คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10865/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

คำขอท้ายฟ้องของโจทก์ที่ขอให้พิพากษาว่า การออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4 – 01 ก.) ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และให้จำเลยที่ 5 เพิกถอน ส.ป.ก. 4 – 01 สำหรับที่ดินพิพาททั้งสองแปลงนั้น เมื่อหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินที่จำเลยที่ 5 ออกให้แก่โจทก์ถูกเพิกถอนแล้วทั้งสองฉบับ ไม่มีข้อโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์เกิดขึ้นตามกฎหมายแพ่ง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55
โจทก์บรรยายฟ้องว่า การที่จำเลยที่ 4 กล่าวหาว่าโจทก์บุกรุกทุ่งสงวนเลี้ยงสัตว์ควนหินตั้งอันเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ ทั้ง ๆ ที่ที่ดินดังกล่าวโจทก์ครอบครองทำประโยชน์ต่อเนื่องมาเป็นเวลาช้านานถือเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ในการที่โจทก์พึงมีสิทธิที่จะได้รับเอกสารสิทธิ น.ส. 3 ก. ตามประมวลกฎหมายที่ดิน หากไม่มีการโต้แย้งสิทธิโดยกล่าวหาว่าโจทก์บุกรุกที่สาธารณประโยชน์ โจทก์คงได้รับเอกสาร น.ส. 3 ก. ตามที่ได้ยื่นคำขอและคงไม่มีเหตุที่โจทก์จะต้องไปยื่นขอ ส.ป.ก. 4 – 01 นั้น เมื่อโจทก์ยื่นคำขอยกเลิกเรื่องออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์เองเนื่องจากได้นำที่ดินพิพาทไปขอออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4 – 01) แล้ว การที่จำเลยที่ 4 ดำเนินคดีต่อโจทก์จึงหาได้เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์แต่อย่างใดไม่
การที่โจทก์ถูกเพิกถอนหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4 – 01 ก.) ข้อโต้แย้งสิทธิของโจทก์คือโจทก์ขาดคุณสมบัติเนื่องจากโจทก์ไม่ได้เป็นเกษตรกร แต่ตามคำฟ้องโจทก์มิได้กล่าวอ้างยืนยันว่าโจทก์เป็นเกษตรกรแต่อย่างใด ส่วนที่โจทก์อ้างว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์นั้น การที่โจทก์สมัครใจยื่นคำขอเข้าทำประโยชน์ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินนั้นถือว่า โจทก์ยอมรับว่าจำเลยที่ 5 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 36 ทวิ เพราะหากที่ดินพิพาทยังเป็นของโจทก์อยู่จำเลยที่ 5 ไม่อาจนำมาดำเนินการปฏิรูปที่ดินได้ จนกว่าจะได้จัดซื้อหรือเวนคืนมาเป็นของจำเลยที่ 5 เสียก่อน ที่จำเลยที่ 5 อ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 5 จึงมิได้เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์แต่อย่างใดเช่นกัน
กรณีที่จะเป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 นั้น จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 3 ประการ ประการแรกคู่ความคดีหลังเป็นคู่ความเดียวกันกับคดีแรก ประการที่สอง คำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีแรกต้องถึงที่สุดก่อนฟ้องคดีหลัง ประการที่สาม ประเด็นข้อพิพาทในคดีแรกและคดีหลังเป็นอย่างเดียวกันทั้งได้มีการวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีแรกแล้ว จะขาดหลักเกณฑ์ประการใดประการหนึ่งไม่ได้ หลังจากจำเลยที่ 5 มีหนังสือแจ้งการสิ้นสิทธิเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทให้โจทก์และบริวารออกจากที่ดินพิพาท โจทก์จึงนำคดีไปฟ้องจำเลยที่ 5 ต่อศาลปกครองนครศรีธรรมราช และศาลดังกล่าวมีคำสั่งรับฟ้องในส่วนของจำเลยที่ 5 ที่ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งหรือมติของจำเลยที่ 5 ที่สั่งให้โจทก์และบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท ดังนี้ประเด็นข้อพิพาทของศาลดังกล่าวมีเพียงว่า คำสั่งของจำเลยที่ 5 ดังกล่าวชอบหรือไม่ ส่วนคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมมีประเด็นข้อพิพาทว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือไม่ จึงเป็นคนละประเด็นและคนละเขตอำนาจศาลกัน จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามข้อกฎหมายดังที่กล่าวมา ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 5 จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ
เดิมที่ดินพิพาททั้งสองแปลง จำเลยที่ 5 เคยออกหนังสืออนุญาตให้โจทก์เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4 – 01 ก.) ต่อมาคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพิจารณาคุณสมบัติของโจทก์แล้วเห็นว่าโจทก์ขาดคุณสมบัติเนื่องจากโจทก์ไม่ได้เป็นเกษตรกร จำเลยที่ 5 จึงมีอำนาจเพิกถอนหนังสืออนุญาตให้โจทก์เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4 – 01 ก.) ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงมีผลทำให้โจทก์ไม่มีสิทธิอยู่อาศัยในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงดังกล่าว ที่โจทก์อ้างว่า หากเห็นว่าโจทก์ไม่มีคุณสมบัติการเป็นเกษตรกร จำเลยที่ 5 ก็ชอบที่จะเพิกถอนและเรียกคืนหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4 – 01 ก.) เท่านั้น ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่โจทก์นั้นหาได้ไม่ เพราะที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 5 แต่ข้อเท็จจริงได้ความจาก ว. และ ส. อดีตเจ้าหน้าที่ปฏิรูปที่ดินจังหวัดภูเก็ต พยานจำเลยเบิกความยืนยันว่า ที่ดินพิพาทแปลงแรกอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินทั้งแปลง ส่วนที่ดินพิพาทแปลงที่ 2 ตั้งอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพียงบางส่วนเนื้อที่ 4 ไร่ 33 ตารางวา และอยู่นอกเขตปฏิรูปที่ดินเนื้อที่ 5 ไร่ 14 ตารางวา เป็นทุ่งสงวนเลี้ยงสัตว์มีสภาพเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทสำหรับพลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 4 ดังนั้น จำเลยที่ 4 และที่ 5 จึงมีสิทธิฟ้องแย้งขับไล่โจทก์ออกจากที่ดินพิพาทดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้พิพากษาว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทที่ปรากฏตามหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4 – 01 ก.) เลขที่ 188 และเลขที่ 208 โดยชอบด้วยกฎหมาย ที่ดินพิพาทไม่ได้เป็นที่สงวนเลี้ยงสัตว์ควนหินตั้งอันเป็นที่สาธารณประโยชน์ จำเลยที่ 4 ไม่มีสิทธิอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นทุ่งสงวนเลี้ยงสัตว์ซึ่งเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ โจทก์มีสิทธินำที่ดินพิพาทไปขอออกเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายที่ดินได้ ให้จำเลยที่ 2 หรือที่ 3 รับคำขอออกเอกสารสิทธิของโจทก์และให้จำเลยที่ 2 หรือที่ 3 ออกเอกสารสิทธิให้โจทก์ตามกฎหมาย กับพิพากษาว่าการออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4 – 01 ก.) ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้จำเลยที่ 5 เพิกถอนหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4 – 01 ก.) สำหรับที่ดินพิพาททั้งสองแปลง หากจำเลยทั้งห้าไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยทั้งห้าให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง และเฉพาะจำเลยที่ 4 และที่ 5 ฟ้องแย้งขอให้ขับไล่โจทก์และบริวารออกจากที่ดินพิพาททั้งสองแปลง
