คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1661/2513

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อตกลงที่ว่าผู้เช่าจะไม่ยอมให้ผู้อื่นมาอาศัยรวมอยู่ด้วยเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากผู้ให้เช่าเป็นลายลักษณ์อักษรนั้น หาใช่กรณีที่ผู้เช่าต้องมีหน้าที่หรือรับภาระใด ๆ ซึ่งตามกฎหมายผู้เช่าไม่จำต้องมีหน้าที่หรือรับภาระนั้น ๆ ตามนัยแห่งพระราชบัญญัติควบคุมการเช่าเคหะและที่ดิน พ.ศ. 2504 มาตรา 12(2) ไม่ข้อตกลงดังกล่าวไม่ขัดแย้งกับกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเช่าอาคารโจทก์เลขที่ 109/3 ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเช่าโดยผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าให้โจทก์ และจำเลยที่ 1 มิได้เช่าอยู่เอง แต่ยอมให้จำเลยที่ 2 กับบริวารมาอาศัยอยู่ โดยมิได้รับอนุญาตจากโจทก์เป็นลายลักษณ์อักษร จำเลยที่ 2 กับบริวารเข้ามาอยู่อาคารดังกล่าวโดยไม่มีสิทธิ ขอให้ศาลบังคับจำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าที่ค้าง ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหาย ให้ขับไล่จำเลยทั้งสองกับบริวาร

จำเลยทั้งสองให้การว่า ความในสัญญาเช่าข้อ 3 และข้อ 5เป็นโมฆะ ขัดและฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมาย

ก่อนสืบพยาน โจทก์จำเลยแถลงร่วมกันขอท้ากันเป็นประเด็นข้อแพ้ชนะเพียงข้อเดียวว่า ข้อความในข้อ 3 แห่งสัญญาเช่าดังกล่าวเป็นโมฆะหรือไม่ ขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดโดยคู่ความไม่ต้องนำสืบหากเป็นโมฆะ จำเลยทั้งสองชนะคดี หากไม่เป็นโมฆะ จำเลยทั้งสองแพ้คดี

ศาลชั้นต้นงดสืบพยานและมีคำพิพากษาว่า ข้อความในข้อ 3 แห่งสัญญาเช่าอาคารพิพาทไม่ขัดต่อกฎหมาย พิพากษาให้โจทก์ชนะตามฟ้อง

จำเลยที่ 1 ที่ 2 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกา

สัญญาเช่าอาคารพิพาทฉบับที่ 3/2509 ข้อ 3 มีความว่า “ผู้เช่าจะเข้าอยู่อาศัยเองและจะมีคนอาศัยอยู่ในครอบครัวตามจำนวนที่ระบุชื่อไว้ในคำร้องขอเช่า จะไม่ยอมให้ผู้อื่นมาอาศัยรวมกันอยู่ด้วย เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากผู้ให้เช่าเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว ทั้งนี้ไม่กินความถึงบุตรของผู้เช่าที่เกิดใหม่” ศาลฎีกาเห็นว่าข้อตกลงที่ว่าผู้เช่าจะไม่ยอมให้ผู้อื่นมาอาศัยรวมอยู่ด้วย เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากผู้ให้เช่าเป็นลายลักษณ์อักษรนั้น หาใช่กรณีที่ผู้เช่าต้องมีหน้าที่หรือรับภาระใด ๆ ซึ่งตามกฎหมาย ผู้เช่าไม่จำต้องมีหน้าที่หรือรับภาระนั้น ๆ ตามนัยแห่งพระราชบัญญัติควบคุมการเช่าเคหะและที่ดิน พ.ศ. 2504 มาตรา 12(2) แต่ประการใดไม่ ข้อตกลงดังกล่าวไม่ขัดแย้งกับกฎหมาย

พิพากษายืน

Share