แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลแรงงานกลางดำเนินกระบวนพิจารณากำหนดประเด็นข้อพิพาทและกำหนดหน้าที่นำสืบ พยานจำเลยไปตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 39 ซึ่งบัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว ไม่ต้องนำการชี้สองสถาน ป.วิ.พ. มาตรา 183 มาใช้บังคับ เมื่อไม่มีการชี้สองสถานโจทก์ย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องก่อนวันนัดสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน ได้ เดิมศาลแรงงานกลางนัดสืบพยานจำเลยวันที่ 28 เมษายน 2548 แล้วเลื่อนคดีไปเป็นวันนัดสืบพยานจำเลยวันที่ 27 พฤษภาคม 2548 จึงถือเอาวันนัดสืบพยานเดิมเป็นวันสืบพยานไม่ได้ โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องวันที่ 28 เมษายน 2548 เป็นการยื่นก่อนวันสืบพยานในวันที่ 27 พฤษภาคม 2548 ไม่น้อยกว่า 7 วัน แล้ว ทั้งคำฟ้องเดิมและคำฟ้องที่ขอแก้ไขพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้ โจทก์จึงมีสิทธิแก้ไขคำฟ้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 179, 180 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
ตามหนังสือสัญญาข้อตกลงและให้คำยินยอมของพนักงานกับตามหนังสือสัญญาให้คำยินยอมของพนักงานห้ามโจทก์เฉพาะไม่ให้โจทก์ไปทำงานในบริษัทคู่แข่งหรือไม่ไปทำงานบริษัทอื่นใดที่ประกอบกิจการประเภทเดียวกันกับจำเลยและบริษัทในเครือในลักษณะที่จะสามารถแข่งขันกับจำเลยได้ภายในระยะเวลาตามกำหนดเท่านั้น มิได้เป็นการตัดการประกอบอาชีพของโจทก์เสียทั้งหมด อีกทั้งจำเลยยินดีมอบหุ้นของจำเลย 1,000 หุ้น เป็นการให้เปล่าแก่โจทก์หลังจากจำเลยแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนแล้วอันเป็นสัญญาต่างตอบแทนต่อกันในเชิงการประกอบธุรกิจ ประกอบกับธุรกิจขายแฟรนไชส์ร้านสะดวกซื้อมีคู่แข่งทางการค้ากับจำเลย จำเลยมีข้อมูลเกี่ยวกับต้นทุนในการวางระบบและอุปกรณ์เป็นความลับทางการค้า โจทก์เป็นหัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการร้านสะดวกซื้อ มีหน้าที่จัดวางระบบ จัดเตรียมอุปกรณ์และร้านให้ลูกค้า ซึ่งเป็นการดูแลงานโครงสร้างร้านค้าของลูกค้า โจทก์จึงมีโอกาสทราบความลับทางการค้าของจำเลย และในการติดต่อลูกค้าให้เปิดร้านแฟรนไชส์ต้องใช้เวลาดำเนินการระยะหนึ่ง เมื่อคำนึงถึงทางได้เสียทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายของโจทก์และจำเลยแล้ว การจำกัดสิทธิในการประกอบอาชีพของโจทก์อันเป็นการแข่งขันกับจำเลยเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 11 เดือน นับจากวันที่โจทก์พ้นสภาพการเป็นพนักงานของจำเลยจึงไม่ทำให้โจทก์ผู้ถูกจำกัดสิทธิต้องรับภาระมากกว่าที่จะพึงคาดหมายได้ตามปกติ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 22,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้ลดระยะเวลาในการจำกัดสิทธิในการประกอบอาชีพลงเหลือ 1 เดือนนับแต่วันพ้นจากการเป็นลูกจ้าง จ่ายค่าจ้างจำนวน 7,000 บาท ค่าชดเชยจำนวน 15,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และชำระค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจำนวน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 22,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 17 มกราคม 2548 ซึ่งเป็นวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าจ้างค้างจำนวน 7,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าชดเชยจำนวน 15,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าเสียหายเนื่องจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำนวน 