แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 มาตรา 4 ที่กำหนดบทนิยามผู้อยู่ในอุปการะว่า “ผู้ที่ได้อยู่ในความอุปการะของผู้ตายตลอดมา โดยจำเป็นต้องมีผู้อุปการะ และความตายของผู้นั้นทำให้ได้รับความเดือดร้อนเพราะขาดอุปการะ” มีความหมายว่า ผู้ที่จะได้รับบำเหน็จตกทอดจะต้องได้รับความช่วยเหลือเกื้อกูลจากผู้ตายตลอดเวลา และความตายของผู้นั้นทำให้ได้รับความเดือดร้อนเพราะขาดอุปการะ
โจทก์พักอาศัยอยู่ที่บ้านของบิดามารดาตั้งแต่เกิดตลอดมาโดยอาศัยรวมอยู่กับพี่คนอื่น ๆ หลังจากบิดามารดาถึงแก่ความตายแล้ว โจทก์ก็คงอยู่ที่บ้านหลังดังกล่าว แม้ต่อมาศาลแพ่งธนบุรีจะมีคำสั่งให้โจทก์เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถและอยู่ในความพิทักษ์ของ พ. ก็เพื่อประโยชน์ในการจัดการทรัพย์สินของโจทก์ ซึ่งมีสิทธิได้รับมรดกของบิดามารดาและเงินฝากของโจทก์ในธนาคารเท่านั้น หามีผลทำให้ พ. เปลี่ยนฐานะเป็นผู้ให้ความอุปการะโจทก์ไม่ นอกจากนี้เมื่อ พ. ถึงแก่ความตาย ช. ซึ่งเป็นข้าราชการบำนาญและเป็นผู้พิทักษ์ของโจทก์ตามคำสั่งศาลแทน พ. กับ ส. ซึ่งพักอาศัยอยู่ด้วยกันและพี่คนอื่น ๆ ก็ยังช่วยกันดูแลให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลโจทก์ตามปกติอยู่เช่นเดิม โจทก์จึงไม่ได้รับความเดือดร้อนเพราะขาดอุปการะ โจทก์จึงมิได้เป็นผู้อยู่ในอุปการะของผู้ตายตามความหมายแห่งพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 มาตรา 4
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบุคคลปัญญาอ่อนมาแต่กำเนิดไม่สามารถจัดการกิจการงานของตนเองได้ มีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ศาลได้มีคำสั่งให้โจทก์เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถและอยู่ในความพิทักษ์ของนางสาวพัชชา เภกานนท์ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2530 และอยู่ในความพิทักษ์ของนางสาวพัชรินทร์ เภกานนท์ เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2539 จำเลยที่ 1 เป็นกระทรวงในรัฐบาล จำเลยที่ 2 เป็นกรมหนึ่งในกระทรวงจำเลยที่ 1 จำเลยทั้งสองมีหน้าที่เกี่ยวกับการจ่ายเงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 จำเลยที่ 1 มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทน ส่วนจำเลยที่ 2 มีอธิบดีกรมบัญชีกลางเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนนางสาวพัชชา เภกานนท์ เป็นข้าราชการสังกัดสำนักงานสถาบันราชภัฏ จังหวัดฉะเชิงเทรา เข้ารับราชการตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2507 จนถึงวันที่ 1 ตุลาคม 2538 ได้พ้นจากราชการเพราะเกษียณอายุ มีเวลาราชการสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญ จำนวน 33 ปี อัตราเงินเดือนเดือนสุดท้ายขั้น 24,170 บาท ได้รับบำนาญเหตุสูงอายุเดือนละ 15,952.20 บาท