คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2433/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์และจำเลยทำสัญญากู้เงินกันไว้เป็นหลักฐานโดยจำเลยยอมเสียดอกเบี้ยให้โจทก์ในอัตราสูงสุดที่ธนาคารโจทก์กำหนดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งขณะทำสัญญา อัตราสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไปในอัตราร้อยละ 18.75 ต่อปี และอัตราสูงสุดหากจำเลยประพฤติผิดเบี้ยปรับในสัญญาหรือผิดนัดไม่ชำระหนี้ในอัตราร้อยละ 19.75 ต่อปี จึงเป็นข้อตกลงกันไว้ล่วงหน้าหากจำเลยไม่ชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ จำเลยยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นได้ เข้าลักษณะเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 เมื่อศาลเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยอันเป็นเบี้ยปรับสูงเกินส่วนก็ปรับลดลงมาเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง
การที่โจทก์เป็นสถาบันการเงินมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากลูกหนี้ในอัตราสูงสุดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและ พ.ร.บ.ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินฯ โดยไม่อยู่ภายใต้บังคับตามบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 654 ไม่ทำให้ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่กำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าไม่เป็นเบี้ยปรับ แต่ก็ไม่มีบทบัญญัติใดให้อำนาจศาลที่จะงดเบี้ยปรับเสียทั้งหมด ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 8.75 ต่อปีของต้นเงิน เท่ากับอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไปอันเป็นอัตราปกติที่จำเลยต้องชำระให้แก่โจทก์ก่อนผิดนัด จึงมีผลเท่ากับเป็นการงดเบี้ยที่จำเลยต้องรับผิดชำระให้แก่โจทก์เสียทั้งสิ้นซึ่งไม่ต้องด้วยเจตนารมณ์แห่งกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 350,756.05 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 300,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้แก่โจทก์เสร็จสิ้น หากจำเลยไม่ชำระหนี้หรือชำระไม่ครบถ้วน ให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 8.75 ต่อปี แต่ไม่เกินอัตราดอกเบี้ยตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันที่ 29 เมษายน 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ถ้าจำเลยไม่ชำระหนี้หรือชำระหนี้ไม่ครบถ้วนให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 15660 ตำบลท่าพลับ อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ดังกล่าว หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน
โจทก์ยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่ง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปรากฏว่าโจทก์ยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาซึ่งศาลชั้นต้นจะต้องพิจารณาว่าเป็นอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายและสั่งอนุญาตให้ผู้อุทธรณ์ยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาได้หรือไม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่ง แต่ศาลชั้นต้นสั่งในคำร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาของโจทก์เพียงว่ารับคำร้อง สำเนาให้จำเลยจะคัดค้านหรือไม่ หากจะคัดค้านให้ยื่นภายใน 15 วัน นับแต่วันรับหมาย ให้โจทก์นำส่งหมายภายใน 15 วัน การส่งหมายไม่มีผู้รับโดยชอบให้ปิด และในวันเดียวกันนั้นศาลชั้นต้นสั่งในอุทธรณ์ว่าโจทก์ยื่นอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายรับเป็นอุทธรณ์ของโจทก์ สำเนาให้แก้โดยให้โจทก์นำส่งภายใน 7 วัน การส่งหมายให้จำเลยไม่มีผู้รับโดยชอบให้ปิด จำเลยมิได้คัดค้านคำร้องภายในกำหนดเวลายื่นคำแก้อุทธรณ์ ศาลชั้นต้นสั่งให้ส่งสำนวนมายังศาลฎีกา เห็นว่า แม้ศาลชั้นต้นจะมิได้สั่งอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา แต่เมื่อจำเลยไม่คัดค้านคำร้องขออุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาภายในกำหนดเวลาแก้อุทธรณ์ ศาลชั้นต้นสั่งให้ส่งสำนวนมายังศาลฎีกา พออนุโลมได้ว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่ง แล้ว
มีปัญหาข้อกฎหมายที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์โจทก์ว่า การกำหนดอัตราดอกเบี้ยของศาลชั้นต้นดังกล่าวขัดต่อบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่ง หรือไม่ เห็นว่า การที่ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่าดอกเบี้ยที่โจทก์ได้เรียกเก็บจากจำเลยหลายอัตราตามที่โจทก์และจำเลยตกลงตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ดังนั้น โจทก์จึงเปลี่ยนแปลงดอกเบี้ยที่คิดจากจำเลยได้ แต่โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราลูกหนี้ที่ผิดนัด ดังนั้น การคิดดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวจึงเป็นการคิดดอกเบี้ยในลักษณะที่เป็นเบี้ยปรับ และศาลชั้นต้นเห็นว่าโจทก์คิดเป็นเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วนจึงให้ลดลงมาเป็นอัตราร้อยละ 8.75 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกเก็บจากจำเลยก่อนเลิกสัญญาจากต้นเงินจำนวน 300,000 บาท นั้น ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์และจำเลยได้ทำสัญญากู้เงินกันไว้เป็นหลักฐานโดยจำเลยยอมเสียดอกเบี้ยให้โจทก์ในอัตราสูงสุดที่ธนาคารโจทก์กำหนดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งขณะทำสัญญานี้อัตราสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไปในอัตราร้อยละ 18.75 ต่อปี และอัตราสูงสุดหากจำเลยประพฤติผิดเงื่อนไขในสัญญาหรือผิดนัดไม่ชำระหนี้ในอัตราร้อยละ 19.75 ต่อปี จึงเป็นข้อตกลงกันไว้ล่วงหน้าว่าหากจำเลยไม่ชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ จำเลยยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นได้ จึงเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 เมื่อศาลเห็นว่า อัตราดอกเบี้ยอันเป็นเบี้ยปรับนั้นสูงเกินส่วนก็ปรับลดลงมาเป็นจำนวนพอสมควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์เป็นสถาบันการเงินมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากลูกหนี้ในอัตราสูงสุดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและพระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ.2523 โดยไม่อยู่ภายใต้บังคับตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 ไม่ทำให้ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่กำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าไม่เป็นเบี้ยปรับ แต่ก็ไม่มีบทบัญญัติใดให้อำนาจศาลที่จะงดเบี้ยปรับเสียทั้งหมด ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 8.75 ต่อปี จากต้นเงิน 300,000 บาท เท่ากับอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไป อันเป็นอัตราปกติที่จำเลยต้องชำระให้แก่โจทก์ก่อนผิดนัดจึงมีผลเท่ากับเป็นการงดเบี้ยปรับที่จำเลยต้องรับผิดชำระให้แก่โจทก์เสียทั้งสิ้นไม่ต้องด้วยเจตนารมณ์ของกฎหมาย ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียใหม่ให้ถูกต้อง ฎีกาโจทก์ฟังขึ้นในส่วนนี้”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 300,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share