คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3212/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การเรียกเอาดอกเบี้ยค้างส่งมีกำหนดอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 166 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5ทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์และรับเงินครบถ้วนเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม2518 โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ครั้นวันที่ 1 ธันวาคม 2526จำเลยที่ 4 ที่ 5 ทำสัญญารับใช้หนี้เงินกู้โดยยอมชำระดอกเบี้ยค้างส่งทั้งหมด การที่โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2527 คดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 ที่ 5 เกี่ยวกับหนี้ดอกเบี้ยค้างส่งจึงไม่ขาดอายุความ ส่วนจำเลยที่ 1 มิได้ทำสัญญารับใช้หนี้เงินกู้ดังกล่าวด้วย จึงไม่ต้องผูกพันโดยสัญญาดังกล่าว โจทก์มีสิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยค้างส่งจากจำเลยที่ 1 ได้เพียงภายใน 5 ปีนับแต่วันฟ้องย้อนหลังลงไป อายุความฟ้องร้องเรียกคืนเงินกู้ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น จึงกำหนด 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2518 จำเลยที่ 1ทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ 7,000 บาท ตกลงเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ12 ต่อปี กำหนดชำระเงินต้นคืนพร้อมดอกเบี้ยให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 31 มีนาคม 2519 และวันเดียวกันนั้นจำเลยทั้งห้าทำสัญญาผูกพันตนรับผิดในหนี้เงินกู้ดังกล่าวอย่างลูกหนี้ร่วมต่อโจทก์ต่อมาวันที่ 1 ธันวาคม 2526 จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ได้ร่วมกันทำสัญญากับโจทก์รับว่ายังคงเป็นหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยตามสัญญากู้เงินตั้งแต่กู้เงินไปจากโจทก์ จำเลยที่ 1 ไม่เคยชำระต้นเงินให้โจทก์เพียงแต่ชำระดอกเบี้ยให้โจทก์จำนวน 998.25 บาท จำเลยที่ 1 เป็นหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยโจทก์ถึงวันฟ้อง 14,044.50 บาท ขอศาลบังคับให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ร่วมกันชำระเงิน 14,044.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปีของต้นเงิน 7,000 บาท นับตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 1รับผิดร่วมกับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 เพื่อชำระเงินให้แก่โจทก์เฉพาะต้นเงิน 7,000 บาท กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปีนับตั้งแต่วันถัดจากวันรับเงินกู้จนกว่าชำระเสร็จ หักด้วยเงิน998.25 บาท แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 ให้การว่าสัญญากู้ตามฟ้อง โจทก์ไม่ได้ใช้สิทธิเรียกร้องนับตั้งแต่วันที่1 เมษายน 2519 จนบัดนี้เกินกว่า 5 ปีแล้ว เป็นอันขาดอายุความจำเลยที่ 5 ไม่ได้ทำสัญญากู้ตามฟ้อง ขอศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์จำเลยที่ 2 และที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ ถึงวันนัดสืบพยานโจทก์จำเลยที่ 2 และที่ 3 มาศาล แถลงยอมรับข้อเท็จจริงตามฟ้องไม่ต่อสู้คดี จำเลยที่ 1 ขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ถึงจำเลยที่ 5 ร่วมกันชำระเงิน 14,044.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 14 ต่อปี ของต้นเงิน 7,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดเฉพาะต้นเงิน7,000 บาท กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี นับแต่วันที่ 20สิงหาคม 2518 ถึงวันที่ 20 สิงหาคม 2523 หักด้วยเงิน 998.25 บาทแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์และฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง คงมีปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 ฎีกาว่า สิทธิเรียกร้องต้นเงินและดอกเบี้ยตามหนังสือกู้เงินระยะสั้นเพื่อผลิตผลหลักและรับรองรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกัน ตามเอกสารหมาย จ.3 ข้อตกลงต่อท้ายหนังสือกู้ระยะสั้นเพื่อผลิตผลหลักตามเอกสารหมาย จ.5 และสัญญารับใช้หนี้เงินกู้ตามเอกสารหมายจ.7 ที่โจทก์นำมาฟ้องคดีขาดอายุความแล้ว คดีได้ความจากข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ฟังมาจากพยานหลักฐานในสำนวนว่าจำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 ได้ทำหนังสือกู้เงินระยะสั้นเพื่อผลิตผลหลักและรับรองรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามเอกสารหมาย จ.3 และจำเลยที่ 1 รับเงินที่กู้ไปจากโจทก์จำนวน 7,000 บาท ตามใบรับเงินกู้เอกสารหมาย จ.4 ต่อมาเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2524จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ได้ทำข้อตกลงท้ายหนังสือสัญญากู้เงินระยะสั้นเพื่อผลิตผลหลักตามเอกสารหมาย จ.5 ยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยเพิ่ม ครั้นวันที่ 1 ธันวาคม 2526 จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ได้ร่วมกันทำสัญญารับใช้หนี้เงินกู้ดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยที่ค้างชำระตามสัญญารับใช้หนี้เงินกู้เอกสารหมาย จ.7 ศาลฎีกาเห็นว่า หนังสือกู้เงินระยะสั้นเพื่อผลิตผลหลักปอและรับรองรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกันตามเอกสารหมาย จ.3 ข้อ 11 มีข้อความว่าผู้กู้สัญญาชำระคืนเงินกู้ตามหนังสือกู้นี้พร้อมทั้งดอกเบี้ยแก่ธนาคารให้เสร็จภายในวันที่ 31 มีนาคม 2514 แสดงว่าจำเลยทั้งห้าเป็นลูกหนี้ตามสัญญาเงินกู้ ซึ่งอายุความการฟ้องร้องเรียกคืนเงินกู้นี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น จึงมีกำหนดสิบปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 นับตั้งแต่วันที่ 1เมษายน 2519 โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2527 คดีโจทก์สำหรับต้นเงิน 7,000 บาทจึงไม่ขาดอายุความ แต่การที่จำเลยที่ 4 ที่ 5 ทำสัญญารับใช้หนี้เงินกู้ตามเอกสารหมาย จ.7 โดยยอมชำระดอกเบี้ยถึงวันทำสัญญาดังกล่าวเป็นเงิน 6,252.25 บาท ซึ่งเป็นดอกเบี้ยค้างส่งและมีอายุความฟ้องร้อง 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 166 นั้น จำเลยที่ 4 ที่ 5 ทำสัญญารับใช้หนี้เงินกู้ตามเอกสารหมาย จ.7 เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2526 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2527 คดีโจทก์สำหรับหนี้ดอกเบี้ยจึงไม่ขาดอายุความ จำเลยที่ 4 และที่ 5 จึงต้องรับผิดตามฟ้องแต่สำหรับจำเลยที่ 1 ซึ่งมิได้ทำสัญญารับใช้หนี้เงินกู้ตามเอกสารหมาย จ.7 ให้ไว้แก่โจทก์ ย่อมไม่ต้องถูกผูกพันโดยสัญญาดังกล่าวโจทก์มีสิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยค้างส่งได้เพียงภายใน 5 ปี นับแต่วันฟ้องย้อนลงไป ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2518ซึ่งเป็นวันถัดจากวันรับเงินจนถึงวันที่ 20 สิงหาคม 2523หักด้วยเงิน 998.25 บาท แก่โจทก์นั้นจึงไม่ชอบ”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 7,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 12 ต่อปี นับจากวันฟ้องย้อนหลังลงไป5 ปี หักด้วยเงิน 998.25 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share