คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2243/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ผู้ค้ำประกันหลายคนที่เข้าเป็นผู้ค้ำประกันในหนี้รายเดียวกันซึ่งจะต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมนั้นไม่จำต้องเข้าเป็นผู้ค้ำประกันพร้อมกัน จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างโจทก์ จำเลยที่ 2 เข้าเป็นผู้ค้ำประกันการทำงานเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2521 จำเลยที่ 3เข้าเป็นผู้ค้ำประกันเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2524 โดยจำเลยที่ 3ค้ำประกันย้อนไปตั้งแต่วันที่จำเลยที่ 1 เข้าทำงาน การที่จำเลยที่ 1ปฏิบัติงานในทางการที่จ้างทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย 6 ครั้งความเสียหายดังกล่าวถือว่าเป็นหนี้รายเดียวกัน จำเลยที่ 2 และที่ 3จึงต้องรับผิดต่อโจทก์อย่างลูกหนี้ร่วม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของโจทก์ จำเลยที่ 2และจำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ในวงเงินคนละ 15,000 บาท เมื่อระหว่างวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2522 ถึงวันที่10 ธันวาคม 2525 จำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามทางการที่จ้างทำให้โจทก์และผู้อื่นได้รับความเสียหายรวม 6 ครั้ง เป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 21,000 บาท โจทก์ในฐานะนายจ้างได้จ่ายค่าเสียหายดังกล่าวแทนจำเลยที่ 1 ไปแล้ว และได้รับชดใช้จากจำเลยที่ 1 บางส่วนขอให้พิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชดใช้เงินจำนวน18,055.25 บาท โดยให้จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ชดใช้เงินคนละ15,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสามขาดนัดและขาดนัดพิจารณา ศาลให้พิจารณาชี้ขาดตัดสินคดีไปฝ่ายเดียว
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์จำนวน18,055.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับตั้งแต่วันฟ้อง (วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2536) จนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ร่วมกันรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 15,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “…ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า ที่ศาลแรงงานกลางให้จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ร่วมกันรับผิดชดใช้เงินจำนวน 15,000 บาท ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 682 วรรคสอง นั้นชอบหรือไม่พิเคราะห์แล้ว แม้จำเลยที่ 2 จะทำสัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.5เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2521 ส่วนจำเลยที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.6 เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2524 และความเสียหายที่จำเลยที่ 1 ได้กระทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายบางส่วนตามเอกสารหมาย จ.7 จ.9 จะเกิดขึ้นก่อนจำเลยที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.6 ก็ตาม แต่ในสัญญาเอกสารหมาย จ.6 ข้อ 1. มีว่า”เมื่อนายบุตร ไทยสง ได้เข้าทำงานในองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ไม่ว่าองค์การฯ จะบรรจุนายบุตร ไทยสง เข้าทำงานในตำแหน่งใดหน่วยงานใดขององค์การฯ) แล้ว ภายหลังได้หลบหลีกหนีหายไป หรือได้ฉ้อโกง ยักยอกหรือทำให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพได้รับความเสียหายด้วยประการใด ๆ ก็ดี ข้าพเจ้ายินยอมชดใช้หนี้สินหรือความเสียหายแทนนายบุตร ไทยสง เป็นจำนวนเงินไม่เกิน15,000 ฯลฯ” อันเป็นการค้ำประกันย้อนไปตั้งแต่วันที่จำเลยที่ 1เข้าทำงานกับโจทก์ เช่นเดียวกับ จำเลยที่ 2 ซึ่งทำสัญญาค้ำประกันไว้กับโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.5 หนี้ที่จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3ค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.5 และจ.6 จึงเป็นหนี้รายเดียวกันแม้จำเลยทั้งสองจะมิได้ค้ำประกันรวมกันก็ต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 682 วรรคสอง คำพิพากษาศาลแรงงานกลางชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share