้ล เมื่อผู้ส่งสินค้าได้แสดงใบรับรองน้ำหนักของสินค้าโดยบริษัทธิออนวิลล์ เซอร์เวยิ่ง จำกัด ซึ่งทำการตรวจสอบน้ำหนักของสินค้าของผู้ซื้อแต่ละรายด้วยเครื่องชั่งก่อนที่จะนำสินค้าบรรทุกลงเรือกลอเรียส เมเปิ้ล และออกใบรับรองไว้โดยฝ่ายจำเลยทั้งสี่มิได้นำสืบหักล้างเอกสารดังกล่าว คงมีแต่พยานจำเลยที่ 3 เบิกความลอย ๆ ว่า เป็นเพียงความเห็นและการสันนิษฐานย่อมไม่มีน้ำหนักรับฟังหักล้างใบรับรองน้ำหนักของสินค้าได้ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า สินค้าของผู้ซื้อทุกรายที่ผู้ขนส่งบรรทุกลงเรือกลอเรียส เมเปิ้ล มายังประเทศไทย มีน้ำหนักตามที่ระบุไว้ในใบตราส่ง เมื่อผู้ซื้อทั้ง 5 ราย ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยได้รับสินค้ามีน้ำหนักไม่ครบตามจำนวนที่ระบุไว้ในใบตราส่งโดยบริษัทส.ไทยเจริญพรพาณิชย์ จำกัด ขาดจำนวนรวม 490.372 เมตริกตัน บริษัทอาร์ทีอะโกร จำกัด ขาดจำนวน 94.907 เมตริกตัน บริษัทเอสพีเอ็ม อาหารสัตว์ จำกัด ขาดจำนวน 94.907 เมตริกตัน บริษัทบี.เอ็น.ที. เทรดดิ้ง จำกัด ขาดจำนวน 15.834 เมตริกตัน และบริษัทวี.ซี.เอ.เอฟ. กรุ๊ป จำกัด ขาดจำนวน 221.483 เมตริกตัน ต้องถือว่าสินค้าได้สูญหายไปในระหว่างการขนส่งก่อนที่ผู้ซื้อจะได้รับสินค้า และการขนส่งสินค้าจากผู้ขายไปจนถึงมือผู้ซื้อเป็นการขนส่งระยะแรก โดยเรือเดินทะเลกลอเรียส เมเปิ้ล จากท่าเรือเมืองซานลอเรนโซ ประเทศอาร์เจนตินา ถึงเกาะสีชัง ประเทศไทย เป็นการขนส่งโดยจำเลยที่ 2 และจากท่าเรือเกาะสีชังเป็นการขนส่งโดยเรือลำเลียงจนถึงมือผู้ซื้อ สินค้าทั้งหมดขณะบรรทุกลงเรือกลอเรียส เมเปิ้ล มีน้ำหนัก 38,123 เมตริกตัน แต่เมื่อผู้ซื้อทุกรายได้รับสินค้าแล้วมีน้ำหนักรวมทั้งสิ้น 36,857.470 เมตริกตัน แสดงว่าสินค้ามีน้ำหนักขาดหายไปในระหว่างการขนส่งทั้งสองช่วงการขนส่งและขณะขนถ่ายสินค้าออกจากระวางเรือกลอเรียส เมเปิ้ล ลงบรรทุกในเรือลำเลียงไม่มีการชั่งน้ำหนักของสินค้า คงใช้การคำนวณน้ำหนักโดยประมาณการตามขนาดรับน้ำหนักบรรทุกของเรือลำเลียงแต่ละลำ ซึ่งแตกต่างกันโดยใช้เรือลำเลียงทั้งสิ้น 24 ลำ ขนสินค้าจากเรือกลอเรียส เมเปิ้ล ทั้งหมด 26 เที่ยว เมื่อสินค้าถูกส่งถึงมือผู้ซื้อทั้งหมดมีการชั่งน้ำหนักของสินค้าที่ได้รับจากเรือลำเลียงแต่ละลำโดยเครื่องชั่ง ปรากฏว่าส่วนใหญ่มีน้ำหนักคลาดเคลื่อนจากน้ำหนักสินค้าที่ประมาณการไว้ขณะบรรทุกลงเรือลำเลียงแต่ละลำและหลายเที่ยวก็มีน้ำหนักมากกว่าที่ประมาณการไว้ ตามรายงานการสำรวจลำเลียงสินค้าของบริษัทตรวจสอบสินค้าสากล จำกัด ปรากฏว่าเรือลำเลียง เอส.พี. 46 ที่นำสินค้าไปขึ้นที่ท่า พี.เอช.