โจทก์เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับนางสาวพัชชาและเป็นผู้อยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของนางสาวพัชชาในฐานะนางสาวพัชชาเป็นผู้พิทักษ์และเป็นพี่สาวนางสาวพัชชาได้ให้สิ่งจำเป็นอันเป็นปัจจัยสี่ในการดำรงชีวิตแก่โจทก์ตลอดมา ต่อมาเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2539 นางสาวพัชชาได้ถึงแก่ความตายด้วยโรคหัวใจล้มเหลว การถึงแก่ความตายของนางสาวพัชชาทำให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อน ขาดผู้ให้การอุปการะเลี้ยงดู และขาดสิ่งจำเป็นในชีวิตตามปกติของคนเสมือนไร้ความสามารถ โจทก์จึงมีสิทธิได้รับบำเหน็จตกทอดตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 โจทก์ได้แจ้งให้สถาบันราชภัฏขอให้จำเลยที่ 2 จ่ายเงินบำเหน็จตกทอดให้แก่โจทก์แล้ว แต่จำเลยที่ 2 ปฏิเสธ อ้างว่าโจทก์ไม่เข้าข่ายผู้อยู่ในอุปการะและไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จตกทอด โจทก์โดยนางสาวพัชรินทร์ เภกานนท์ ผู้พิทักษ์ของโจทก์จึงมีหนังสือขอให้จำเลยที่ 2 สภาสถาบันราชภัฏและสถาบันราชภัฏพิจารณาทบทวนและจ่ายเงินบำเหน็จตกทอดแก่โจทก์ ตามหนังสือของโจทก์ฉบับลงวันที่ 2 เมษายน 2541 จำเลยที่ 2 พิจารณาแล้วยืนยันตามหลักการเดิม ตามหนังสือของกรมบัญชีกลาง ฉบับลงวันที่ 21 พฤษภาคม 2541 โจทก์เห็นว่าโจทก์เป็นผู้อยู่ในอุปการะของนางสาวพัชชา เมื่อนางสาวพัชชาได้ถึงแก่ความตายโดยไม่มีทายาทใด โจทก์เป็นบุคคลที่จำเลยทั้งสองจะต้องจ่ายเงินบำเหน็จตกทอดให้เป็นจำนวน 30 เท่าของบำนาญรายเดือนที่นางสาวพัชชาได้รับ คิดเป็นเงินจำนวน 478,566 บาท โจทก์ทวงถามแล้ว จำเลยทั้งสองเพิกเฉย การฟ้องคดีนี้โจทก์ได้รับความยินยอมจากนางสาวพัชรินทร์ผู้พิทักษ์แล้ว ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 478,566 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินจำนวน 478,566 บาท นับแต่วันที่ 21 พฤษภาคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า พระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 มาตรา 49 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ 15) พ.ศ.2530 ซึ่งมีผลใช้บังคับในขณะที่นางสาวพัชชาถึงแก่ความตาย บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับ มาตรา 38 ผู้ได้รับบำนาญปกติ…..หรือผู้รับบำนาญพิเศษ เพราะเหตุทุพพลภาพตาย ให้จ่ายเงินเป็นบำเหน็จตกทอดให้แก่บุคคลดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 44 เป็นจำนวนสามสิบเท่าของบำนาญรายเดือนที่ได้รับหรือมีสิทธิได้รับนั้น และให้จ่ายตามส่วนและหลักเกณฑ์ที่กำหนดในมาตรานั้น….” ทั้งนี้มาตรา 44 บัญญัติว่า “บำนาญพิเศษที่บัญญัติในลักษณะนี้ให้จ่ายแก่ทายาทผู้มีสิทธิตามเกณฑ์ดังนี้ (1) บุตร ให้ได้รับสองส่วน ถ้าผู้ตายมีบุตรตั้งแต่สามคนขึ้นไป ให้ได้รับสามส่วน (2) สามีหรือภรรยา ให้ได้รับหนึ่งส่วน (3) บิดามารดา หรือบิดา หรือมารดาที่มีชีวิตอยู่ ให้ได้รับหนึ่งส่วน…..” โดยมาตรา 44 วรรคห้า บัญญัติว่า “ถ้าไม่มีทายาทผู้มีสิทธิได้รับบำนาญพิเศษดังกล่าวทั้ง 3 อนุมาตรา ให้บุคคลซึ่งเจ้ากระทรวงพิจารณาเห็นว่า