คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10859/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดในมูลละเมิด เพราะจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 3 หลอกขายที่ดินพิพาทแก่โจทก์ทั้งสอง และฟ้องจำเลยที่ 4 ให้ร่วมรับผิดในฐานะเป็นเจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทของ ซ. ให้แก่ บ. โดยประมาทเลินเล่อ มูลเหตุที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยที่ 4 ต้องรับผิดจึงแตกต่างกัน มูลความแห่งคดีมิใช่เป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ การที่จำเลยที่ 4 ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้จึงไม่ถือว่าเป็นการทำแทนจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 59 (1) ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ คดีในส่วนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่มีประเด็นเรื่องอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงิน 59,308,723.96 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 36,090,000 บาท ตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 5 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันชำระเงิน 9,022,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม 2533 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง กับให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 50,000 บาท คำขออื่นให้ยก ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำหรับจำเลยที่ 4 และที่ 5 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 4 และที่ 5 ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ทั้งสองเป็นเงิน 20,000 บาท
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันรับฟังได้ยุติในเบื้องต้นว่า เดิมที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 345 ตำบลหนองจอก (หนองจอกฝั่งเหนือ) อำเภอหนองจอก กรุงเทพมหานคร มีชื่อนางเซี๊ยะเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับผู้อื่น เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2531 จำเลยที่ 3 ปลอมลายมือชื่อนางเซี๊ยะโอนขายที่ดินส่วนของนางเซี๊ยะให้แก่นายบุญศักดิ์ โดยมีจำเลยที่ 4 เป็นเจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการจดทะเบียนโอน วันที่ 14 พฤศจิกายน 2531 นายบุญศักดิ์โอนขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 3 วันที่ 9 มิถุนายน 2532 จำเลยที่ 3 แบ่งขายที่ดินให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่อมานางเซี๊ยะฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และนายบุญศักดิ์ต่อศาลชั้นต้น ขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินดังกล่าวทั้งหมด ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ วันที่ 5 กรกฎาคม 2533 จำเลยที่ 1 และที่ 2 โอนขายที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 3 แล้วจำเลยที่ 3 โอนขายให้โจทก์ทั้งสองในวันเดียวกัน ต่อมาคดีดังกล่าวศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้เพิกถอนการโอนที่ดินตามฟ้อง ศาลฎีกาพิพากษายืน ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3699/2537 จึงดำเนินการเพิกถอนการจดทะเบียนโอนทั้งหมด คดีสำหรับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ไม่มีคู่ความอุทธรณ์ จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยข้อสุดท้ายมีว่า การที่จำเลยที่ 4 ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ถือว่าเป็นการทำแทนจำเลยที่ 1 และที่ 2 หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดในมูลละเมิดเพราะจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 3 หลอกขายที่ดินพิพาทแก่โจทก์ทั้งสอง ส่วนจำเลยที่ 4 โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้รับผิดเพราะจำเลยที่ 4 เป็นเจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทของนางเซี๊ยะให้แก่นายบุญศักดิ์โดยประมาทเลินเล่อ มูลเหตุที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยที่ 4 ต้องรับผิดแตกต่างกัน มูลความแห่งคดีจึงมิใช่เป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ การที่จำเลยที่ 4 ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้จึงไม่ถือว่าเป็นการทำแทนจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 59 (1) ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ คดีในส่วนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่มีประเด็นเรื่องอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยในประเด็นนี้ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาแทนโจทก์ทั้งสองเป็นเงิน 20,000 บาท

Share