ดี. มีน้ำหนักมากกว่าน้ำหนักสินค้าที่ประมาณการไว้ถึง 245.180 เมตริกตัน ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นความคลาดเคลื่อนของน้ำหนักที่ตามปกติอาจเกิดขึ้นได้โดยเฉพาะเป็นน้ำหนักของสินค้าที่เพิ่มมากขึ้น แต่ถ้าหากเป็นการขาดหายไปของน้ำหนักของสินค้าเกินกว่าจำนวนน้ำหนักย่อมถือได้ว่าเป็นการขาดหายไปของสินค้าที่ผิดปกติ ซึ่งปรากฏจากรายงานการสำรวจสินค้า เรือลำเลียงสมุทรทรานสปอร์ท 15 ที่นำสินค้าไปขึ้นที่ท่าเรือมิตรผล ระบุน้ำหนักสินค้าที่ประมาณการไว้ขณะขนถ่ายจากเรือกลอเรียส เมเปิ้ล จำนวน 1,242.190 เมตริกตัน เมื่อส่งมอบแก่ผู้ซื้อ ชั่งน้ำหนักของสินค้าได้เพียง 505.850 เมตริกตัน น้ำหนักขาดหายไปถึง 736.340 เมตริกตัน และเรือลำเลียงวรนาวินขนส่ง 45 น้ำหนักสินค้าที่ประมาณการไว้ขณะขนถ่ายจากเรือกลอเรียส เมเปิ้ล จำนวน 1,000 เมตริกตัน แต่เมื่อส่งมอบแก่ผู้ซื้อชั่งน้ำหนักของสินค้าได้จำนวน 564.140 เมตริกตัน น้ำหนักสินค้าขาดหายไปถึง 435.860 เมตริกตัน น่าจะไม่ใช่เป็นการคลาดเคลื่อนของน้ำหนักของสินค้าตามปกติ แต่น่าจะเป็นเรื่องของสินค้ามีการสูญหายระหว่างการขนส่งของเรือลำเลียง ซึ่งไม่อาจถือได้ว่าเป็นความสูญหายในระหว่างการขนส่งของจำเลยที่ 2 จึงต้องนำไปหักออกจากจำนวนน้ำหนักของสินค้าที่ขาดหายไปทั้งหมด 1,265.530 เมตริกตัน คงเหลือน้ำหนักของสินค้าที่ขาดหายไปจากน้ำหนักของสินค้าที่บรรทุกลงเรือกลอเรียส เมเปิ้ล เพียง 93.330 เมตริกตัน ที่อาจสูญหายไปขณะสินค้าอยู่ในระหว่างการขนส่งของจำเลยที่ 2 เมื่อนำมาเฉลี่ยตามสัดส่วนของน้ำหนักสินค้าของผู้ซื้อทั้ง 5 ราย ที่ขาดหายไปทั้งหมดที่ได้คำนวณไว้ตั้งแต่แรก ฟังได้ว่าสินค้าที่สูญหายไปในระหว่างการขนส่งของจำเลยที่ 2 ของบริษัทส.ไทยเจริญพรพาณิชย์ จำกัด 3 รายการ มีน้ำหนักจำนวน 15.739 เมตริกตัน 4.663 เมตริกตัน และ 15.739 เมตริกตัน บริษัทอาร์ทีอะโกร จำกัด มีน้ำหนัก 6.995 เมตริกตัน บริษัทเอสพีเอ็ม อาหารสัตว์ จำกัด มีน้ำหนัก 6.995 เมตริกตัน บริษัทบี.เอ็น.ที. เทรดดิ้ง จำกัด มีน้ำหนัก 1.167 เมตริกตัน และบริษัทวี.ซี.เอ.เอฟ. กรุ๊ป จำกัด มีน้ำหนัก 16.323 เมตริกตัน จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ขนส่งสินค้าในช่วงการขนส่ง จึงต้องรับผิดในความสูญหายของสินค้า เมื่อพิจารณาสัญญาประกันภัยที่ผู้ซื้อทั้ง 5 ราย ทำไว้กับโจทก์ ตามกรมธรรม์ประกันภัยแล้ว โจทก์กำหนดเงื่อนไขไม่คุ้มครองความเสียหายของสินค้าในส่วนแรกดังนี้ บริษัทส.ไทยเจริญพรพาณิชย์ จำกัด ร้อยละ 0.425 เท่ากับ 0.067 เมตริกตัน 0.02 เมตริกตัน และ 0.067 เมตริกตัน ตามลำดับ บริษัทอาร์ทีอะโกร จำกัด ร้อยละ 0.25 เท่ากับ 0.018 เมตริกตัน บริษัทเอสพีเอ็ม อาหารสัตว์ จำกัด ร้อยละ 0.45 เท่ากับ 0.032 เมตริกตัน บริษัทบี.เอ็น.ที. เทรดดิ้ง จำกัด ร้อยละ 0.6 เท่ากับ 0.007 เมตริกตัน และบริษัทวี.ซี.เอ.เอฟ. กรุ๊ป จำกัด ร้อยละ 0.45 เท่ากับ 0.074 เมตริกตัน เมื่อนำไปหักออกจากสินค้าที่สูญหายไปของผู้ซื้อแต่ละรายแล้ว พบว่าบริษัทส.ไทยเจริญพรพาณิชย์ จำกัด สูญหาย 15.672 เมตริกตัน 4.643 เมตริกตัน และ 15.672 เมตริกตัน ตามลำดับ บริษัทอาร์ทีอะโกร จำกัด สูญหาย 6.977 เมตริกตัน บริษัทเอสพีเอ็ม อาหารสัตว์ จำกัด สูญหาย 6.963 เมตริกตัน บริษัท บี.เอ็น.ที. เทรดดิ้ง จำกัด สูญหาย 1.16 เมตริกตัน และบริษัทวี.ซี.เอ.เอฟ. กรุ๊ป จำกัด สูญหาย 16.249 เมตริกตัน เมื่อคำนวณเป็นความเสียหายตามราคาสินค้าที่คู่สัญญาตกลงซื้อขายกัน บริษัทส.ไทยเจริญพรพาณิชย์ จำกัด ได้รับความเสียหายเป็นเงิน 6,837.85 ดอลลาร์สหรัฐ 1,894.72 ดอลลาร์สหรัฐ และ 6,837.85 ดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ บริษัทอาร์ทีอะโกร จำกัด ได้รับความเสียหายเป็นเงิน 3,057.67 ดอลลาร์สหรัฐ บริษัทเอสพีเอ็ม อาหารสัตว์ จำกัด ได้รับความเสียหายเป็นเงิน 3,040.74 ดอลลาร์สหรัฐ บริษัทบี.เอ็น.ที. เทรดดิ้ง จำกัด ได้รับความเสียหายเป็นเงิน 508.37 ดอลลาร์สหรัฐ และบริษัทวี.ซี.เอ.เอฟ. กรุ๊ป จำกัด ได้รับความเสียหายเป็นเงิน 7,522.80 ดอลลาร์สหรัฐ ความเสียหายที่แต่ละบริษัทได้รับดังกล่าว คำนวณเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งกำหนดไว้ 31.17 บาท ต่อหนึ่งดอลลาร์สหรัฐ แล้ว ความเสียหายที่ผู้เอาประกันภัยทั้ง 5 ราย ได้รับมีดังนี้ บริษัทส.ไทยเจริญพรพาณิชย์ จำกัด จำนวน 213,135.78 บาท 59,058.42 บาท และ 213,135.78 บาท ตามลำดับ รวม 485,329.98 บาท บริษัทอาร์ทีอะโกร จำกัด จำนวน 95,307.57 บาท บริษัทเอสพีเอ็ม อาหารสัตว์ จำกัด จำนวน 94,779.87 บาท บริษัทบี.เอ็น.ที. เทรดดิ้ง จำกัด จำนวน 15,845.89 บาท และบริษัทวี.ซี.เอ.เอฟ. กรุ๊ป จำกัด จำนวน 234,485.68 บาท รวมเป็นความเสียหายของสินค้าที่เกิดขึ้นในระหว่างการขนส่งของจำเลยที่ 2 จำนวน 925,748.99 บาท ซึ่งได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยและความเสียหายแต่ละจำนวนมีราคาไม่เกินกว่าจำนวนที่ผู้ขนส่งจำกัดความรับผิดตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง คือ กิโลกรัมละสามสิบบาทของน้ำหนักสุทธิของสินค้า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ขนส่งย่อมต้องรับผิดชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ โดยไม่จำต้องพิจารณาว่าจำเลยที่ 2 ทำการขนส่งโดยละเลยไม่เอาใจใส่ในความเสียหายของสินค้าหรือไม่
สำหรับค่าใช้จ่ายในการค้นหาสินค้าขาดจำนวนที่โจทก์ขอมาเป็นเงินรวม 102,568.93 บาท นั้น เห็นว่า ความรับผิดของผู้ขนส่งสินค้าทางทะเลในความเสียหายของสินค้าที่ตนรับขนส่งต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 39 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติให้ผู้ขนส่งต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันเป็นผลจากการที่ของซึ่งได้รับมอบจากผู้ส่งของ สูญหาย เสียหาย หรือมีการส่งมอบชักช้า บทบัญญัติดังกล่าวย่อมไม่รวมถึงค่าใช้จ่ายในการค้นหาสาเหตุที่สินค้าสูญหายด้วย เพราะเป็นค่าเสียหายของโจทก์ซึ่งเกิดขึ้นจากสัญญาประกันภัยระหว่างโจทก์กับผู้เอาประกันภัยแต่ละราย ไม่เกี่ยวกับผู้ขนส่งจำเลยที่ 2 ผู้ขนส่งจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ให้แก่โจทก์
