คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1347/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เดิมโจทก์บรรยายฟ้องในส่วนค่าเสียหายว่า จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าขาดประโยชน์ให้แก่โจทก์นับแต่วันที่ 9 มกราคม 2546 จนถึงวันฟ้องเป็นเวลา 4 ปี 9 เดือน แต่ในวันนัดสืบพยานโจทก์และจำเลย โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องดังกล่าว เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต คำฟ้องโจทก์ในส่วนค่าเสียหายที่แก้ไขใหม่จึงมีใจความว่า จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าขาดประโยชน์แก่โจทก์นับแต่เดือนธันวาคม 2549 จนถึงวันฟ้องเป็นเวลา 10 เดือน ในวันนัดพิจารณาดังกล่าวจำเลยชอบที่จะร้องขอต่อศาลชั้นต้นเพื่อขอใช้โอกาสยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การยกข้อต่อสู้ใหม่หักล้างข้ออ้างของโจทก์ที่กล่าวมาในคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 181 (2) แต่จำเลยไม่ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การเพื่อหักล้างข้ออ้างใหม่ของโจทก์ และยินยอมให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์และจำเลยจนแล้วเสร็จสิ้นกระแสความในวันนั้นเอง เท่ากับว่าจำเลยยังคงให้การยกข้อต่อสู้ว่า คำฟ้องโจทก์ในส่วนค่าเสียหายเคลือบคลุมโดยอ้างเหตุแห่งการนั้นตามเดิมว่า จำเลยไม่เข้าใจคำฟ้องโจทก์ เพราะจำเลยไม่ทราบว่านับแต่วันที่ 9 มกราคม 2546 เรื่อยมา โจทก์มีสิทธิเรียกค่าขาดประโยชน์จากจำเลยได้อย่างไร เนื่องจากจำเลยยังไม่ได้ผิดนัดผิดสัญญาเช่า ซึ่งเป็นข้อต่อสู้โดยอาศัยข้อเท็จจริงตามคำฟ้องเดิม จึงเป็นคำให้การที่อ้างเหตุแห่งการนั้น ไม่ตรงกับคำฟ้องที่แก้ไขใหม่ ถือว่าคำให้การจำเลยในประเด็นข้อนี้ไม่ชัดแจ้งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง จึงไม่ก่อให้เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาทว่า คำฟ้องในส่วนค่าเสียหายเคลือบคลุมหรือไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทและรับวินิจฉัยให้ จึงเป็นการไม่ชอบ จำเลยจะมาฎีกาในประเด็นข้อนี้อีกไม่ได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยพร้อมบริวารออกจากที่ดินของโจทก์กับให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 1,995,000 บาทและอีกเดือนละ 199,500 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกจากที่ดินของโจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยพร้อมบริวารออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 1514, 1522, 9246 ถึง 9254, 10231 และ 15443 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด ให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 650,000 บาท และค่าเสียหายอีกเดือนละ 65,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 12 ตุลาคม 2550) เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกจากที่ดินดังกล่าว กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 2,000 บาท แทนโจทก์ กับให้คืนค่าขึ้นศาล (อนาคต) ชั้นอุทธรณ์ 100 บาท แก่จำเลย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นที่ยุติได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลมีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 ส่วนจำเลยจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดมีนายสมชายเป็นกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทน เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2546 นายสมชายซึ่งเป็นลูกหนี้ของโจทก์ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทตามฟ้องรวม 13 โฉนด เนื้อที่ 3 ไร่ 2 งาน 8 ตารางวา ให้แก่โจทก์อันเป็นการโอนชำระหนี้จำนองตามสำเนาบันทึกข้อตกลงโอนชำระหนี้และสำเนาโฉนดที่ดิน ทั้งนี้เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยตามสำเนาสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ โดยสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ดังกล่าว ข้อ 7.4 และข้อ 7.5 ระบุไว้ว่า โจทก์ตกลงให้จำเลยเช่าที่ดินพิพาทตามฟ้องพร้อมสิ่งปลูกสร้างเพื่อใช้ดำเนินธุรกิจต่อไป โดยทำสัญญาเช่าปีต่อปี และตกลงให้สิทธิแก่จำเลยที่จะซื้อที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างคืนได้
