คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8780/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสองข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายโดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยมีอาวุธปืนและมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง ย่อมเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กาย จิตใจ และเสื่อมเสียต่อชื่อเสียงของตน จำเลยทั้งสองเป็นผู้ทำละเมิด จึงต้องร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหาย ซึ่งศาลชั้นต้นได้กำหนดค่าสินไหมทดแทนจำนวนที่เหมาะสมแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดแล้ว จึงเห็นสมควรให้บังคับไปตามนั้น ปัญหาดังกล่าวแม้ผู้เสียหายมิได้อุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเพื่อให้เป็นไปตามผลแห่งคดีอาญาได้ เพราะเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 276, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ
ระหว่างพิจารณา นางสาวนกยูงทอง ผู้เสียหาย โดยนางละออง มารดาผู้แทนโดยชอบธรรมยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงิน 230,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่จำเลยทั้งสองทำละเมิดต่อผู้เสียหายจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธคดีส่วนอาญา และให้การคดีส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคสอง, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคสอง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราหญิงอื่นซึ่งมิใช่ภริยาของตนโดยใช้กำลังประทุษร้ายโดยมีอาวุธปืนอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง จำคุกคนละ 20 ปี ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 6 เดือน ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยเปิดเผย ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 จำคุกคนละ 6 เดือน รวมจำคุกคนละ 20 ปี 12 เดือน กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 150,000 บาท แก่ผู้ร้อง พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 19 มิถุนายน 2549 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง ข้อหาและคำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ (ที่ถูก พิพากษาแก้) ให้ยกฟ้องโจทก์และยกคำร้องของผู้ร้องเสีย
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่าผู้เสียหายเป็นบุตรของนายวันนี และนางละออง ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายอายุ 18 ปีเศษ ตามสำเนาทะเบียนบ้าน ผู้เสียหายพักอาศัยอยู่กับนายแป และนางคำเบ็ง ซึ่งเป็นตาและยาย ส่วนบ้านของบิดามารดาอยู่ห่างออกไปประมาณ 1 เส้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดฐานร่วมกันข่มขืนกระทำชำเรา หญิงซึ่งไม่ใช่ภริยา โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยมีอาวุธปืนและมีลักษณะโทรมหญิง ร่วมกันมีอาวุธปืนของผู้อื่นที่ได้รับอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ โดยไม่ได้รับใบอนุญาต และโดยไม่มีเหตุสมควรตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ พยานหลักฐานของจำเลยทั้งสองที่อ้างฐานที่อยู่นั้นไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมามีน้ำหนักรับฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดฐานร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราหญิงซึ่งมิใช่ภริยาโดยใช้กำลังประทุษร้ายโดยมีอาวุธปืนและมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง สำหรับความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควรนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองไม่เคยได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน ตามข้อมูลทะเบียนอาวุธปืน การที่จำเลยทั้งสองถืออาวุธปืนแก๊ปไปในบริเวณที่เกิดเหตุซึ่งเป็นหมู่บ้าน จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต โดยเปิดเผยและโดยไม่มีเหตุสมควร แต่เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจไม่สามารถยึดอาวุธปืนมาเป็นของกลาง จึงต้องฟังเป็นคุณแก่จำเลยทั้งสองว่าอาวุธปืนที่จำเลยทั้งสองร่วมกันมีและพาไปในที่เกิดเหตุเป็นอาวุธปืนของผู้อื่นที่ได้รับอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมาย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
อนึ่ง ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 19) พ.ศ.2550 มาตรา 3 ให้ยกเลิกความในมาตรา 276 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลยทั้งสอง จึงให้ใช้กฎหมายเดิมซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3
สำหรับคดีในส่วนแพ่ง การที่จำเลยทั้งสองได้ข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายโดยใช้กำลังประทุษร้ายโดยมีอาวุธปืนและมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง ย่อมเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่ร่างกาย จิตใจ และเสื่อมเสียต่อชื่อเสียงของตน จำเลยทั้งสองเป็นผู้ทำละเมิดจึงต้องร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหาย ซึ่งศาลชั้นต้นได้กำหนดค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้เป็นเงิน 150,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่ผู้เสียหาย นับว่าเป็นค่าสินไหมทดแทนจำนวนที่เหมาะสมแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดแล้วจึงเห็นสมควรให้บังคับไปตามนั้น ปัญหาดังกล่าวแม้ผู้เสียหายมิได้อุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเพื่อให้เป็นไปตามผลแห่งคดีอาญาได้ เพราะเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share