คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1094/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ผู้เสียหายทั้งสองถูกจำเลยทั้งสามกับพวกร่วมกันใช้มีด ขวดเบียร์ และไม้ ฟันแทง ตี จนได้รับบาดเจ็บ ผู้เสียหายที่ 2 มีบาดแผลฉีกขาดที่ใบหน้าและศีรษะสำหรับที่ใบหน้ามีบาดแผลฉีกขาดที่แก้มซ้ายขนาดยาว 6 เซนติเมตร และยาว 5 เซนติเมตรต้องเย็บถึง 100 เข็ม ซึ่งบาดแผลดังกล่าวหลังเกิดเหตุ 20 วัน สามารถมองเห็นได้ชัดในระยะ 5 เมตร แม้จะทำศัลยกรรมตบแต่งบนใบหน้าก็ไม่สามารถทำให้หายเป็นปกติได้แต่จะจางลง วันที่ผู้เสียหายที่ 2 มาเบิกความเป็นพยานโจทก์ห่างจากวันเกิดเหตุประมาณ8 เดือนเศษ ก็ยังปรากฏรอยแผลเป็นให้เห็นได้ชัดทำให้หน้าเสียโฉมอย่างติดตัว เป็นอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297(4)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80, 83

จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 295, 297(4) การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297(4) ประกอบมาตรา 83 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 3 ปี

จำเลยทั้งสามอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยทั้งสามฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามว่าสภาพแผลเป็นที่ใบหน้าของผู้เสียหายที่ 2 ทำให้หน้าเสียโฉมอย่างติดตัวเป็นอันตรายสาหัสหรือไม่ เห็นว่า ตามใบชันสูตรบาดแผลของแพทย์เอกสารระบุว่า ผู้เสียหายที่ 2 มีบาดแผลฉีกขาดที่ใบหน้าและศีรษะ สำหรับบาดแผลที่ใบหน้ามีบาดแผลฉีกขาดที่แก้มซ้ายขนาดยาว 6 เซนติเมตร และขนาดยาว 5 เซนติเมตร และได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 2 ว่า บาดแผลที่ใบหน้าของผู้เสียหายที่ 2 ต้องเย็บถึง 100 เข็ม และได้ความจากคำเบิกความของนายแพทย์อำนาจ กุสลานันท์ ว่าบาดแผลดังกล่าวหลังเกิดเหตุ20 วัน สามารถมองเห็นได้ชัดในระยะ 5 เมตร บาดแผลดังกล่าวแม้จะทำศัลยกรรมตบแต่งบนใบหน้าก็ไม่สามารถทำให้หายเป็นเนื้อปกติได้ แต่จะจางลง และได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 2 ตอบทนายจำเลยทั้งสามถามค้านว่า บาดแผลตามภาพถ่ายบริเวณใบหน้าของผู้เสียหายที่ 2 ถูกขวดเบียร์แตกที่ก้นขวด แทงบริเวณหน้าของผู้เสียหายที่ 2 ทนายจำเลยทั้งสามให้ศาลดูใบหน้าที่ถูกทำร้าย พบว่ายังมีรอยแผลในบริเวณใบหน้าซึ่งพอเห็นได้ในระยะระหว่างบัลลังก์กับคอกพยานซึ่งศาลชั้นต้นได้บันทึกไว้ จะเห็นได้ว่าในวันที่ศาลชั้นต้นดูรอยแผลเป็นของผู้เสียหายที่ 2 เป็นวันที่ผู้เสียหายที่ 2มาเบิกความเป็นพยานโจทก์ห่างจากวันเกิดเหตุประมาณ 8 เดือนเศษ ก็ยังปรากฏรอยแผลเป็นให้เห็นได้ชัดและเมื่อพิจารณาภาพถ่ายก็ปรากฏว่าสามารถมองเห็นแผลเป็นที่แก้มซ้ายของผู้เสียหายที่ 2 เป็นรูปโค้งลักษณะคล้ายก้นขวดได้อย่างชัดเจน ดังนี้ ย่อมฟังได้ว่า แผลที่ใบหน้าด้านซ้ายของผู้เสียหายที่ 2 ทำให้หน้าเสียโฉมอย่างติดตัวเป็นอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297(4) แล้ว ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 295, 297(4) และให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297(4) ประกอบมาตรา 83 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสามในข้อนี้ก็ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share