5,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้ลดระยะเวลาจำกัดสิทธิในการที่โจทก์เข้าทำงานกับนายจ้างอื่นลงเหลือ 6 เดือน นับถัดจากวันที่ 14 มกราคม 2548 ซึ่งเป็นวันพ้นจากการเป็นลูกจ้างจำเลย คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงโดยสรุปว่า จำเลยประกอบธุรกิจขายแฟรนไชส์ร้านสะดวกซื้อ จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างโดยไม่มีกำหนดเวลาและเริ่มทำงานเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2547 กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน ระหว่างทำงานโจทก์ได้ทำหนังสือสัญญาข้อตกลงและให้คำยินยอมของพนักงานที่มีต่อจำเลย และทำหนังสือสัญญาให้คำยินยอมของพนักงานต่อจำเลย จำกัดสิทธิในการประกอบอาชีพของโจทก์เมื่อพ้นสภาพการเป็นพนักงานของจำเลยเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 11 เดือนและจะไม่นำข้อมูลซึ่งเป็นความลับทางธุรกิจการค้าของจำเลยไปเปิดเผย ต่อมาวันที่ 14 มกราคม 2548 จำเลยเลิกจ้างโจทก์อ้างว่าโจทก์เปิดเผยความลับในทางธุรกิจการค้าของจำเลยให้ได้รับความเสียหาย แต่คดีรับฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้เปิดเผยความลับในทางธุรกิจการค้าของจำเลยโดยจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยเป็นประการแรกว่า คำสั่งศาลแรงงานกลางที่อนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องชอบด้วยกระบวนพิจารณาหรือไม่ เห็นว่า ในวันนัดพิจารณาและสืบพยานโจทก์วันที่ 1 เมษายน 2548 เวลา 13 นาฬิกา ศาลแรงงานกลางได้ไกล่เกลี่ยแล้วไม่สามารถตกลงกันได้จึงกำหนดประเด็นข้อพิพาทแล้วให้นัดสืบพยานจำเลยวันที่ 28 เมษายน 2548 เวลา 9 นาฬิกา การกำหนดประเด็นข้อพิพาทและกำหนดวันสืบพยานดังกล่าวเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาไปตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 39 ซึ่งบัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้วไม่จำต้องนำเรื่องการชี้สองสถานตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 183 มาใช้บังคับ ถือได้ว่าคดีแรงงานไม่มีการชี้สองสถาน เมื่อไม่มีการชี้สองสถานโจทก์ย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องก่อนวันนัดสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวันได้เมื่อวันนัดสืบพยานจำเลยวันที่ 28 เมษายน 2548 ศาลแรงงานกลางได้เลื่อนคดีไปเป็นนัดสืบพยานจำเลยวันที่ 27 พฤษภาคม 2548 เวลา 9 นาฬิกา เช่นนี้จะถือเอาวันนัดสืบพยานจำเลยเดิมคือวันที่ 28 เมษายน 2548 เป็นวันสืบพยานไม่ได้ การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องในวันที่ 28 เมษายน 2548 จึงยื่นก่อนวันสืบพยานในวันที่ 27 พฤษภาคม 2548 ไม่น้อยกว่าเจ็ดวันแล้ว ทั้งคำฟ้องเดิมและคำฟ้องที่ขอแก้ไขพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้ โจทก์จึงมีสิทธิแก้ไขคำฟ้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 179 และมาตรา 180 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ที่ศาลแรงงานกลางอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องจึงชอบด้วยกระบวนพิจารณาแล้ว อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยเป็นประการสุดท้ายว่า ข้อตกลงที่ห้ามโจทก์ประกอบอาชีพอันเป็นการแข่งขันกับจำเลยเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 11 เดือน นับจากวันที่โจทก์พ้นสภาพการเป็นพนักงานของจำเลยตามหนังสือสัญญาข้อตกลงและให้คำยินยอมของพนักงานที่มีต่อจำเลย และหนังสือสัญญาให้คำยินยอมของพนักงานต่อจำเลยเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมที่ศาลแรงงานกลางจะลดระยะเวลาลงเหลือ 