มีหลักฐานแสดงได้ว่าเป็นผู้อุปการะผู้ตายอยู่ หรือเป็นผู้อยู่ในความอุปการะของผู้ตาย เป็นผู้รับบำนาญพิเศษตามส่วนที่เจ้ากระทรวงจะได้กำหนดให้…” เนื่องจากนางสาวพัชชาไม่มีบุตร ไม่มีสามี ไม่มีบิดามารดา หรือบิดามารดาที่มีชีวิตอยู่ในขณะที่ถึงแก่ความตาย ดังนั้น นางสาวพัชชาจึงไม่มีทายาทผู้มีสิทธิได้รับบำเหน็จตกทอดตามกฎหมายและตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวได้กำหนดความหมายของ “ผู้อยู่ในอุปการะ” ไว้ว่า “หมายความว่า ผู้ที่ได้อยู่ในความอุปการะของผู้ตายตลอดมา โดยจำเป็นต้องมีผู้อุปการะและความตายของผู้นั้น ทำให้ได้รับความเดือดร้อนเพราะขาดความอุปการะ” ในกรณีของโจทก์บิดาและมารดาของโจทก์ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2521 และวันที่ 9 พฤษภาคม 2522 ตามลำดับ โจทก์สามารถดำรงตนอยู่ได้ตลอดมา เพิ่งมีการขอให้ศาลตั้งผู้พิทักษ์เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2530 หลังจากที่มารดาถึงแก่ความตายแล้วถึง 8 ปีเศษ ศาลมีคำสั่งตั้งนางสาวพัชชาเป็นผู้พิทักษ์ของโจทก์ ในระหว่างที่นางสาวพัชชาเป็นผู้พิทักษ์นั้นได้รับราชการอยู่ที่สถาบันราชภัฏฉะเชิงเทราและพักอาศัยอยู่ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ส่วนโจทก์พักอาศัยอยู่ที่บ้านพักในกรุงเทพมหานคร ซึ่งพี่น้องอยู่ร่วมกันและช่วยกันดูแลโจทก์ตลอดมา อีกทั้งโจทก์มีบัญชีเงินฝากของตนเองที่จะเบิกมาใช้จ่ายนางสาวพัชชาผู้พิทักษ์เพียงซื้อของมาฝากและให้เงินใช้จ่ายเป็นครั้งคราว มิได้ให้การอุปการะเป็นส่วนใหญ่ ทั้งมิได้ให้การอุปการะอยู่เป็นประจำ และหลังจากที่นางสาวพัชชาถึงแก่ความตาย ศาลมีคำสั่งตั้งนางสาวพัชรินทร์ เภกานนท์ ข้าราชการบำนาญสังกัดสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินพี่สาวอีกคนหนึ่งเป็นผู้พิทักษ์โจทก์แทน ดังนั้น การถึงแก่ความตายของนางสาวพัชชาจึงมิได้ทำให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนเพราะขาดความอุปการะ โจทก์จึงไม่ใช่ผู้อยู่ในอุปการะตามความหมายในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว เมื่อปรากฏว่านางสาวพัชชาไม่มีทายาทผู้มีสิทธิได้รับบำเหน็จตกทอดและโจทก์ไม่ใช่ผู้อยู่ในอุปการะ สิทธิในบำเหน็จตกทอดของนางสาวพัชชาจึงเป็นอันยุติตามกฎหมายดังกล่าว ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาโจทก์ถึงแก่กรรม นางสาวพัชรินทร์ เภกานนท์ ผู้พิทักษ์ของโจทก์ ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 478,566 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 23,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมของจำเลยทั้งสองในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบและไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์เป็นบุตรของนายชิตและนางบุญเรือน เภกานนท์ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 7 คน โจทก์ซึ่งเป็นบุตรคนสุดท้องเป็นบุคคลปัญญาอ่อนมาตั้งแต่กำเนิด