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 4 และที่ 5 ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่โจทก์และบริวารออกจากที่ดินตามหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4 – 01) เลขที่ 188 อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต และตามหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4 – 01 ก.) เลขที่ 208 อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต ภายในเขตปฏิรูปที่ดินตามแผนที่แสดงตำแหน่งแปลงที่ดินและให้โจทก์และบริวารออกจากที่ดินทุ่งสงวนเลี้ยงสัตว์ควนหินตั้งตามแนวเขตที่ดินที่ระบายแรเงาสีฟ้าตามแผนที่แสดงตำแหน่งแปลงที่ดินกับให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องแย้งแทนจำเลยที่ 4 และที่ 5 โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมสำหรับฟ้องเดิมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ถึงแก่ความตาย นายเฉลิมพล ทายาทของโจทก์ ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาต
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามทางนำสืบของโจทก์และจำเลยทั้งห้าว่า ที่ดินพิพาทคือที่ดิน 2 แปลง ตั้งอยู่ตำบลป่าตอง อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต โดยที่ดินแปลงหมายเลข 2 อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเต็มทั้งแปลงมีเนื้อที่ประมาณ 21 ไร่ 2 งาน 29 ตารางวา ส่วนที่ดินแปลงหมายเลข 1 อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเนื้อที่ประมาณ 4 ไร่ 33 ตารางวา และอยู่นอกเขตปฏิรูปที่ดินเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ 14 ตารางวา โจทก์อ้างว่าเดิมที่ดินทั้งสองแปลงเป็นที่ดินแปลงเดียวกัน ต่อมามีถนนตัดผ่านจึงแบ่งเป็น 2 แปลง โจทก์ได้ที่ดินพิพาทมาจากนายหริม บิดาภริยายกให้ตั้งแต่ปี 2505 โดยไม่มีหลักฐานอื่นใดเกี่ยวกับที่ดินนอกจากหลักฐานเสียภาษีบำรุงท้องที่ ปี 2521 โจทก์ขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์สำหรับที่ดินพิพาท แต่ทางราชการไม่ออกให้โดยอ้างว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ต่อมาปี 2536 โจทก์ขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์สำหรับที่ดินพิพาทอีกครั้งหนึ่ง ระหว่างนั้นทางราชการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในท้องที่ตำบลเชิงทะเล ตำบลศรีสุนทร อำเภอถลาง ตำบลกมลา ตำบลกะทู้ ตำบลป่าตอง อำเภอกะทู้ และตำบลเกาะแต้ว ตำบลรัษฎา ตำบลวิชิต ตำบลกะรน ตำบลฉลอง ตำบลราไวย์ อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ.2537 และผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตในฐานะประธานกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดภูเก็ต ออกประกาศคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดภูเก็ต ฉบับที่ 2/2537 เรื่องให้เกษตรกรยื่นคำร้องขอเข้าทำประโยชน์ในที่ดินโครงการปฏิรูปที่ดินป่าเทือกเขานาคเกิด ป่าเทือกเขากมลา อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต วันที่ 6 ตุลาคม 2537 โจทก์จึงยื่นคำขอเข้าทำประโยชน์ในที่ดินเขตปฏิรูปที่ดินสำหรับที่ดินพิพาททั้งสองแปลง แปลงแรกเนื้อที่ 9 ไร่ 47 ตารางวา แปลงที่สองเนื้อที่ 21 ไร่ 2 งาน 29 ตารางวา ประเภทสิทธิที่ประสงค์เช่าซื้อ โดยโจทก์ระบุในคำขอดังกล่าวว่าเป็นที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินโครงการป่าเทือกเขากมลา คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดภูเก็ตอนุมัติให้โจทก์เข้าทำประโยชน์ในที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าว และหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4 – 01 ก.) เลขที่ 188 เนื้อที่ 21 ไร่ 2 งาน 29 ตารางวา และเลขที่ 208 เนื้อที่ 9 ไร่ 47 ตารางวา เมื่อได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินแล้วโจทก์จึงยื่นคำขอยกเลิกเรื่องออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทต่อทางราชการเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2538 โดยอ้างว่าเนื่องจากได้นำไปออก ส.ป.ก. 4 – 01 แล้ว ต่อมาโจทก์ขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทต่อนายอำเภอกะทู้ แต่นายอำเภอกะทู้ไม่ดำเนินการให้ โจทก์จึงฟ้องนายอาทร นายอำเภอกะทู้ให้ดำเนินการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่โจทก์ ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลล่างทั้งสองที่ให้ยกฟ้องโจทก์ โดยศาลฎีกาให้เหตุผลว่า เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าที่ดินทั้งสองแปลงที่โจทก์ขอให้มีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นที่ดินที่ตั้งอยู่บนเกาะ การออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ย่อมตกอยู่ภายใต้บังคับของกฎกระทรวง ฉบับที่ 43 (พ.ศ.2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 กล่าวคือ โจทก์ต้องมีหลักฐานแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) มีใบจอง ใบเหยียบย่ำ หนังสือรับรองการทำประโยชน์ โฉนดตราจอง หรือตราจองที่ตราว่าได้ทำประโยชน์แล้ว อย่างใดอย่างหนึ่งมาแสดง หรือโจทก์ต้องเป็นผู้มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ หรือที่ดินที่คณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติได้อนุมัติให้จัดแก่ประชาชน หรือที่ดินซึ่งได้มีการจัดหาผลประโยชน์ตามมาตรา 10 และมาตรา 11 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน โดยคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติได้อนุมัติแล้ว แต่ตามข้อเท็จจริงในคดีโจทก์หาได้มีหลักฐานดังกล่าว หรือหาได้เป็นผู้มีสิทธิในที่ดินตามที่กฎหมายกำหนดไว้ดังกล่าวแต่อย่างใดไม่ แม้โจทก์จะได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินทั้งสองแปลงสืบต่อกันมาตั้งแต่ก่อนพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 ประกาศใช้มาจนถึงปัจจุบัน และเป็นกรณีที่มิได้แจ้งการครอบครองที่ดินตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 อันอาจทำให้โจทก์มีสิทธิขอให้มีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินได้เป็นการเฉพาะรายตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 59 ทวิ ก็ตาม แต่การพิจารณาว่าที่ดินประเภทใดจะออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้ได้หรือไม่นั้น จะต้องอยู่ในบังคับของกฎกระทรวง ฉบับที่ 43 (พ.ศ.2537) ด้วย เมื่อปรากฏว่าที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นที่เกาะ และมิได้เป็นประเภทที่ดินซึ่งสามารถจะขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ได้ตามกฎกระทรวงฉบับดังกล่าวแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้จำเลยออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวที่จำเลยไม่ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินให้โจทก์จึงชอบแล้ว ทั้งนี้ ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6193/2540 ต่อมาวันที่ 13 กันยายน 2547 สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดภูเก็ตมีหนังสือแจ้งมติการสิ้นสิทธิการเข้าทำประโยชน์ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงซึ่งเป็นที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินและให้เพิกถอนเอกสาร ส.ป.ก. 4 – 01 ทั้งสองฉบับของโจทก์ เนื่องจากโจทก์มิได้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก ขาดคุณสมบัติการเป็นเกษตรกร วันที่ 2 ธันวาคม 2547 โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 5 ในคดีนี้กับพวกต่อศาลปกครองจังหวัดนครศรีธรรมราช ขอให้ศาลดังกล่าวเพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องในส่วนที่สั่งให้โจทก์และบริวารออกจากที่ดิน ส.ป.ก. 4 – 01 แปลงเลขที่ 208 เนื้อที่ 9 ไร่ 47 ตารางวา และแปลงเลขที่ 188 เนื้อที่ 21 ไร่ 2 งาน 29 ตารางวา และให้พิพากษาว่า การออก ส.ป.ก. 4 – 01 ในที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้เพิกถอนเอกสาร ส.ป.ก. 4 – 01 ทั้งสองฉบับเสีย กับให้พิพากษาว่า โจทก์เป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาททั้งสองแปลงโดยชอบด้วยกฎหมาย ศาลปกครองนครศรีธรรมราชรับคำฟ้องเฉพาะคำขอแรกไว้พิจารณา ส่วนคำขอที่สองและที่สามเป็นคดีพิพาทอันเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ศาลปกครองนครศรีธรรมราช จึงไม่รับคำฟ้องในส่วนคำขอที่สองและที่สาม โจทก์จึงฟ้องจำเลยทั้งห้าเป็นคดีนี้
ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยก่อนว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่ ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ขณะที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาคดีนี้ตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 17) พ.ศ.2558 สำหรับคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ที่ขอให้พิพากษาว่า การออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4 – 01 ก.) ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และให้จำเลยที่ 5 เพิกถอน ส.ป.ก. 4 – 01 สำหรับที่ดินพิพาททั้งสองแปลงนั้น เห็นว่า หนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินที่จำเลยที่ 5 ออกให้แก่โจทก์ถูกเพิกถอนแล้วทั้งสองฉบับ ไม่มีข้อโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์เกิดขึ้นตามกฎหมายแพ่ง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ส่วนคำขอที่ให้พิพากษาว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาททั้งสองแปลง ให้จำเลยที่ 2 หรือที่ 3 ออกเอกสารสิทธิให้โจทก์ตามกฎหมายนั้น เห็นว่า ที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า การที่จำเลยที่ 4 กล่าวหาว่าโจทก์บุกรุกทุ่งสงวนเลี้ยงสัตว์ควนหินตั้งอันเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ ทั้ง ๆ ที่ที่ดินดังกล่าวโจทก์ครอบครองทำประโยชน์ต่อเนื่องมาเป็นเวลาช้านานถือเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ในการที่โจทก์พึงมีสิทธิที่จะได้รับเอกสารสิทธิ น.ส. 3 ก. ตามประมวลกฎหมายที่ดิน หากไม่มีการโต้แย้งสิทธิโดยกล่าวหาว่าโจทก์บุกรุกที่สาธารณประโยชน์ โจทก์คงได้รับเอกสาร น.ส. 3 ก. ตามที่ได้ยื่นคำขอและคงไม่มีเหตุที่โจทก์จะต้องไปยื่นขอ ส.ป.ก. 4 – 01 นั้น เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ยื่นคำขอยกเลิกเรื่องออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์เองเนื่องจากได้นำที่ดินพิพาทไปขอออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4 – 01) การที่จำเลยที่ 4 ดำเนินคดีต่อโจทก์จึงหาได้เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์แต่อย่างใดไม่ ส่วนการที่โจทก์ถูกเพิกถอนหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4 – 01 ก.) ทั้งสองฉบับตามข้อโต้แย้งสิทธิของโจทก์คือโจทก์ขาดคุณสมบัติเนื่องจากโจทก์ไม่ได้เป็นเกษตรกร แต่ตามคำฟ้องโจทก์มิได้กล่าวอ้างยืนยันว่าโจทก์เป็นเกษตรกรแต่อย่างใด ส่วนที่โจทก์อ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์นั้น การที่โจทก์สมัครใจยื่นคำขอเข้าทำประโยชน์ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินนั้นถือว่า โจทก์ยอมรับว่าจำเลยที่ 5 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 36 ทวิ เพราะหากที่ดินพิพาทยังเป็นของโจทก์อยู่จำเลยที่ 5 ไม่อาจนำมาดำเนินการปฏิรูปที่ดินได้ จนกว่าจะได้จัดซื้อหรือเวนคืนมาเป็นของจำเลยที่ 5 เสียก่อน ที่จำเลยที่ 5 อ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 5 จึงมิได้เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์แต่อย่างใดเช่นกัน
