คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1097/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การขอแก้ไขคำขอรับชำระหนี้มีบัญญัติไว้ในมาตรา 97 แห่งพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ซึ่งบทบัญญัติในมาตราดังกล่าวมิได้กำหนดเวลาในการขอแก้ไขไว้เจ้าหนี้จึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอแก้ไขได้ไม่ว่าระยะเวลาใด ๆ แม้จะได้มีการแบ่งทรัพย์สินครั้งที่สุดแล้วก็ตาม ส่วนการที่ศาลจะอนุญาตให้แก้ไขได้หรือไม่นั้นย่อมขึ้นอยู่กับพฤติการณ์แห่งคดีเป็นราย ๆ ไป

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสองเด็ดขาด ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้คัดค้านแต่ด้วยความพลั้งเผลอผู้ร้องไม่ได้แจ้งทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันแก่ผู้คัดค้านเนื่องจากพนักงานของผู้ร้องซึ่งเป็นผู้พิมพ์สัญญาคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตทรัสต์รีซีท และสัญญาค้ำประกัน ขึ้นอยู่กับฝ่ายต่างประเทศ มิได้พิมพ์รายการที่ดินที่จำนองเป็นประกันไว้ในสัญญาดังกล่าว ส่วนพนักงานของผู้ร้องซึ่งมีหน้าที่ไปจดทะเบียนรับจำนองเป็นพนักงานอีกฝ่ายหนึ่งคือฝ่ายพิธีการและหลักประกันและมิได้แจ้งผลการจดทะเบียนจำนองให้ฝ่ายต่างประเทศทราบ และเมื่อหลักฐานแห่งหนี้ดังกล่าวได้ถูกส่งมายังนิติการ จึงทำให้หลงผิดว่าหนี้ดังกล่าวมิได้มีหลักทรัพย์เป็นประกัน และได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้อย่างเจ้าหนี้ไม่มีประกัน ซึ่งความจริงหนี้ดังกล่าวมีที่ดิน พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 2 จดทะเบียนจำนองเป็นประกันผู้ร้องจึงยื่นคำร้อง ขอแก้ไขข้อความในรายการแห่งคำขอรับชำระหนี้ของผู้ร้องต่อผู้คัดค้านว่า จำเลยที่ 2 ได้จำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันหนี้ตามคำขอรับชำระหนี้ฉบับลงวันที่ 30เมษายน 2530 ในวงเงิน 560,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 17.5ต่อปี และขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 96(3) ต่อไป และขณะเดียวกันก็ได้ยื่นคำร้องอีกฉบับหนึ่งขอให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้จากการขายทอดตลาดทรัพย์ที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญแต่ผู้คัดค้านมีคำสั่งให้ยกคำร้องทั้งสองฉบับของผู้ร้องดังกล่าว ขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องแก้ไขข้อความในรายการแห่งคำขอรับชำระหนี้ได้ และไต่สวนและมีคำสั่งให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญอื่น
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า กรณีของผู้ร้องมิใช่ความพลั้งเผลอทั้งคำขอรับชำระหนี้ของผู้ร้องศาลได้สั่งอนุญาตให้ได้รับชำระหนี้ถึงที่สุดไปแล้วและคดีนี้ได้มีการแบ่งทรัพย์สินครั้งที่สุดและปิดคดีแล้ว ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจมาร้องขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำขอรับชำระหนี้ได้ และสิทธิเหนือทรัพย์สินที่จำนองของผู้ร้องได้ระงับสิ้นไปแล้วตั้งแต่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้โดยไม่แจ้งว่าเป็นเจ้าหนี้มีประกันผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจมาร้องขอรับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้รายอื่นได้ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า