แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พนักงานของจำเลยได้มีหนังสือชี้แจงโจทก์ มีข้อความตอนหนึ่งระบุว่า การเรียกเก็บเงินตามเช็คพิพาทต้องใช้เวลาเรียกเก็บประมาณ 1 เดือน ถึง 3 เดือน ซึ่งจำเลยมิได้ปฏิเสธว่าหนังสือดังกล่าวมิใช่เอกสารของพนักงานของจำเลยมีถึงโจทก์และมิได้ปฏิเสธว่าข้อความดังกล่าวไม่ถูกต้องแต่ประการใด แสดงว่า การเรียกเก็บเงินในลักษณะเดียวกันกับเช็คพิพาทตามปกติจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จว่าเรียกเก็บเงินได้หรือไม่ได้ภายในเวลาไม่เกิน 3 เดือน หรือไม่เกินวันที่ 20 สิงหาคม 2537 และจำเลยต้องแจ้งผลการเรียกเก็บเงินตามเช็คพิพาทไม่ได้ให้โจทก์ทราบภายในเวลาอันสมควร การที่จำเลยไม่แจ้งผลการเรียกเก็บเงินตามเช็คพิพาทไม่ได้ให้โจทก์ทราบภายในระยะเวลาอันสมควรโดยปล่อยให้เวลาล่วงเลยจากวันที่ 20 สิงหาคม 2537 ออกไปอีกประมาณ 6 เดือน ถือได้ว่าจำเลยในฐานะผู้มีวิชาชีพเรียกเก็บเงินตามเช็คพิพาทแทนโจทก์กระทำการโดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายตาม ป.พ.พ. มาตรา 420
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 125,553.75 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 122,865.75 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะจำเลยมิได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเนื่องจากมิได้บรรยายว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์อย่างไร และโจทก์ได้รับความเสียหายอย่างไร โจทก์นำเช็คมาเข้าบัญชีของโจทก์จริง แต่เช็คของโจทก์สูญหายไปในระหว่างการเรียกเก็บโดยมิใช่ความผิดของจำเลย แต่เมื่อเช็คสูญหาย จำเลยส่งสำเนาเช็คไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารตามเช็คแล้ว และธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน การที่โจทก์ไม่ได้รับเงินตามเช็คจึงไม่ใช่ความผิดของจำเลย จำเลยนำเงินเข้าบัญชีของโจทก์และให้โจทก์เบิกถอนเงินได้ก่อนที่จะเรียกเก็บเงินได้ เพราะโจทก์เป็นลูกค้าที่ใช้บริการกับจำเลยด้วยดี แต่เมื่อเช็คไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้ โจทก์มีหน้าที่ที่จะต้องคืนเงินให้แก่จำเลย จำเลยจึงหักเงินจากบัญชีของโจทก์ ทั้งโจทก์ยังมีสิทธิที่จะเรียกร้องเอาจากลูกหนี้ของโจทก์ได้ การกระทำของจำเลยไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ 122,812.75 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันที่ 23 มกราคม 2538 จนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ทั้งนี้ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 12 พฤษภาคม 2538) ต้องไม่เกิน 2,688 บาท กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังยุติได้ว่า เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2537 โจทก์นำเช็คพิพาทตามสำเนาเอกสารหมาย จ.4 เข้าบัญชีกระแสรายวันที่โจทก์เปิดบัญชีไว้กับธนาคารจำเลย สาขาพระราม 9 เพื่อให้จำเลยเรียกเก็บเงินตามเช็คพิพาท ต่อมาจำเลยนำเงินจำนวน 122,812.75 บาท เข้าบัญชีของโจทก์ โดยมีเงื่อนไขว่าเมื่อพ้นกำหนด 45 วัน นับแต่วันนำเช็คพิพาทเข้าบัญชี ไม่ปรากฏว่าเช็คถูกปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์สามารถเบิกเงินตามเช็คไปจากบัญชีของโจทก์ได้ แต่ถ้าเช็คเรียกเก็บเงินไม่ได้จำเลยเรียกเงินที่โจทก์เบิกไปแล้วคืนได้ ต่อมาวันที่ 23 มกราคม 2538 จำเลยได้หักเงินตามเช็คพิพาทออกจากบัญชีของโจทก์ เนื่องจากเช็คพิพาทเกิดการสูญหายระหว่างเรียกเก็บ และธนาคารอินเตอร์เนชั่นแนลอินโดนีเซีย ประเทศอินโดนีเซีย ยังมิได้จ่ายเงินตามเช็คพิพาท ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์หรือไม่ ปัญหาดังกล่าวโจทก์มีนายชาญวิทย์ ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์เบิกความว่า จำเลยเพิ่งแจ้งให้โจทก์ทราบว่าเช็คพิพาทสูญหาย และหักเงินตามเช็คออกจากบัญชีโจทก์หลังจากที่โจทก์นำเช็คพิพาทเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงินตามเช็คพิพาทประมาณ 8 เดือน และพนักงานของจำเลยได้มีหนังสือชี้แจงโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.7 ซึ่งมีข้อความตอนหนึ่งระบุว่า การเรียกเก็บเงินตามเช็คพิพาทต้องใช้เวลาเรียกเก็บประมาณ 1 เดือน ถึง 3 เดือน ซึ่งจำเลยมิได้ปฏิเสธว่าเอกสารหมาย จ.7 มิใช่เอกสารของพนักงานของจำเลยมีถึงโจทก์ และมิได้ปฏิเสธว่าข้อความดังกล่าวไม่ถูกต้องแต่ประการใด แสดงว่า การเรียกเก็บเงินในลักษณะเดียวกันกับเช็คพิพาทตามปกติจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จว่าเรียกเก็บเงินได้หรือไม่ได้ภายในเวลาไม่เกิน 3 เดือน หรือไม่เกินวันที่ 20 สิงหาคม 2537 และจำเลยต้องแจ้งผลการเรียกเก็บเงินตามเช็คพิพาทไม่ได้ให้โจทก์ทราบภายในเวลาอันสมควร การที่จำเลยไม่แจ้งผลการเรียกเก็บเงินตามเช็คพิพาทไม่ได้ให้โจทก์ทราบภายในระยะเวลาอันสมควร โดยปล่อยให้เวลาล่วงเลยจากวันที่ 20 สิงหาคม 2537 ออกไปอีกประมาณ 6 เดือน ถือได้ว่าจำเลยในฐานะผู้มีวิชาชีพเรียกเก็บเงินตามเช็คพิพาทแทนโจทก์ กระทำการโดยประมาทเลินเล่อ แม้จำเลยจะกล่าวอ้างว่าจำเลยมีสิทธิหักเงินจากบัญชีของโจทก์ได้ และเงินในบัญชีของผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาทมีไม่พอจ่ายตามเช็ค แต่หากจำเลยได้แจ้งให้โจทก์ทราบว่าเรียกเก็บเงินตามเช็คพิพาทไม่ได้ภายในระยะเวลาอันสมควร โจทก์อาจมีวิธีการเรียกเก็บเงินตามที่สั่งจ่ายในเช็คพิพาทจากผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาทโดยตรงได้ เพราะผู้สั่งจ่ายเช็คเพิ่งปิดบัญชีเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2537 ความประมาทเลินเล่อของจำเลย จึงเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายเรียกเก็บเงินตามเช็คพิพาทไม่ได้ทั้งหมด เพราะโจทก์เข้าใจว่าเช็คพิพาทเรียกเก็บเงินได้แล้ว และจำเลยก็มิได้นำสืบให้ปรากฏว่า แม้จำเลยจะได้แจ้งการเรียกเก็บเงินตามเช็คพิพาทไม่ได้ให้โจทก์ทราบในเวลาอันควร โจทก์ก็ไม่มีทางเรียกเก็บเงินตามเช็คพิพาทจากผู้สั่งจ่ายได้อยู่ดี จำเลยจึงต้องรับผิดในความประมาทเลินเล่อของพนักงานของจำเลยอันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์
พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 122,812.75 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 23 มกราคม 2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ทั้งนี้ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 2,688 บาท กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 10,000 บาท.