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการแรกตามฎีกาโจทก์มีว่า จำเลยที่ 5 ฟ้องแย้งขับไล่โจทก์เป็นฟ้องซ้ำกับคดีที่โจทก์ฟ้องต่อศาลปกครองนครศรีธรรมราชหรือไม่ เห็นว่า กรณีที่จะเป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 นั้น จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 3 ประการ ประการแรกคู่ความคดีหลังเป็นคู่ความเดียวกันกับคดีแรก ประการที่สอง คำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีแรกต้องถึงที่สุดก่อนฟ้องคดีหลัง ประการที่สาม ประเด็นข้อพิพาทในคดีแรกและคดีหลังเป็นอย่างเดียวกันทั้งได้มีการวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีแรกแล้ว จะขาดหลักเกณฑ์ประการใดประการหนึ่งไม่ได้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า หลังจากจำเลยที่ 5 มีหนังสือแจ้งการสิ้นสิทธิเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทให้โจทก์และบริวารออกจากที่ดินพิพาท โจทก์จึงนำคดีไปฟ้องจำเลยที่ 5 ต่อศาลปกครองนครศรีธรรมราช และศาลดังกล่าวมีคำสั่งรับฟ้องในส่วนของจำเลยที่ 5 ที่ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งหรือมติของจำเลยที่ 5 ที่สั่งให้โจทก์และบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท ดังนี้ประเด็นข้อพิพาทของศาลดังกล่าวมีเพียงว่า คำสั่งของจำเลยที่ 5 ดังกล่าวชอบหรือไม่ ส่วนคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมมีประเด็นข้อพิพาทว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือไม่ จึงเป็นคนละประเด็นและคนละเขตอำนาจศาลกัน จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามข้อกฎหมายดังที่กล่าวมา ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 5 จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายตามฎีกาโจทก์มีว่า จำเลยที่ 4 และที่ 5 มีสิทธิฟ้องแย้งขับไล่โจทก์ออกจากที่ดินพิพาทหรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้วฟังได้ว่า เดิมที่ดินพิพาททั้งสองแปลง จำเลยที่ 5 เคยออกหนังสืออนุญาตให้โจทก์เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4 – 01 ก.) ต่อมาคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพิจารณาคุณสมบัติของโจทก์แล้วเห็นว่าโจทก์ขาดคุณสมบัติ เนื่องจากโจทก์ไม่ได้เป็นเกษตรกร จำเลยที่ 5 จึงมีอำนาจเพิกถอนหนังสืออนุญาตให้โจทก์เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4 – 01 ก.) ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงมีผลทำให้โจทก์ไม่มีสิทธิอยู่อาศัยในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงดังกล่าว ที่โจทก์อ้างว่าหากเห็นว่าโจทก์ไม่มีคุณสมบัติการเป็นเกษตรกร จำเลยที่ 5 ก็ชอบที่จะเพิกถอนและเรียกคืนหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4 – 01 ก.) เท่านั้น ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่โจทก์นั้นหาได้ไม่ เพราะที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 5 แต่ข้อเท็จจริงได้ความจากนายวรชาติ และนายสุทธวัชร อดีตเจ้าหน้าที่ปฏิรูปที่ดินจังหวัดภูเก็ต พยานจำเลยเบิกความยืนยันว่า ที่ดินพิพาทแปลงแรกอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินทั้งแปลง ส่วนที่ดินพิพาทแปลงที่ 2 ตั้งอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพียงบางส่วนเนื้อที่ 4 ไร่ 33 ตารางวา และอยู่นอกเขตปฏิรูปที่ดินเนื้อที่ 5 ไร่ 14 ตารางวา เป็นทุ่งสงวนเลี้ยงสัตว์มีสภาพเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทสำหรับพลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 4 ดังนั้น จำเลยที่ 4 และที่ 5 จึงมีสิทธิฟ้องแย้งขับไล่โจทก์ออกจากที่ดินพิพาทดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งในส่วนฟ้องโจทก์และฟ้องแย้งในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share