คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2349/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยออกเช็คพิพาทแลกเงินสดไปจากโจทก์ขณะแลกทรัพย์สินในระหว่างกันนั้น ผู้แลกต่างไม่ได้มีหนี้ต่อกันมาก่อน การออกเช็คในกรณีนี้จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงให้แก่โจทก์ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 4 ซึ่งเป็นบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังที่จำเลยออกเช็ค จำเลยจึงพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 ให้จำคุก2 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลย 1 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลย 1 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้วคงจำคุก 15 วันให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 23นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษ แต่ในระหว่างศาลฎีกาพิจารณาคดีได้มีพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะจำเลยกระทำความผิด และโดยที่พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2534 มาตรา 4 บัญญัติว่า “ผู้ใดออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายโดยมีลักษณะหรือมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
(1)…
ฯลฯเมื่อได้มีการยื่นเช็คเพื่อให้ใช้เงินโดยชอบด้วยกฎหมาย ถ้าธนาคารปฏิเสธไม่ใช้เงินตามเช็คนั้น ผู้ออกเช็คมีความผิด…” คดีนี้โจทก์ฟ้อง จำเลยให้การรับสารภาพข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติแล้วว่าจำเลยออกเช็คตามฟ้องแลกเงินสดไปจากโจทก์ปัญหาจึงมีว่าการกระทำของจำเลยเช่นนี้จะเป็นความผิดตามบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังดังกล่าวหรือไม่ เห็นว่าการที่จำเลยออกเช็คแลกเงินสดไปจากโจทก์นั้น ขณะแลกทรัพย์สินในระหว่างกัน ผู้แลกต่างไม่ได้มีหนี้ในส่วนนี้ต่อกันมาก่อน การออกเช็คในกรณีเช่นนี้จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงให้แก่โจทก์การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง แม้การกระทำของจำเลยจะเป็นความผิดดังที่โจทก์กล่าวในฟ้อง จำเลยก็พ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 2 วรรคสอง”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์.

Share