เมื่อได้มีการแบ่งทรัพย์สินครั้งที่สุดกันแล้ว แม้จะเป็นการแบ่งครั้งแรกครั้งเดียว ย่อมถือได้ว่าล่วงเลยเวลาที่จะขอแก้ไขข้อความในรายการแห่งคำขอรับชำระหนี้แล้วคดีไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่าเหตุดังกล่าวเกิดจากความพลั้งเผลอของผู้ร้องหรือไม่ ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจร้องขอให้แก้ไขข้อความในรายการแห่งคำขอรับชำระหนี้ เมื่อฟังได้ว่าผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้มีประกัน แต่ยื่นขอรับชำระหนี้โดยไม่แจ้งว่าเป็นเจ้าหนี้มีประกันสิทธิเหนือทรัพย์สินเป็นหลักประกันนั้นย่อมเป็นอันระงับไปจึงมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า อนุญาตให้ผู้ร้องแก้ไขข้อความในรายการแห่งคำขอรับชำระหนี้ได้ตามคำร้อง ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 97 และให้ผู้คัดค้านสอบสวนเกี่ยวกับคำขอรับชำระหนี้จากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญอื่น
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…การขอแก้ไขคำขอรับชำระหนี้ในกรณีเช่นนี้มีบัญญัติไว้ในมาตรา 97 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 ซึ่งบทบัญญัติในมาตราดังกล่าวมิได้กำหนดเวลาในการขอแก้ไขไว้ เจ้าหนี้จึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอแก้ไขได้ไม่ว่าระยะเวลาใด ๆ แม้จะได้มีการแบ่งทรัพย์สินครั้งที่สุดแล้วก็ตาม ส่วนการที่ศาลจะอนุญาตให้แก้ไขได้หรือไม่นั้นย่อมขึ้นอยู่กับพฤติการณ์แห่งคดีเป็นราย ๆ ไป คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่าหลังจากที่ศาลได้สั่งปิดคดีไปแล้ว ผู้ร้องเป็นผู้แจ้งต่อผู้คัดค้านว่าลูกหนี้ที่ 2 ยังมีทรัพย์สินคือโฉนดที่ดินซึ่งลูกหนี้ที่ 2จำนองไว้แก่ผู้ร้องดังกล่าว ผู้คัดค้านจึงรายงานศาลขอให้มีคำสั่งเปิดคดี เห็นว่า การที่ผู้คัดค้านทราบว่าลูกหนี้ยังมีทรัพย์สินเหลืออยู่ที่จะนำมาแบ่งให้เจ้าหนี้ก็โดยผู้ร้องเป็นผู้เสนอข้อเท็จจริงต่อผู้คัดค้าน การทราบถึงทรัพย์สินของลูกหนี้ย่อมเป็นประโยชน์แก่เจ้าหนี้อื่นด้วย พฤติการณ์ของผู้ร้องเช่นนี้ศาลอาจอนุญาตให้แก้ไขคำขอรับชำระหนี้ได้ โดยมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในข้อต่อไปว่า การที่ผู้ร้องขอรับชำระหนี้โดยไม่แจ้งว่าเป็นเจ้าหนี้มีประกันนั้นเกิดขึ้นโดยพลั้งเผลอหรือไม่ เห็นว่า ผู้ร้องเป็นนิติบุคคล การดำเนินงานแบ่งเป็นแผนกต่าง ๆ แม้การดำเนินงานจะต้องสัมพันธ์กันแต่ก็อาจพลั้งเผลอได้ การเป็นเจ้าหนี้มีประกันกับเจ้าหนี้สามัญย่อมได้รับประโยชน์ต่างกันมาก หากไม่ใช่ความพลั้งเผลอก็คงไม่ละเลยยื่นคำขอรับชำระหนี้เข้ามาอย่างเจ้าหนี้สามัญกฎหมายล้มละลายเป็นกฎหมายเชิงพาณิชย์ย่อมรับรู้การดำเนินงานของนิติบุคคลว่าอาจแบ่งแยกเป็นแผนกการต่าง ๆ และเล็งเห็นว่าอาจมีความพลั้งเผลอได้จึงกำหนดให้มีบทบัญญัติดังกล่าวแก้ไขไว้ความเห็นของศาลอุทธรณ์ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแล้ว ฎีกาของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share