ต้องอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของบิดามารดามาโดยตลอด จนกระทั่งบิดามารดาถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2521 และวันที่ 9 พฤษภาคม 2522 ตามลำดับ ต่อมาวันที่ 15 ธันวาคม 2530 ศาลแพ่งธนบุรีมีคำสั่งให้โจทก์เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถและให้อยู่ในความพิทักษ์ของนางสาวพัชชา เภกานนท์ พี่สาว ตามคำสั่งของศาลแพ่งธนบุรี เอกสารหมาย จ.3 นางสาวพัชชารับราชการสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ต่อมาย้ายไปประจำอยู่ที่วิทยาลัยครูฉะเชิงเทรา ซึ่งภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็นสถาบันราชภัฏฉะเชิงเทรา นางสาวพัชชาเกษียณอายุราชการได้รับบำนาญเหตุสูงอายุรายเดือน เดือนละ 15,952.20 บาท ต่อมาวันที่ 14 เมษายน 2539 นางสาวพัชชาถึงแก่ความตาย ตามสำเนาใบมรณบัตร เอกสารหมาย จ.7 นางสาวพัชรินทร์ เภกานนท์ พี่สาวโจทก์อีกคนหนึ่งได้ขอเบิกบำเหน็จตกทอดให้แก่โจทก์ในฐานะที่โจทก์เป็นผู้อยู่ในอุปการะของนางสาวพัชชาต่อสถาบันราชภัฏฉะเชิงเทรา จำเลยที่ 2 พิจารณาแล้วมีความเห็นว่า นางสาวพัชชาไม่ได้เป็นผู้อุปการะโจทก์อยู่เป็นประจำ และความตายของนางสาวพัชชาไม่ทำให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนเพราะขาดอุปการะ โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จตกทอด ตามเอกสารหมาย จ.13 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการแรกว่า โจทก์มีสิทธิได้รับบำเหน็จตกทอดของนางสาวพัชชาตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองหรือไม่ จำเลยทั้งสองฎีกาว่า โจทก์เป็นบุคคลปัญญาอ่อนมีบิดามารดาเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูตลอดมาจนกระทั่งบิดามารดาถึงแก่ความตาย หลังจากนั้นโจทก์ยังมีพี่ ๆ หลายคนรวมทั้งนางสาวพัชชาเป็นผู้ดูแล จนกระทั่งมีปัญหาเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินของโจทก์ จึงจำเป็นต้องร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งให้โจทก์เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถอยู่ในความพิทักษ์ของนางสาวพัชชา นางสาวพัชชาไม่ได้มอบเงินให้โจทก์ใช้จ่ายเป็นประจำ ไม่ได้เป็นผู้อุปการะตลอดมาจึงไม่ใช่ผู้อุปการะโจทก์แต่อย่างใด เมื่อนางสาวพัชชาถึงแก่ความตายแล้ว ก็ยังมีพวกพี่ ๆ คนอื่นของโจทก์รวมทั้งนางสาวพัชรินทร์ ซึ่งเป็นข้าราชการบำนาญช่วยเหลือดูแลโจทก์อยู่ อีกทั้งโจทก์มีเงินฝากในธนาคารและยังมีสิทธิได้รับมรดกจากบิดามารดาและนางสาวพัชชา โจทก์ไม่ได้ขาดไร้อุปการะและไม่ได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากความตายของนางสาวพัชชา จึงไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จตกทอด เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 มาตรา 4 ได้กำหนดบทนิยามผู้อยู่ในอุปการะว่าให้หมายความว่า “ผู้ที่ได้อยู่ในความอุปการะของผู้ตายตลอดมา โดยจำเป็นต้องมีผู้อุปการะ และความตายของผู้นั้นทำให้ได้รับความเดือดร้อนเพราะขาดอุปการะ” ซึ่งมีความหมายว่า