คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2521/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์มิได้เสียค่าอ้างเอกสาร เพราะไม่ทราบว่ามีค่าอ้างเอกสารค้างชำระอยู่ ครั้นเมื่อโจทก์ทราบก็รีบจัดการชำระค่าอ้างเอกสารก่อนยื่นคำแก้อุทธรณ์และศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รับไว้ อันเป็นการแก้ไขข้อผิดหลงให้ถูกต้องแล้วไม่ทำให้การรับฟังพยานเอกสารดังกล่าวของโจทก์เสียไป
โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์ได้รับเช็คตามฟ้องจากจำเลยทั้งสามเพื่อชำระหนี้ให้โจทก์ โจทก์สลักหลังเช็คนั้นไปขายลดแก่ธนาคารต่าง ๆ เมื่อเช็คดังกล่าวถึงกำหนด ธนาคารที่รับซื้อลดเช็คนำไปเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินทุกฉบับ โจทก์ได้ใช้เงินตามเช็คนั้นให้แก่ธนาคารผู้ทรงเช็คเรียบร้อยแล้วและได้รับเช็คคืนมา พร้อมทั้งมีคำขอบังคับให้จำเลยรับผิดชำระเงินตามเช็คพร้อมดอกเบี้ย จึงเป็นคำฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 172 วรรคสอง แล้ว ส่วนข้อที่ว่าโจทก์นำเงินไปชำระแก่ธนาคารและรับเช็คคืนมาเมื่อวันที่เท่าใดเป็นเพียงรายละเอียดที่สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาท ซึ่งเป็นเช็คสั่งจ่ายเงินสดหรือสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ โจทก์สลักหลังเช็คพิพาทนำไปขายลดแก่ธนาคารต่าง ๆ ธนาคารผู้รับซื้อลดเช็คไว้ย่อมเป็นผู้ทรงเช็ค การสลักหลังของโจทก์จึงเป็นเพียงประกัน (อาวัล)สำหรับผู้สั่งจ่าย ตาม ป.พ.พ.มาตรา 921 ประกอบมาตรา 989 โจทก์อยู่ในฐานะผู้ค้ำประกันหนี้ตามเช็คพิพาทที่จำเลยจะต้องรับผิดต่อผู้ทรงเท่านั้น หาได้ถือว่าเป็นผู้สลักหลังตามกฎหมายไม่ เมื่อโจทก์ได้ชำระหนี้ตามเช็คพิพาทแทนจำเลยไปแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิไล่เบี้ยเอาจากจำเลยตาม ป.พ.พ.มาตรา 940 วรรคสาม ประกอบมาตรา 989 กรณีดังกล่าวนี้ไม่ปรากฏว่ามีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะให้ต้องบังคับตามสิทธิเรียกร้องภายในกำหนดเวลาเท่าใด สิทธิของโจทก์ในฐานะผู้ไล่เบี้ยจึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ.มาตรา 193/30 หาใช่มีอายุความ 6 เดือน ตามป.พ.พ.มาตรา 1003 ไม่
ฟ้องโจทก์บรรยายว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันสั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งหกฉบับรวมเป็นเงิน 1,757,500 บาท ชำระหนี้ให้โจทก์ แม้จำเลยที่ 1และที่ 2 ให้การต่อสู้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระหนี้ตามเช็คพิพาททั้งหกฉบับแก่โจทก์ไปแล้วบางส่วนเป็นจำนวนเงิน 670,603.56 บาท โดยมิได้ให้การต่อสู้ว่าจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระไปนั้นเป็นเงินค่าดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดก็ตาม แต่ปัญหาว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องเรียกเงินที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 อ้างว่าเป็นค่าดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ทั้งปัญหาดังกล่าวเกิดจากการนำสืบของโจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นข้อเท็จจริงในกระบวนพิจารณาโดยชอบแม้ไม่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็มีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาเป็นประเด็นขึ้นมาได้ในชั้นอุทธรณ์และฎีกาได้

Share