คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1087/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานตำรวจและกระทำการเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ เข้าตรวจค้นห้องพักของผู้เสียหายทั้งสี่และรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 เมื่อพบเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จึงทำบันทึกการจับกุม แล้วจำเลยทั้งสามร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายทั้งสี่ไว้ภายในห้องพัก และขู่เข็ญให้แจ้งญาตินำเงินไปมอบให้จำเลยทั้งสามมิฉะนั้นจะส่งตัวไปดำเนินคดี เป็นการกระทำโดยมีเจตนาเดียวกันเพื่อให้ได้มาซึ่งเงินจากผู้เสียหายทั้งสี่ และเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องเชื่อมโยงกัน จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 80, 83, 91, 145, 310 ทวิ, 337 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 57, 91, 101/1 ริบของกลาง บวกโทษของจำเลยที่ 3 ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2331/2557 ของศาลชั้นต้นเข้ากับโทษของจำเลยที่ 3 ในคดีนี้ และนับโทษจำเลยที่ 3 ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2468/2557 ของศาลจังหวัดนาทวี
จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพในความผิดฐานเสพยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ให้การปฏิเสธในความผิดฐานอื่น และจำเลยที่ 3 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษและนับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 57, 91 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 145 วรรคแรก, 310 ทวิ, 337 วรรคแรก ประกอบมาตรา 80, 83 เป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานเสพเมทแอมเฟตามีน จำคุกคนละ 6 เดือน ฐานร่วมกันแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานและกระทำการเป็นเจ้าพนักงาน จำคุกคนละ 1 ปี ฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นและฐานร่วมกันพยายามกรรโชกทรัพย์ เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่น ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 2 ปี จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพฐานเสพเมทแอมเฟตามีน มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 3 เดือน รวมจำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 3 ปี 3 เดือน บวกโทษจำคุก 6 เดือน ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2331/2557 ของศาลชั้นต้น เข้ากับโทษของจำเลยที่ 3 ในคดีนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58 เป็นจำคุก 3 ปี 9 เดือน ริบของกลาง ยกคำขอให้นับโทษจำเลยที่ 3 ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2468/2557 ของศาลจังหวัดนาทวี
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ฟังข้อเท็จจริงว่า วันเกิดเหตุเวลาประมาณ 5 นาฬิกา ขณะที่ผู้เสียหายทั้งสี่อยู่ที่ห้องพักหมายเลข ซี 8 ท่าท้อนรีสอร์ท ตำบลควนลัง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จำเลยที่ 2 และที่ 3 แสดงตนเป็นเจ้าพนักงานตำรวจขอตรวจค้นตัวผู้เสียหายทั้งสี่และห้องพักดังกล่าว พบเมทแอมเฟตามีนชนิดเกล็ด อันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 บรรจุในถุงพลาสติกแบบกดปิด จำนวน 1 ถุง ซุกซ่อนในซองบุหรี่สีแดงวางอยู่บนหัวเตียง และตรวจค้นรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่ 2 ที่จอดอยู่หน้าห้องพักดังกล่าว พบเมทแอมเฟตามีนชนิดเม็ด อันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 เช่นเดียวกัน จำนวน 7 เม็ด และเมทแอมเฟตามีนชนิดเกล็ด บรรจุในถุงพลาสติกแบบกดปิด ซุกซ่อนอยู่บริเวณระหว่างหน้าปัดวัดความเร็วกับมือจับคันเร่ง จำเลยที่ 2 และที่ 3 พาผู้เสียหายทั้งสี่ไปที่ห้องพักหมายเลข เอ 2 มีจำเลยที่ 1 นั่งอยู่ภายในห้องก่อนแล้ว จำเลยที่ 1 เขียนบันทึกการจับกุมให้ผู้เสียหายทั้งสี่ลงลายมือชื่อ ทั้งที่จำเลยทั้งสามไม่ใช่เจ้าพนักงานตำรวจ หลังจากนั้นจำเลยทั้งสามแจ้งให้ผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 ติดต่อญาติให้หาเงินไปแลกกับการปล่อยตัวและไม่ดำเนินคดี ขณะที่นางหนับเสาะมารดาผู้เสียหายที่ 2 กลับไปรวบรวมเงิน เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรหาดใหญ่ได้รับแจ้งจากพลเมืองดีว่ามีวัยรุ่นมั่วสุมเสพยาเสพติดให้โทษที่ท่าท้อนรีสอร์ท เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจไปตรวจสอบที่ท่าท้อนรีสอร์ท พบจำเลยที่ 1 กับผู้เสียหายทั้งสี่ที่ห้องพักหมายเลข เอ 2 และพบจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ที่ห้องพักหมายเลข ซี 8 จำเลยทั้งสามอ้างว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจชุดปราบปรามน้ำมันเถื่อน แต่ไม่มีบัตรประจำตัว ผู้เสียหายทั้งสี่แจ้งว่าจำเลยทั้งสามจับกุมผู้เสียหายทั้งสี่และเรียกเงินเพื่อแลกกับการปล่อยตัวและไม่ดำเนินคดี เจ้าพนักงานตำรวจจึงจับกุมจำเลยทั้งสามดำเนินคดีนี้
มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในชั้นนี้เพียงว่า การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในส่วนที่เป็นความผิดฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นและฐานร่วมกันพยายามกรรโชกทรัพย์ ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยแล้วว่าเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่น ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 นั้น ความผิดฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นและฐานร่วมกันพยายามกรรโชกทรัพย์ดังกล่าวเป็นกรรมเดียวกับความผิดฐานร่วมกันแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานและกระทำการเป็นเจ้าพนักงานหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานตำรวจและกระทำการเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ โดยเข้าตรวจค้นห้องพักของผู้เสียหายทั้งสี่และรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 เมื่อพบเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำเลยที่ 1 ก็จัดทำบันทึกการจับกุมให้ผู้เสียหายทั้งสี่ลงลายมือชื่อ แล้วจำเลยทั้งสามร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายทั้งสี่ไว้ภายในห้องพักที่เกิดเหตุ และขู่เข็ญให้แจ้งญาตินำเงินไปมอบให้จำเลยทั้งสาม มิฉะนั้นจะส่งตัวไปดำเนินคดี เป็นการกระทำโดยมีเจตนาเดียวกันเพื่อให้ได้มาซึ่งเงินจากผู้เสียหายทั้งสี่ และเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องเชื่อมโยงกัน จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฟังขึ้น
อนึ่ง ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ.2560 มาตรา 4 ให้ยกเลิกอัตราโทษในมาตรา 145 วรรคหนึ่ง และมาตรา 337 วรรคหนึ่ง กับมาตรา 14 ให้ยกเลิกอัตราโทษในมาตรา 310 ทวิ และให้ใช้อัตราโทษใหม่แทน ปรากฏว่าโทษจำคุกตามกฎหมายเดิมและกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษจำคุกเท่ากัน ส่วนโทษปรับตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษปรับสูงกว่าโทษตามกฎหมายเดิม ต้องถือว่ากฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลยทั้งสาม จึงต้องใช้กฎหมายเดิมอันเป็นกฎหมายที่ใช้ขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลยทั้งสาม
พิพากษาแก้เป็นว่า ฐานร่วมกันแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานและกระทำการเป็นเจ้าพนักงาน ฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่น และฐานร่วมกันพยายามกรรโชกทรัพย์ เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 2 ปี เมื่อรวมกับโทษในความผิดฐานเสพยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 คนละ 3 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 2 ปี 3 เดือน เฉพาะจำเลยที่ 3 บวกโทษจำคุก 6 เดือน ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2331/2557 ของศาลชั้นต้น เข้ากับโทษของจำเลยที่ 3 ในคดีนี้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58 เป็นจำคุก 2 ปี 9 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9

Share