ผู้ที่จะได้รับบำเหน็จตกทอดจะต้องได้รับความช่วยเหลือเกื้อกูลจากผู้ตายตลอดเวลา และความตายของผู้นั้น ทำให้ได้รับความเดือดร้อนเพราะขาดอุปการะ สำหรับกรณีของโจทก์นั้น ได้ความจากตัวโจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้านว่า ในช่วงที่นางสาวพัชชารับราชการอยู่ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา โจทก์พักอาศัยอยู่กับนางสาวพัชรินทร์และนางสาคร (ไม่ปรากฏนามสกุล) พี่สาวกับพวกหลาน ๆ มีนางสาวพัชรินทร์เป็นหลักในการดูแลโจทก์ พี่น้องคนอื่น ๆ มาช่วยดูแลเป็นครั้งคราว กับได้ความจากนายวิชัย เภกานนท์ พี่ชายโจทก์ ซึ่งเบิกความเป็นพยานโจทก์ตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้านว่า ระหว่างที่นางสาวพัชชาไปรับราชการอยู่ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา นางสาวพัชชาจะเดินทางกลับบ้านที่กรุงเทพมหานครในช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์ เวลาโจทก์ไปพบแพทย์นางสาครจะเป็นผู้พาไป ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ของโจทก์พี่น้องจะช่วยเหลือกันเท่าที่จะทำได้ ซึ่งข้อเท็จจริงที่ได้ความดังกล่าวแสดงว่าโจทก์พักอาศัยอยู่ที่บ้านของบิดามารดาตั้งแต่เกิดตลอดมาโดยอาศัยรวมอยู่กับพี่คนอื่น ๆ อีกหลายคน หลังจากบิดามารดาถึงแก่ความตายแล้ว โจทก์ก็คงอยู่ที่บ้านหลังดังกล่าวร่วมกับนางสาวพัชรินทร์ และนางสาคร กับบุตรของนางสาคร ผู้ที่เป็นหลักดูแลให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลโจทก์ตลอดมาคือนางสาวพัชรินทร์ แม้ต่อมาศาลแพ่งธนบุรี จะมีคำสั่งให้โจทก์เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถและอยู่ในความพิทักษ์ของนางสาวพัชชา ก็เพื่อประโยชน์ในการจัดการทรัพย์สินของโจทก์ ซึ่งมีสิทธิได้รับมรดกของบิดามารดาและเงินฝากของโจทก์ในธนาคารเท่านั้น หามีผลทำให้นางสาวพัชชาเปลี่ยนฐานะเป็นผู้ให้ความอุปการะโจทก์ไม่ นอกจากนี้เมื่อนางสาวพัชชาถึงแก่ความตาย นางสาวพัชรินทร์ซึ่งเป็นข้าราชการบำนาญและเป็นผู้พิทักษ์ของโจทก์ตามคำสั่งศาลแทนนางสาวพัชชากับนางสาครซึ่งพักอาศัยอยู่ด้วยกันและพี่คนอื่น ๆ ก็ยังช่วยกันดูแลให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลโจทก์ตามปกติอยู่เช่นเดิม เพียงแต่ขาดความช่วยเหลือในส่วนของนางสาวพัชชาไปบ้างเท่านั้น โจทก์จึงไม่ได้รับความเดือดร้อนเพราะขาดอุปการะแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงยังรับฟังไม่ได้ว่าโจทก์เป็นผู้อยู่ในอุปการะของผู้ตายตามความหมายแห่งพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 มาตรา 4 ดังกล่าวแล้ว ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นผู้อยู่ในอุปการะของนางสาวพัชชานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังขึ้น และไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้ออื่นอีก เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป”
พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