6 เดือนได้หรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ข้อตกลงจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพในการประกอบอาชีพการงานหรือการทำนิติกรรมที่เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพซึ่งไม่เป็นโมฆะ แต่เป็นข้อตกลงที่ทำให้ผู้ถูกจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพต้องรับภาระมากกว่าที่จะพึงคาดหมายได้ตามปกติ ให้มีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น และวรรคสองบัญญัติว่า ในการวินิจฉัยว่าข้อตกลงตามวรรคหนึ่งทำให้ผู้ถูกจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพต้องรับภาระมากกว่าที่จะพึงคาดหมายได้หรือไม่ให้พิเคราะห์ถึงขอบเขตในด้านพื้นที่และระยะเวลาของการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพ รวมทั้งความสามารถและโอกาสในการประกอบอาชีพการงานหรือการทำนิติกรรมในรูปแบบอื่นหรือกับบุคคลอื่นของผู้ถูกจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพประกอบกับทางได้เสียทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายของคู่สัญญาด้วย เมื่อข้อตกลงและให้ความยินยอมตามหนังสือสัญญาข้อตกลงและให้คำยินยอมของพนักงานที่มีต่อจำเลย ข้อ 2 และตามหนังสือสัญญาให้คำยินยอมของพนักงานต่อจำเลย ข้อ 2 แม้เป็นการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของโจทก์ในการประกอบอาชีพ แต่คงห้ามโจทก์เฉพาะไม่ให้ไปทำงานในบริษัทคู่แข่ง หรือไม่ไปทำงานบริษัทอื่นใดที่ประกอบกิจการประเภทเดียวกันกับจำเลยและบริษัทในเครือในลักษณะที่จะสามารถแข่งขันกับจำเลยได้ภายในระยะเวลาตามกำหนดเท่านั้น มิได้เป็นการตัดการประกอบอาชีพของโจทก์ทั้งหมด อีกทั้งตามข้อ 4 ในหนังสือสัญญาข้อตกลงและให้คำยินยอมของพนักงานที่มีต่อจำเลย จำเลยยินดีมอบหุ้นในบริษัทจำเลยให้แก่โจทก์หลังจากที่จำเลยได้แปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนแล้วโดยจะมอบแบบให้เปล่าเป็นจำนวนรวม 1,000 หุ้น เช่นนี้จึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนต่อกันในเชิงการประกอบธุรกิจ ประกอบกับธุรกิจขายแฟรนไชส์ร้านสะดวกซื้อมีคู่แข่งขันทางการค้ากับจำเลยโดยจำเลยมีข้อมูลเกี่ยวกับต้นทุนในการวางระบบและอุปกรณ์เป็นความลับทางการค้าของจำเลย โจทก์เป็นหัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการร้านสะดวกซื้อมีหน้าที่จัดวางระบบ จัดเตรียมอุปกรณ์และร้านให้แก่ลูกค้า อันเป็นการดูแลเกี่ยวกับงานโครงสร้างร้านค้าของลูกค้าจำเลยทั้งหมด โจทก์จึงมีโอกาสทราบความลับทางการค้าของจำเลย และในการติดต่อลูกค้าให้เปิดร้านแฟรนไซส์ได้จะต้องใช้เวลาดำเนินการระยะหนึ่ง ดังนั้นเมื่อคำนึงถึงทางได้เสียทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายของโจทก์และจำเลยแล้ว การจำกัดสิทธิในการประกอบอาชีพของโจทก์อันเป็นการแข่งขันกับจำเลยเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 11 เดือนนับจากวันที่โจทก์พ้นสภาพการเป็นพนักงานของจำเลย จึงไม่ทำให้โจทก์ผู้ถูกจำกัดสิทธิต้องรับภาระมากกว่าที่จะพึงคาดหมายได้ตามปกติ การที่ศาลแรงงานกลางลดระยะเวลาจำกัดสิทธิในการประกอบอาชีพของโจทก์ลงเหลือ 6 เดือน นับแต่วันที่โจทก์พ้นสภาพการเป็นพนักงานของจำเลย ย่อมไม่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีต่อจำเลย ศาลฎีกาจึงไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำกัดสิทธิในการที่โจทก์เข้าทำงานกับนายจ้างอื่นเป็นเวลา 11 เดือนนับถัดจากวันที่ 14 มกราคม 2548 ซึ่งเป็นวันพ้นจากการเป็นลูกจ้างจำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง