คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 388/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยปลูกสร้างบ้านบังหน้าบริเวณที่ดินของโจทก์ ทำให้โจทก์ออกสู่ทะเลหลวงไม่ได้หรือไม่สะดวก โจทก์ย่อมได้รับความเสียหายเป็นกรณีพิเศษโดยตรง แม้ที่ดินที่ปลูกบ้านพิพาทจะเป็นที่ชายตลิ่งจำเลยก็ไม่อาจใช้สิทธิอันจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 421 ประกอบมาตรา 1337 และโจทก์ย่อมมีสิทธิปฏิบัติการเพื่อยังความเสียหายให้สิ้นไปโดยฟ้องจำเลยให้รื้อถอนบ้านพิพาทที่กีดขวางทางที่โจทก์เข้าออกสู่ทะเลหลวงไปได้
โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินมีสิทธิที่จะใช้ที่ดินของตนออกสู่ทะเลหลวงได้ตลอดแนวเขต การที่โจทก์จะก่อสร้างกำแพงส่วนใดและเว้นที่ดินส่วนใดให้เป็นทางออกสู่ทะเลหลวง ย่อมเป็นสิทธิของโจทก์ บุคคลอื่นไม่มีสิทธิที่จะรบกวนการใช้สิทธิของโจทก์ แม้โจทก์จะมีอาชีพประมงหรือไม่ ไม่สำคัญ เพราะโจทก์มีสิทธิที่จะใช้ที่ดินบริเวณที่จำเลยปลูกสร้างบ้านออกสู่ทะเลหลวงได้อยู่แล้ว และโจทก์จะเลือกใช้สิทธิของตนออกสู่ทะเลหลวงทางใดก็ได้ที่โจทก์เห็นว่าเป็นประโยชน์และเป็นความสะดวกแก่ตนมากที่สุด

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่าโจทก์ เรียกจำเลยในสำนวนแรกว่าจำเลยที่ 1 และเรียกจำเลยในสำนวนหลังว่าจำเลยที่ 2
โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองสำนวนเป็นใจความว่า โจทก์เป็นเจ้าของมีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 476 เลขที่ดิน 29 ตำบลศาลาด่าน (เกาะลันตาใหญ่) อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2542 จำเลยที่ 1 ก่อสร้างบ้านกว้างประมาณ 4.50 เมตร ยาวประมาณ 5 เมตร และจำเลยที่ 2 ก่อสร้างบ้านกว้างประมาณ 11 เมตร ยาวประมาณ 12 เมตร ล้ำเข้าไปในทะเลหลวงซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของที่ดินโจทก์ อันเป็นการกีดขวางปิดกั้นหน้าที่ดินโจทก์ ทำให้โจทก์และบริวารไม่สามารถเข้าออกหรือใช้สอยที่ชายตลิ่งเพื่อออกสู่ทะเลหลวงได้ โจทก์แจ้งให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนบ้านดังกล่าว แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย โจทก์จึงแจ้งให้กรมเจ้าท่าซึ่งมีหน้าที่ดูแลรักษาที่ชายตลิ่งทราบ กรมเจ้าท่าแจ้งความดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองในความผิดต่อพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษปรับจำเลยทั้งสองแล้ว แต่จำเลยทั้งสองไม่ยอมรื้อถอนบ้านออกไปจากที่ชายตลิ่งดังกล่าว ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินที่ควรคิดหรือคาดหมายได้ว่าจะเป็นไปตามปกติและเหตุอันควร โจทก์ขอคิดค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 เดือนละ 100 บาท และจากจำเลยที่ 2 เดือนละ 200 บาท นับแต่เดือนพฤษภาคม 2542 จนถึงวันฟ้องเป็นเวลา 11 เดือน เป็นเงิน 1,100 บาท และ 2,200 บาท ตามลำดับ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองรื้อถอนบ้านและสะพานเชื่อมบ้านกับตลิ่งออกไป ห้ามจำเลยทั้งสองกับบริเวณเข้าเกี่ยวข้องในที่ชายตลิ่งริมทะเลหลวงด้านทิศเหนือของที่ดินโจทก์ตลอดแนว ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 1,100 บาท และ 2,200 บาท ตามลำดับและใช้ค่าเสียหายเป็นรายเดือน เดือนละ 100 บาท และ 200 บาท เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะรื้อถอนบ้านและสิ่งปลูกสร้างออกไปจนเสร็จสิ้น
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การเป็นใจความว่า จำเลยทั้งสองพักอาศัยอยู่ในบ้านที่ปลูกสร้างบริเวณที่ชายตลิ่งตามฟ้องโจทก์และถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีอาญาจริง แต่ที่ชายตลิ่งดังกล่าวไม่มีสภาพเป็นทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน จึงไม่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ทั้งโจทก์สร้างกำแพงปิดกั้นทางเข้าออกสู่ทะเลหลวงเป็นอุปสรรคในการใช้สอยที่ชายตลิ่งเองจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ประกอบกับโจทก์สามารถออกสู่ทะเลหลวงโดยใช้ถนนสาธารณประโยชน์ไปสู่ท่าเทียบเรือได้ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายและจำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากหน้าที่ดินของโจทก์ ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 500 บาท คำขออื่น นอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามที่คู่ความไม่โต้แย้งกันว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 476 เลขที่ดิน 29 ตำบลเกาะลันตาใหญ่ อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ และมีแนวเขตที่ดินทางด้านทิศเหนือจดทะเลหลวง และมีโรงเรือนของจำเลยทั้งสองปลูกบังอยู่หน้าที่ดินของโจทก์ ต่อมาจำเลยทั้งสองถูกฟ้องเป็นคดีอาญาฐานปลูกสร้างอาคารบ้านอยู่อาศัยล่วงล้ำเข้าไปเหนือน้ำอันเป็นทางสัญจรของประชาชนหรือที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน และเข้าไปในทะเลภายในน่านน้ำไทย ซึ่งเป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ ศาลพิพากษาลงโทษปรับ ปัจจุบันโรงเรือนทั้งสองหลังยังไม่มีการรื้อถอน มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องเพื่อให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนโรงเรือนไปได้หรือไม่ โจทก์อ้างตนเองและนายอภิชาติ รัตนน้อย เป็นพยานว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดิน น.ส. 3 ก. เลขที่ 476 เลขที่ดิน 29 ตำบลศาลาด่าน (เกาะลันตาใหญ่) อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ซึ่งมีที่ดินด้านทิศเหนืออยู่ติดทะเลหลวง ต่อมาวันที่ 22 เมษายน 2542 จำเลยทั้งสองได้มาปลูกสร้างบ้านคนละ 1 หลัง บนที่ดินสาธารณะบังหน้าที่ดินของโจทก์ ทำให้โจทก์ออกสู่ทะเลหลวงไม่ได้ ส่วนจำเลยทั้งสองอ้างตนเองและนายลิ่ม ก๊กใหญ่ เป็นพยานว่าได้ซื้อบ้านที่พิพาทจากนายอูเห็น ช้างน้ำ และนายหนิม เชี่ยวชาญ ตั้งแต่ พ.ศ.2519 และ พ.ศ.2532 ตามลำดับ ต่อมาได้มีการปรับปรุงบ้านใน พ.ศ.2541 โจทก์จึงไปร้องเรียนต่อกรมเจ้าท่า ทำให้จำเลยทั้งสองถูกดำเนินคดีอาญา และศาลได้พิพากษาปรับจำเลยทั้งสองคดีถึงที่สุดแล้ว เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า จำเลยทั้งสองได้ปลูกสร้างบ้านบังหน้าบริเวณที่ดินของโจทก์ทำให้โจทก์ออกสู่ทะเลหลวงไม่ได้หรือได้ไม่สะดวก โจทก์ย่อมได้รับความเสียหายเป็นกรณีพิเศษโดยตรง แม้ที่ดินที่ปลูกบ้านพิพาทดังกล่าวจะเป็นที่ชายตลิ่งก็ตาม จำเลยทั้งสองก็ไม่อาจใช้สิทธิอันจะก่อให้เกิดความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินที่ควรคิด หรือคาดหมายได้ว่าจะเป็นไปตามปกติและเหตุอันควร ในเมื่อเอาสภาพและตำแหน่งที่อยู่แห่งทรัพย์สินมาคำนึงประกอบ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 421 ประกอบมาตรา 1337 และโจทก์ย่อมมีสิทธิปฏิบัติการเพื่อยังความเสียหายหรือเดือดร้อนให้สิ้นไปโดยฟ้องจำเลยทั้งสองให้รื้อถอนบ้านพิพาททั้งสองหลังที่กีดขวางทางที่โจทก์เข้าออกสู่ทะเลหลวงออกไปได้ ที่จำเลยทั้งสองอ้างว่าโจทก์เป็นผู้ก่อกำแพงกั้นที่ดินของโจทก์ตลอดแนวชายทะเลทำให้โจทก์ไม่สามารถออกสู่ทะเลหลวงได้ เป็นการกระทำของตัวโจทก์เองที่ทำให้โจทก์เดือดร้อน เห็นว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินย่อมมีสิทธิที่จะใช้ที่ดินของตนออกสู่ทะเลหลวงได้ตลอดแนวเขต ดังนั้นการที่โจทก์จะก่อสร้างกำแพงส่วนใดและเว้นที่ดินส่วนใดให้เป็นทางออกสู่ทะเลหลวง ย่อมเป็นสิทธิของโจทก์โดยชอบธรรม บุคคลอื่นไม่มีสิทธิที่จะรบกวนการใช้สิทธิของโจทก์ตามกฎหมาย ส่วนที่จำเลยทั้งสองอ้างว่าโจทก์ไม่มีอาชีพประมง บริเวณที่จำเลยทั้งสองก่อสร้างบ้านจึงไม่ขัดขวางอาชีพของโจทก์ เห็นว่า โจทก์จะมีอาชีพประมงหรือไม่ ไม่สำคัญเพราะโจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะใช้ที่ดินบริเวณที่จำเลยทั้งสองปลูกสร้างบ้านออกสู่ทะเลหลวงได้ตามกฎหมายอยู่แล้ว และที่จำเลยทั้งสองอ้างว่าโจทก์มีทางออกสู่ทางสาธารณะด้านทิศตะวันออกของที่ดินไปสู่ท่าเรือได้ โจทก์จึงไม่เดือดร้อนเป็นพิเศษ เห็นว่า โจทก์ย่อมมีสิทธิตามกฎหมายที่จะเลือกใช้สิทธิของตนออกสู่ทางสาธารณะทางใดก็ได้ที่โจทก์เห็นว่าเป็นประโยชน์และเป็นความสะดวกแก่ตนมากที่สุดไม่จำเป็นที่จะต้องใช้ทางสาธารณะทางหนึ่งทางใด บุคคลอื่นที่ไม่มีสิทธิตามกฎหมายย่อมไม่มีสิทธิจะก่อสร้างสิ่งใด ๆ กีดขวางทางที่โจทก์จะออกสู่ทะเลหลวงได้ ข้ออ้างของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share