คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 602/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินจำนองของจำเลยเพื่อออกขายทอดตลาด แต่ศาลอีกคดีหนึ่งพิพากษาให้จำเลยโอนที่ดินดังกล่าวให้ผู้ร้องตามสัญญาซื้อขาย ผู้ร้องจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 280(2) และผู้ร้องชอบที่จะขอให้ศาลคดีแรกงดการขายทอดตลาดที่ดินไว้ก่อนจนกว่าคดีระหว่างผู้ร้องกับจำเลยจะถึงที่สุดตาม มาตรา 292(2)

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมให้จำเลยชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองแก่โจทก์เป็นเงิน 1,500,874.78 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี โดยจำเลยยอมผ่อนชำระเดือนละไม่น้อยกว่า 22,000บาท หากผิดนัดยอมให้โจทก์บังคับคดียึดทรัพย์จำนองขายทอดตลาดได้ทันที จำเลยชำระหนี้ให้โจทก์ครั้งเดียว เป็นเงิน 100,000 บาทแล้วผิดนัดตลอดมา โจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 13662 และ 13663 พร้อมตึกแถวอันเป็นทรัพย์ที่จำเลยจำนองไว้แก่โจทก์ โดยยึดเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2533 ต่อมาผู้ร้องทั้งสี่ได้ยื่นคำร้องว่า ที่ดินที่ยึดไว้นั้นจำเลยกับพวกได้ขายให้แก่ผู้ร้องทั้งสี่และศาลชั้นต้นได้พิพากษาให้จำเลยกับพวกโอนกรรมสิทธิ์ให้ผู้ร้องทั้งสี่แล้วเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2533 ผู้ร้องทั้งสี่เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 143/2533ของศาลชั้นต้น หากที่ดินที่ยึดไว้ถูกขายทอดตลาดก็จะทำให้ไม่สามารถบังคับคดีได้เมื่อคดีถึงที่สุด ทั้งผู้ร้องที่ 1 และที่ 4ยังเป็นผู้เช่าทรัพย์สินดังกล่าวซึ่งจะครบกำหนดสัญญาเช่าในปี 2537ขอให้ศาลมีคำสั่งให้งดการขายทอดตลาดทรัพย์สินดังกล่าวไว้จนกว่าคดีระหว่างผู้ร้องทั้งสี่และจำเลยกับพวกจะถึงที่สุด ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 292(2)
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในวันเดียวกันอนุญาตให้งดการขายทอดตลาดไว้ก่อนจนกว่าคดีระหว่างผู้ร้องกับจำเลยจะถึงที่สุด
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีข้อวินิจฉัยตามที่โจทก์ฎีกาว่าผู้ร้องทั้งสี่ร้องขอให้งดการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทได้หรือไม่พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ผู้ร้องทั้งสี่เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่บังคับให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและตึกแถวพิพาทให้แก่ผู้ร้องทั้งสี่จึงถือว่าผู้ร้องทั้งสี่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 280 (2)คดีนี้โจทก์บังคับคดีแก่ที่ดินและตึกแถวพิพาท ซึ่งจำเลยจำนองไว้แก่โจทก์ หากกรรมสิทธิ์ในที่ดินและตึกแถวพิพาทเปลี่ยนไปเป็นของผู้ร้องทั้งสี่ตามคำพิพากษาอันจะถึงที่สุดในภายหลัง ซึ่งสิทธิจำนองที่โจทก์มีอยู่ในทรัพย์นั้นจะติดไปด้วยก็ตาม แต่เมื่อพิเคราะห์ทางได้เสียของโจทก์และผู้ร้องทั้งสี่แล้ว เห็นว่า ในกรณีงดการบังคับคดีไว้ชั่วคราวคงเพียงทำให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ล่าช้าเท่านั้นแต่ทรัพย์อาจมีราคาสูงขึ้นกว่าเดิม ซึ่งโจทก์สามารถบังคับเอาดอกเบี้ยได้อยู่แล้ว และในกรณีที่ผู้ร้องทั้งสี่เป็นผู้ชนะคดีในชั้นที่สุด ถ้าผู้ร้องทั้งสี่ต้องการทรัพย์ดังกล่าวไว้เป็นกรรมสิทธิ์ผู้ร้องทั้งสี่อาจยินยอมชำระหนี้จำนองโดยโจทก์ไม่จำเป็นต้องบังคับคดี แต่ถ้าไม่งดการบังคับคดีไว้ และผู้อื่นเป็นผู้ซื้อทรัพย์ไป ย่อมทำให้ผู้ร้องทั้งสี่ยากที่จะบังคับคดีเอาคืนได้…”
พิพากษายืน

Share