คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8755/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามระเบียบการจ่ายเงินค่าบริการของโจทก์ระบุว่า ค่าบริการเป็นเงินที่โจทก์เรียกเก็บจากลูกค้าผู้มาใช้บริการในอัตราร้อยละ 10 จากยอดค่าใช้จ่ายต่อหนึ่งใบเสร็จรับเงิน โดยโจทก์ออกใบเสร็จรับเงินในนามโจทก์แล้วนำค่าบริการดังกล่าวมาแบ่งจ่ายให้แก่ลูกจ้างทุกคนเท่าๆ กัน เป็นประจำทุกเดือน ดังนั้น การที่ลูกจ้างของโจทก์จะได้รับเงินค่าบริการมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับจำนวนค่าใช้จ่ายของลูกค้าเป็นสำคัญ โจทก์เป็นผู้เรียกเก็บค่าบริการดังกล่าวจากลูกค้าแล้วนำมาจัดแบ่งให้ลูกจ้างเท่านั้น จึงเป็นกรณีที่โจทก์ทำแทนลูกจ้างเพื่อความสะดวกและเพื่อให้กิจการของโจทก์ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย แม้โจทก์จะนำเงินค่าบริการที่เก็บจากลูกค้าได้ไปใช้เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการลูกจ้างของโจทก์ด้วยก็ตาม ก็ไม่อาจทำให้เงินค่าบริการซึ่งเป็นเงินของลูกค้าที่มาใช้บริการแปรสภาพเป็นเงินของโจทก์ที่จ่ายให้แก่ลูกจ้างไปได้ เงินค่าบริการจึงมิใช่ค่าจ้างตามความหมายในมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 ที่จะต้องนำมาคำนวณจ่ายเงินสมทบกองทุนเงินทดแทน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยที่ 209/2556 ลงวันที่ 6 กันยายน 2556 ของจำเลย
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนที่ 209/2556 ลงวันที่ 6 กันยายน 2556
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 4 มีหนังสือที่ รง 0627/53628 ลงวันที่ 14 กันยายน 2555 แจ้งให้โจทก์ชำระเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนเพิ่มเติม 75,125 บาท พร้อมเงินเพิ่มตามกฎหมายร้อยละ 3 ต่อเดือน โจทก์ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน ซึ่งต่อมาคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนมีคำวินิจฉัยที่ 209/2556 ลงวันที่ 6 กันยายน 2556 ให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ โจทก์ได้รับแจ้งผลคำวินิจฉัยดังกล่าวเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2556 โจทก์เรียกเก็บเงินค่าบริการจากลูกค้าที่มาใช้บริการในอัตราร้อยละ 10 จากยอดค่าใช้จ่ายต่อหนึ่งใบเสร็จรับเงิน โดยโจทก์ออกใบเสร็จรับเงินในนามโจทก์ แล้วโจทก์นำเงินค่าบริการดังกล่าวมาแบ่งจ่ายให้ลูกจ้างทุกคนเท่า ๆ กันเป็นประจำทุกเดือน ตาม “ระเบียบการจ่ายเงินค่าบริการ” แล้ววินิจฉัยว่าเงินค่าบริการมิใช่ค่าจ้างที่จะต้องนำไปรวมคำนวณจ่ายเงินสมทบกองทุนเงินทดแทน
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า เงินค่าบริการเป็นค่าจ้างที่โจทก์ต้องนำมารวมคำนวณจ่ายเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความเป็นยุติตามที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมาว่า โจทก์เรียกเก็บเงินค่าบริการจากลูกค้าที่มาใช้บริการในอัตราร้อยละ 10 จากยอดค่าใช้จ่ายต่อหนึ่งใบเสร็จรับเงิน โดยโจทก์ออกใบเสร็จรับเงินในนามโจทก์แล้วโจทก์นำค่าบริการดังกล่าวมาแบ่งจ่ายให้แก่ลูกจ้างทุกคนเท่า ๆ กัน เป็นประจำทุกเดือนตามระเบียบการจ่ายเงินค่าบริการ ดังนั้น การที่ลูกจ้างของโจทก์จะได้รับเงินค่าบริการมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับจำนวนค่าใช้จ่ายของลูกค้าเป็นสำคัญ โจทก์เป็นผู้เรียกเก็บเงินค่าบริการดังกล่าวจากลูกค้าแล้วนำมาจัดแบ่งให้แก่ลูกจ้างเท่านั้น จึงเป็นกรณีที่โจทก์ทำแทนลูกจ้างเพื่อความสะดวกและเพื่อให้กิจการของโจทก์ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย แม้โจทก์จะนำเงินค่าบริการที่เก็บจากลูกค้าได้ไปใช้เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการลูกจ้างของโจทก์ด้วยก็ตาม ก็ไม่อาจทำให้เงินค่าบริการซึ่งเป็นเงินของลูกค้าที่มาใช้บริการแปรสภาพเป็นเงินของโจทก์ที่จ่ายให้แก่ลูกจ้างไปได้ เงินค่าบริการจึงมิใช่ค่าจ้างตามความหมายในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 ที่จะต้องนำมารวมคำนวณจ่ายเงินสมทบกองทุนเงินทดแทน ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share