ที่จำเลยฎีกาว่า คำฟ้องโจทก์ในส่วนค่าเสียหายเคลือบคลุมนั้น เห็นว่า เดิมโจทก์บรรยายฟ้องในส่วนค่าเสียหายไว้ว่า จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าขาดประโยชน์ให้แก่โจทก์เดือนละ 199,500 บาท นับแต่วันที่ 9 มกราคม 2546 จนถึงวันฟ้องเป็นเวลา 4 ปี 9 เดือน รวมเป็นเงิน 11,371,500 บาท แต่ในวันนัดสืบพยานโจทก์และจำเลย โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องดังกล่าว เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต คำฟ้องโจทก์ในส่วนค่าเสียหายที่แก้ไขใหม่จึงมีใจความว่า จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าขาดประโยชน์แก่โจทก์เดือนละ 199,500 บาท นับแต่เดือนธันวาคม 2549 จนถึงวันฟ้องเป็นเวลา 10 เดือน รวมเป็นเงิน 1,995,000 บาท ในวันนัดพิจารณาดังกล่าวจำเลยชอบที่จะร้องขอต่อศาลชั้นต้นเพื่อขอใช้โอกาสยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การยกข้อต่อสู้ใหม่หักล้างข้ออ้างของโจทก์ที่กล่าวมาในคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 181 (2) แต่จำเลยไม่ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การเพื่อหักล้างข้ออ้างใหม่ของโจทก์ และยินยอมให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์และจำเลยจนแล้วเสร็จสิ้นกระแสความในวันนั้นเอง เท่ากับว่าจำเลยยังคงให้การยกข้อต่อสู้ว่า คำฟ้องโจทก์ในส่วนค่าเสียหายเคลือบคลุมโดยอ้างเหตุแห่งการนั้นตามเดิมว่า จำเลยไม่เข้าใจคำฟ้องโจทก์ เพราะจำเลยไม่ทราบว่านับแต่วันที่ 9 มกราคม 2546 เรื่อยมาโจทก์มีสิทธิเรียกค่าขาดประโยชน์จากจำเลยได้อย่างไร เนื่องจากจำเลยยังไม่ได้ผิดนัดผิดสัญญาเช่า ซึ่งเป็นข้อต่อสู้โดยอาศัยข้อเท็จจริงตามคำฟ้องเดิม จึงเป็นคำให้การที่อ้างเหตุแห่งการนั้น ไม่ตรงกับคำฟ้องที่แก้ไขใหม่ ถือว่าคำให้การจำเลยในประเด็นข้อนี้ไม่ชัดแจ้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง จึงไม่ก่อให้เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาทว่า คำฟ้องโจทก์ในส่วนค่าเสียหายเคลือบคลุมหรือไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทและรับวินิจฉัยให้ จึงเป็นการไม่ชอบ จำเลยจะมาฎีกาในประเด็นข้อนี้อีกไม่ได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อต่อไปว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่ โดยในปัญหาข้อนี้จำเลยฎีกาอ้างว่า นายสมเจตน์ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้จัดการของโจทก์เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2545 และครบกำหนดการจ้างแล้วเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2549 แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2550 หลังจากนายสมเจตน์ พ้นจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการโจทก์ไปแล้ว นายสมเจตน์ย่อมไม่มีอำนาจมอบอำนาจให้นายวิชิตฟ้องคดีนี้แทนโจทก์ และนายวิชิตไม่มีอำนาจมอบอำนาจให้นายธิติรัตน์ฟ้องคดีนี้ได้ เห็นว่า ตามทางนำสืบของโจทก์ได้ความว่า ขณะที่นายสมเจตน์ทำหนังสือมอบอำนาจให้นายวิชิต ผู้อำนวยการฝ่ายคดีของโจทก์ฟ้องคดีรวมทั้งมอบอำนาจช่วงให้ฟ้องคดีนี้แทนโจทก์เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2548 นายสมเจตน์มีฐานะเป็นกรรมการผู้จัดการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ตามพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 25 และสำเนาประกาศคณะกรรมการโจทก์เรื่องแต่งตั้งกรรมการผู้จัดการ การมอบอำนาจของโจทก์ตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจ ย่อมมีผลตลอดไปจนกว่าหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวจะถูกยกเลิกหรือเพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงหรือมีการยุบเลิกบรรษัทโจทก์ตามพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 95 ไปแล้วในขณะมีการยื่นฟ้องคดีนี้ ดังนั้น แม้จะได้ความตามคำเบิกความของนายธิติรัตน์ ผู้รับมอบอำนาจช่วงโจทก์พยานโจทก์ว่า นายสมเจตน์กรรมการผู้จัดการโจทก์เข้าดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2545 และพ้นจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2549 และได้ความตามทางพิจารณาว่าโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ภายหลังจากนายสมเจตน์พ้นจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของโจทก์ไปแล้วตามที่จำเลยฎีกาก็ตาม ก็ไม่มีผลทำให้การมอบอำนาจของโจทก์ตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจสิ้นผลไปแต่อย่างใด นายวิชิตจึงยังคงมีอำนาจมอบอำนาจช่วงให้นายธิติรัตน์ยื่นฟ้องคดีนี้ได้ตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจ ส่วนที่จำเลยฎีกาอีกประการหนึ่งว่าตามพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มิได้บัญญัติให้โจทก์มีอำนาจฟ้องคดี การฟ้องคดีเป็นกิจการนอกขอบวัตถุประสงค์ของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยเป็นคดีนี้ได้ เห็นว่า ตามพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 7 และ 8 (1) ได้บัญญัติให้อำนาจโจทก์ในการบริหารสินทรัพย์ที่โจทก์รับโอนมาโดยให้รวมถึงการให้เช่าหรือดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินดังกล่าว อำนาจดังกล่าวย่อมมีความหมายรวมถึงการฟ้องคดีในกรณีที่การให้เช่าทรัพย์สินของโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิหรือโจทก์จำต้องใช้สิทธิทางศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ด้วย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยเป็นคดีนี้ได้
พิพากษายืน แต่ให้ยกคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองในส่วนที่วินิจฉัยว่า คำฟ้องโจทก์ในส่วนค่าเสียหายไม่เคลือบคลุม และให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 5,000 บาท แทนโจทก์

Share