แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร คำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ว่าขอให้การรับสารภาพตามฟ้อง ย่อมไม่ชัดเจนพอที่จะชี้ขาดว่าจำเลยได้กระทำความผิดฐานใดจึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องสืบพยานให้ได้ความถึงการกระทำความผิดของจำเลย เมื่อโจทก์ไม่สืบพยานจึงลงโทษจำเลยไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2547 เวลากลางคืนหลังเที่ยง มีคนร้ายหลายคนร่วมกันลักรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน ขจจ อุดรธานี 899 ราคา 40,000 บาท ซึ่งอยู่ในความครอบครองของนายชะเอม จันทร์ทอง ผู้เสียหายไปโดยทุจริต โดยในการลักทรัพย์ดังกล่าวคนร้ายร่วมกันใช้รถจักรยานยนต์ไม่ทราบหมายเลขทะเบียนเป็นยานพาหนะ ผลักดันรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายให้เคลื่อนที่ ทั้งนี้เพื่อสะดวกแก่การกระทำความผิด หรือการพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นจากการจับกุม เหตุเกิดที่ตำบลหมากแข้ง อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี ต่อมาวันที่ 26 กรกฎาคม 2547 เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมนายเอกพล ป่าลั่นทม และนายวิสูจน์ โอทาตะวงศ์ พวกของจำเลยได้พร้อมเครื่องยนต์ ราคา 2,000 บาท คาร์บูเรเตอร์ ราคา 100 บาท คันสตาร์ต ราคา 100 บาท คันเกียร์ ราคา 100 บาท และสายไฟพร้อมติดตั้ง ราคา 100 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2,400 บาท ซึ่งเป็นเครื่องยนต์และอะไหล่ของรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่ถูกคนร้ายลักไปเป็นของกลาง ต่อมาวันที่ 5 สิงหาคม 2547 จำเลยเข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน ทั้งนี้ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุลักทรัพย์ จำเลยกับพวกเป็นคนร้ายร่วมกันลักรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไป หรือมิฉะนั้นภายหลังเกิดเหตุลักทรัพย์จนถึงวันเวลาที่พวกของจำเลยถูกจับกุมดังกล่าว จำเลยกับพวกร่วมกันช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำหรือรับไว้โดยประการใดซึ่งเครื่องยนต์และอะไหล่ของรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่ถูกคนร้ายร่วมกันลักไป โดยจำเลยกับพวกรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ เหตุรับของโจรเกิดที่ตำบลหมากแข้งและตำบลหมู่ม่น อำเภอเมืองอุดรธานีเกี่ยวพันกัน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 334, 335, 336 ทวิ, 357
จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคแรก จำคุก 4 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี ข้อหาลักทรัพย์ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร แสดงว่าโจทก์ประสงค์ขอให้ลงโทษจำเลยในข้อหาใดข้อหาหนึ่งเพียงข้อหาเดียว เพราะความผิดฐานลักทรัพย์กับความผิดฐานรับของโจรเป็นความผิดคนละฐานกันจะลงโทษจำเลยทั้งสองฐานความผิดดังกล่าวย่อมไม่ได้ คำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ว่าขอให้การรับสารภาพตามฟ้องนั้น ย่อมไม่ชัดเจนพอที่จะชี้ขาดว่าจำเลยได้กระทำความผิดฐานใดจึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องสืบพยานให้ได้ความถึงการกระทำความผิดของจำเลย เมื่อโจทก์ไม่สืบพยานจึงลงโทษจำเลยไม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานรับของโจรนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง.