คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10384/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การแจ้งข้อหาและการสอบปากคำจำเลยในชั้นสอบสวนแม้มิได้กระทำต่อหน้าที่ปรึกษากฎหมายตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวฯ พ.ศ.2553 มาตรา 75 วรรคสอง โดยกระทำต่อหน้าทนายความซึ่งไม่ผ่านการอบรมเป็นที่ปรึกษากฎหมายของศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง แต่ก็มีผลเพียงทำให้คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226 ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวฯ พ.ศ.2553 มาตรา 6 เท่านั้น ไม่ถึงขนาดเป็นเหตุให้การสอบสวนของพนักงานสอบสวนเสียไป กรณีถือได้ว่าพนักงานสอบสวนได้มีการสอบสวนความผิดในคดีนี้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 100/1, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32 ริบเมทแอมเฟตามีนของกลางที่เหลือจากการตรวจพิสูจน์
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสอง ขณะกระทำความผิดจำเลยอายุ 15 ปีเศษ รู้สึกผิดชอบแล้ว สมควรพิพากษาลงโทษ ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 จำคุก 6 ปี และปรับ 300,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง เห็นควรลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 ปี และปรับ 200,000 บาท อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 142 (1) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 2 (จังหวัดราชบุรี) มีกำหนด 4 ปี หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้ฝึกอบรมต่ออีก 1 ปี ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 145 วรรคหนึ่ง หากจำเลยมีอายุครบยี่สิบสี่ปีบริบูรณ์ก่อนครบกำหนดระยะเวลาฝึกอบรมให้ส่งตัวจำเลยไปจำคุกเท่ากับระยะเวลาฝึกอบรมที่เหลือ ริบเมทแอมเฟตามีนของกลางที่เหลือจากการตรวจพิสูจน์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำคุก 4 ปี เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งไปควบคุมเพื่อฝึกอบรม มีกำหนด 4 ปี ต้องถือว่าศาลชั้นต้นมิได้พิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยเกิน 5 ปี ดังนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 183 ที่จำเลยฎีกาว่าไม่ได้กระทำความผิดตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้น เป็นการฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย แต่ที่จำเลยฎีกาว่า การสอบสวนไม่ชอบเพราะไม่ได้จัดให้มีที่ปรึกษากฎหมายเข้าร่วมฟังการสอบสวนด้วยนั้น เป็นการโต้แย้งเรื่องอำนาจฟ้อง ซึ่งเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน เห็นว่า แม้การแจ้งข้อหาและการสอบปากคำจำเลย ในชั้นสอบสวนจะมิได้กระทำต่อหน้าที่ปรึกษากฎหมายตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 75 วรรคสอง โดยกระทำต่อหน้านางสาวสิริกร ทนายความซึ่งไม่ผ่านการอบรมเป็นที่ปรึกษากฎหมายของศาลเยาวชนและครอบครัวกลางแต่ก็มีผลเพียงทำให้คำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226 ประกอบพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 เท่านั้น ไม่ถึงขนาดเป็นเหตุให้การสอบสวนของพนักงานสอบสวนเสียไปทั้งหมด กรณีถือได้ว่าพนักงานสอบสวนได้มีการสอบสวนความผิดในคดีนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share