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการสุดท้ายว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 2 หรือไม่ คดีนี้โจทก์ฟ้องและนำสืบว่า จำเลยที่ 1 ประกอบกิจการรับขนสินค้าระหว่างประเทศและเป็นเจ้าของเรือกลอเรียส เมเปิ้ล จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 รับขนส่งสินค้าคดีนี้ แม้จะไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 ทำสัญญารับขนส่งสินค้าคดีนี้กับบริษัทโนเบิล รีซอร์สเซส เอสเอ ผู้ขายและผู้ส่งสินค้าคดีนี้ หรือร่วมกับจำเลยที่ 2 ออกใบตราส่ง แต่การที่จำเลยที่ 1 นำเรือของตนมารับขนส่งสินค้าคดีนี้ โดยจำเลยที่ 1 มิได้นำพยานหลักฐานมาสืบว่าจำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 2 เพราะเหตุใด เนื่องจากจำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ คงมีนายสุทธิชัยพนักงานฝ่ายปฏิบัติการของจำเลยที่ 3 พยานของจำเลยที่ 3 เบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นว่า จำเลยที่ 3 เป็นตัวแทนบริษัทโนเบิ้ล ชาร์เตอร์ริ่ง เอส.เอ. จำกัด ในการดำเนินการเกี่ยวกับเรือกลอเรียส เมเปิ้ล โดยการขนส่งสินค้าตามฟ้อง บริษัทโนเบิ้ล ชาร์เตอร์ริ่ง เอส.เอ. จำกัด ได้เช่าเรือกลอเรียส เมเปิ้ล มาจากจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ก็ได้ทำสัญญาเช่าช่วงเรือดังกล่าวประเภทเสมือนผู้เช่าเป็นเจ้าของเรือ (Charter Party by Demise) ซึ่งเจ้าของเรือได้โอนการครอบครองและการควบคุมตลอดจนอำนาจสั่งการให้แก่จำเลยที่ 2 แต่นายสุทธิชัยเบิกความลอย ๆ มิได้มีพยานหลักฐานมาแสดงสนับสนุนข้อเท็จจริง ตามรายการสำแดงทั่วไปของเรือเอกสารระบุว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของเรือกลอเรียส เมเปิ้ล และมีจำเลยที่ 3 เป็นตัวแทนเจ้าของเรือ โดยมิได้ระบุชื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้เช่าเรือหรือเป็นผู้ดำเนินการ จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 เช่าเรือกลอเรียส เมเปิ้ล จากจำเลยที่ 1 เป็นการเช่าประเภทเสมือนผู้เช่าเป็นเจ้าของเรือ (Charter Party by Demise) จึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ไม่ใช่ผู้ขนส่งสินค้าคดีนี้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 ขนส่งสินค้าคดีนี้ จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายของสินค้าให้แก่โจทก์ อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 925,748.99 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 485,329.98 บาท นับแต่วันที่ 21 สิงหาคม 2555 ต้นเงินจำนวน 250,331.57 บาท นับแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2555 ต้นเงินจำนวน 94,779.87 บาท นับแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2555 และต้นเงินจำนวน 95,307.57 บาท นับแต่วันที่ 10 กันยายน 2555 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 60,000 บาท ส่วนค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง