คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 205/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เมื่อปรากฏว่าสวัสดิการที่โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างจัดให้แก่ลูกจ้างในกรณีการตาย นั้น บางกรณีลูกจ้างได้รับประโยชน์สูงกว่าบางกรณีได้รับประโยชน์ต่ำกว่าประโยชน์ทดแทนกรณีตาย ตามพ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. 2533 ดังนี้การจะพิจารณาว่าสวัสดิการของโจทก์ที่จัดให้แก่ลูกจ้างในกรณีการตาย อันมิใช่เนื่องมาจากการทำงานนั้น มีการจ่ายในอัตราสูงกว่าประโยชน์ทดแทนตาม พ.ร.บ.ประกันสังคมฯ หรือไม่ จะต้องพิจารณาจากโครงสร้างอัตราเงินเดือนของลูกจ้างทั้งระบบ มิใช่พิจารณาแต่เพียงส่วนใดส่วนหนึ่ง กรณีนี้เมื่อพิจารณาโครงสร้างอัตราเงินเดือนของลูกจ้างทั้งระบบแล้วสวัสดิการของโจทก์ที่จัดให้แก่ลูกจ้างมีอัตราสูงกว่าประโยชน์ทดแทนตาม พ.ร.บ. ประกันสังคมฯ โจทก์จึงมีสิทธิขอลดส่วนอัตราเงินสมทบสำหรับประโยชน์ทดแทนในกรณีตาย ได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายตามพระราชบัญญัติครูพ.ศ. 2488 โจทก์ได้จัดตั้งองค์การค้าของคุรุสภาขึ้นเพื่อจัดหาผลประโยชน์ จำเลยเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมีอำนาจหน้าที่ในการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ซึ่งประกาศใช้บังคับเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2533 มีผลให้นายจ้างและลูกจ้างที่เข้าหลักเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนดต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมร่วมกับรัฐบาล เพื่อเป็นการประกันและเป็นสวัสดิการในการทำงานของลูกจ้างฝ่ายละร้อยละ 1.5 ของอัตราค่าจ้างของผู้ปรกันตาม โจทก์และลูกจ้างของโจทก์ต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือนโจทก์จัดสวัสดิการในกรณีการตายอันมิใช่เนื่องมาจากการทำงานให้แก่ลูกจ้างก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533ใช้บังคับ ที่มีการจ่ายในอัตราสูงกว่าประโยชน์ทดแทนในกรณีการตายตามพระราชบัญญัติประกันสังคมฯ โจทก์จึงมีสิทธิขอลดส่วนอัตราเงินสมทบในกรณีตายในอัตราร้อยละ 0.06 จากอัตราเงินสมทบร้อยละ 1.5ที่จะต้องจ่ายสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมตามมาตรา 55แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 และประกาศคณะกรรมการประกันสังคม ฉบับลงวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2534 เรื่องหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการลดส่วนอัตราเงินสมทบเกี่ยวกับประโยชน์ทดแทนกรณีตาย แต่จำเลยไม่ยอมลดส่วนอัตราเงินสมทบเกี่ยวกับประโยชน์ทดแทนกรณีตายให้แก่โจทก์ ขอให้ศาลบังคับจำเลยลดส่วนอัตราเงินสมทบในกรณีการตายอันมิใช่เนื่องจากการทำงานอัตราร้อยละ0.06 ให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ระเบียบคุรุสภาว่าด้วยการจ่ายเงินบำเหน็จเงินทำขวัญและเงินช่วยเหลือในการทำศพเจ้าหน้าที่คุรุสภา พ.ศ. 2503หมวด 3 ข้อ 11 มีลักษณะไม่แน่นอน บางกรณีลูกจ้างได้รับผลประโยชน์สูงกว่า บางกรณีได้รับผลประโยชน์ต่ำกว่าประโยชน์ทดแทนตามกฎหมายไม่เป็นมาตรฐานแน่นอนจึงเป็นสวัสดิการที่มีการจ่ายในอัตราไม่สูงกว่าประโยชน์ทดแทนในกรณีตายตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533มาตรา 55 คำสั่งของจำเลยที่ไม่ลดส่วนอัตราเงินสมทบชอบแล้วขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางให้จำเลยมีคำสั่งลดส่วนอัตราเงินสมทบในกรณีตายอันมิใช่เนื่องจากการทำงานอัตราร้อยละ 0.06 ของอัตราค่าจ้างของผู้ประกันตนให้โจทก์และลูกจ้างของโจทก์ โดยให้มีผลบังคับนับแต่วันที่จำเลยมีคำสั่งลดอัตราเงินสมทบในกรณีการตายอันมิใช่เนื่องจากการทำงานเป็นต้นไป
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นที่คู่ความไม่โต้เถียงกันฟังยุติว่า ขณะที่โจทก์ยื่นคำขอลดส่วนอัตราเงินสมทบในเดือนกุมภาพันธ์ 2534 นั้น โจทก์มีลูกจ้างทั้งหมดประมาณ 2,200 คน อัตราค่าจ้างขั้นต่ำสุดของลูกจ้างของโจทก์เดือนละ 2,800 บาท โจทก์มีลูกจ้างที่ได้รับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเดือนละ 2,800 บาท ประมาณ 10 คน และอัตราสูงสุดของค่าจ้างขั้นต่ำรายวันตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน วันละ 90 บาทคงมีปัญหาที่จะวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า โจทก์จัดสวัสดิการในกรณีการตายอันมิใช่เนื่องมาจากการทำงานให้แก่ลูกจ้างของโจทก์มีการจ่ายในอัตราที่สูงกว่าประโยชน์ทดแทนในกรณีตายตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 55 หรือไม่
พิเคราะห์แล้ว กรณีการตายอันมิใช่เนื่องมาจากการทำงานตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 73 นั้น กำหนดให้จ่ายหนึ่งร้อยเท่าของอัตราสูงสุดของค่าจ้างขั้นต่ำรายวันตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานซึ่งเท่ากับ 9,000 บาท(90×100) ส่วนโจทก์มีระเบียบสวัสดิการเกี่ยวกับเรื่องการตายของลูกจ้างคือ ระเบียบคุรุสภาว่าด้วยการจ่ายเงินบำเหน็จ เงินทำขวัญและเงินช่วยเหลือในการทำศพเจ้าหน้าที่คุรุสภา พ.ศ. 2503 ตามเอกสารหมาย จ.7 หมวด 3 ข้อ 11 กำหนดว่า ในกรณีเจ้าหน้าที่คุรุสภาถึงแก่กรรม ให้จ่ายเงินช่วยเหลือในการทำศพตามเกณฑ์ดังนี้ (ก)จ่ายค่าจ้างให้ในเดือนที่ถึงแก่กรรมเต็มเดือน (ข) จ่ายเงินช่วยเหลือให้เท่ากับค่าจ้างเต็มเดือน 2 เดือน กับจ่ายเงินช่วยเหลือค่าทำศพให้อีกรายละ 3,000 บาท ตามมติของการประชุมกรรมการสวัสดิการเจ้าหน้าที่องค์การค้าของครุสภา ครั้งที่ 8/2526-2527 เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2526 ตามเอกสารหมาย จ.8 ซึ่งออกตามระเบียบเกี่ยวกับการจ่ายเงินสวัสดิการต่าง ๆ ขององค์การค้าของคุรุสภา ว่าด้วยการจ่ายเงินสวัสดิการเจ้าหน้าที่องค์การค้าของคุรุสภาช่วยเหลือในการจัดการศพ พ.ศ. 2518 เอกสารหมาย จ.9ซึ่งตามระเบียบและมติของการประชุมกรรมการสวัสดิการดังกล่าวในกรณีลูกจ้างที่ไดัรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเดือนละ 2,800 บาทถึงแก่ความตาย โจทก์จะต้องจ่ายเงินให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับดังนี้ (1)จ่ายค่าจ้างในเดือนที่ถึงแก่ความตายเต็มเดือนตามหมวด 3 ข้อ 11 (ก)2,800 บาท (2) จ่ายเงินช่วยเหลือเท่ากับค่าจ้าง 2 เดือนตามหมวด 3 ข้อ 11 (ข) 5,600 บาท และ (3) จ่ายเงินช่วยเหลือค่าทำศพอีก 3,000 บาท รวมเงินที่โจทก์กจะต้องจ่ายเงินทั้งสิ้น 11,400 บาทซึ่งมีอัตราสูงกว่าประโยชน์ทดแทนกรณีตายตามพระราชบัญญัติประกันสังคมฯ สำหรับการจ่ายเงินตามหมวด 3 ข้อ 11 (ข) และจ่ายเงินช่วยเหลือค่าทำศพ รวมเป็นเงิน 8,600 บาทนั้น ถือได้ว่าเป็นสวัสดิการที่โจทก์จัดให้แก่ลูกจ้าง แต่การจ่ายเงินตามหมวด 3 ข้อ 11(ก) นั้นเป้นทั้งค่าจ้างและสวัสดิการรวมกันอยู่ กล่าวคือ ในเดือนที่ลูกจ้างถึงแก่ความตายนั้น เงินที่โจทก์จ่ายให้ตั้งแต่ต้นเดือนถึงวันที่ลูกจ้างถึงแก่ความตายถือได้ว่าเป็นค่าจ้าง ส่วนเงินที่โจทก์จ่ายให้ตั้งแต่วันที่ลูกจ้างถึงแก่ความตายถึงวันสิ้นเดือนถือได้ว่าเป็นเงินสวัสดิการ ดังนั้นหากลูกจ้างของโจทก์ซึ่งได้รับเงินเดือนขั้นต่ำสุดเดือนละ 2,800 บาท (เท่ากับวันละ 93.33 บาท)ถึงแก่ความตายในช่วงระหว่างวันที่ 1 ถึงวันที่ 25 ของเดือน ลูกจ้างก็จะได้รับเงินสวัสดิการตั้งแต่วันถึงแก่ความตายจนถึงสิ้นเดือนเป็นเงินเกินกว่า 400 บาท เมื่อนำไปรวมกับเงินสวัสดิการที่ได้รับอยู่แล้ว 8,600 บาท ก็จะเป็นเงินเกินกว่า 9,000 บาท ซึ่งมีอัตราสูงกว่าประโยชน์ทดแทนในกรณีตายตามพระราชบัญญัติประกันสังคมฯแต่หากลูกจ้างถึงแก่ความตาย ในช่วงตั้งแต่วันที่ 26 จนถึงสิ้นเดือนลูกจ้างก็จะได้รับเงินสวัสดิการเป็นเงินต่ำกว่า 400 บาท เมื่อนำไปรวมกับเงินสวัสดิการที่ได้รับอยู่แล้ว 8,600 บาท ก็จะเป็นเงินต่ำกว่า 9,000 บาท ซึ่งมีอัตราต่ำกว่าประโยชน์ทดแทนกรณีตายตามพระราชบัญญัติประกันสังคมฯ ดังนั้นสวัสดิการที่โจทก์จัดให้แก่ลูกจ้างในกรณีตายนั้น บางกรณีลูกจ้างได้รับประโยชน์สูงกว่าบางกรณีได้รับประโยชน์ต่ำกว่าประโยชน์ทดแทนกรณีตายตามพระราชบัญญัติประกันสังคมฯ แต่เมื่อพิจารณาโครงสร้างอัตราเงินเดือนของลูกจ้างทั้งระบบตามเอกสารหมาย จ.10 แล้ว เห็นได้ว่าลูกจ้างส่วนใหญ่ประมาณ 2,190 คน ได้รับค่าจ้างเกินกว่า 2,800 บาท ซึ่งจะได้รับสวัสดิการรวมแล้วสูงกว่าประโยชน์ทดแทนในกรณีตายตามพระราชบัญญัติประกันสังคมฯ คงมีลูกจ้างส่วนน้อยประมาณ 10 คน ที่ได้รับค่าจ้างอัตราต่ำสุดเดือนละ 2,800 บาท บางกรณีเท่านั้นที่ได้รับสวัสดิการต่ำกว่าประโยชน์ทดแทนตามพระราชบัญญัติประกันสังคมฯ ศาลฎีกาเห็นว่า การพิจารณาการจัดสวัสดิการของโจทก์ให้แก่ลูกจ้างในกรณีตายนั้น จะต้องพิจารณาโครงสร้างอัตราเงินเดือนของลูกจ้างทั้งระบบมิใช่พิจารณาแต่เพียงส่วนใดส่วนหนึ่ง กรณีนี้เมื่อพิจารณาโครงสร้างอัตราเงินเดือนของลูกจ้างทั้งระบบแล้ว สวัสดิการของโจทก์ที่จัดให้แก่ลูกจ้างในกรณีการตายอันมิใช่เนื่องมาจากการทำงานนั้นมีการจ่ายในอัตราสูงกว่าประโยชน์ทดแทนตามพระราชบัญญัติประกันสังคมฯ โจทก์จึงมีสิทธิขอลดส่วนอัตราเงินสมทบสำหรับประโยชน์ทดแทนในกรณีตายได้ในอัตราร้อยละ 0.06 ศาลแรงงานกลางพิพากษาชอบแล้วอุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share