คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1083/2517

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การลงลายมือชื่อของตนที่ด้านหลังเช็คต้องถือว่าเป็นการสลักหลังตั๋วแลกเงินโดยสมบูรณ์ ตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 919 อันมีผลให้ผู้สลักหลังต้องรับผิดต่อผู้ทรงตามมาตรา 914 และมาตรา 989 ให้นำบทบัญญัติดังกล่าวมาใช้ในเรื่องเช็คด้วย ผู้สลักหลังจึงต้องรับผิดใช้เงินที่ค้างชำระให้แก่ผู้ทรง ในเมื่อธนาคารไม่ยอมจ่ายเงินตามเช็คนั้น
ผู้สลักหลังมีฐานะเป็นลูกหนี้ต้องร่วมกับผู้สั่งจ่ายรับผิดต่อผู้ทรงมิได้มีฐานะเป็นผู้ค้ำประกัน จึงนำมาตรา 700 มาใช้บังคับกรณีนี้มิได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยออกเช็คสั่งจ่ายเงิน ๒๐,๐๐๐ บาท ใช้หนี้ค่าแลกเปลี่ยนเงินสดให้โจทก์ โดยมีจำเลยที่ ๒ ลงชื่อในด้านหลังเช็ค เพื่อเป็นการค้ำประกันและรับผิดร่วมกับจำเลยที่ ๑ โจทก์นำเช็คไปขึ้นเงินแล้ว ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน จึงขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินตามเช็ค พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่เดือนสิงหาคม ๒๕๑๑ จนกว่าจะชำระเสร็จกับค่าเสียหายอีก ๓,๐๐๐ บาทให้โจทก์
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า โจทก์ยอมให้จำเลยที่ ๑ ผ่อนชำระจำเลยที่ ๑ จึงไม่ต้องรับผิดตามฟ้อง พิพากษาให้จำเลยที่ ๒ ใช้เงินตามเช็คที่ค้าง ๑๔,๐๐๐ บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ ๗ ครึ่งต่อปีในต้นเงิน ๒๐,๐๐๐ บาท นับแต่วันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๑๑ ถึงวันที่๗ มกราคม ๒๕๑๒ และในต้นเงิน ๑๕,๐๐๐ บาท นับแต่วันที่ ๘ มกราคม ๒๕๑๒ ถึงวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๒ กับในต้นเงิน ๑๔,๐๐๐ บาท นับแต่วันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๒ จนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จ ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ ๑
จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๒ ฎีกา (๑) ตามฟ้องของโจทก์กล่าวไว้ชัดว่าจำเลยที่ ๒ เป็นผู้ลงชื่อในด้านหลังของเช็คเพื่อเป็นการค้ำประกันและรับผิดร่วมกับจำเลยที่ ๑ มิได้กล่าวอ้างว่าจำเลยที่ ๒ ลงชื่อในฐานะผู้สลักหลัง จำเลยที่ ๒ จึงไม่ต้องรับผิด และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๙๒๑ บัญญัติไว้ว่า การสลักหลังตั๋วแลกเงินซึ่งสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือนั้น ย่อมเป็นเพียงประกัน (อาวัล) สำหรับผู้สั่งจ่าย ซึ่งมาตรา ๙๘๙ให้นำไปใช้ในเรื่องเช็คได้
(๒) เช็คตามฟ้อง โจทก์เป็นผู้สั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือ จำเลยที่ ๒ ลงนามในด้านหลังเช็ค จึงมีฐานะเป็นเพียงผู้ค้ำประกันผู้สั่งจ่ายเท่านั้นเมื่อเจ้าหนี้ยอมให้ลูกหนี้ (ผู้สั่งจ่าย) ผ่อนชำระหนี้แล้วจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกัน (อาวัล) ย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๗๐๐
ศาลฎีกาวินิจฉัยในปัญหา (๑) ว่า การที่จำเลยที่ ๒ ลงลายมือชื่อของตนที่ด้านหลังของเช็ค ต้องถือว่าเป็นการสลักหลังตั๋วแลกเงินโดยสมบูรณ์ ตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๙๑๙ อันมีผลให้ผู้สลักหลังต้องรับผิดต่อผู้ทรงตามมาตรา ๙๑๔ และมาตรา ๙๘๙ ให้นำบทบัญญัติดังกล่าวมาใช้ในเรื่องเช็คด้วย ที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ ๒ ลงชื่อในด้านหลังของเช็คเพื่อเป็นการค้ำประกันและรับผิดร่วมนั้น ก็เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๙๖๗ ซึ่งให้ผู้สลักหลังตั๋วแลกเงินรับผิดต่อผู้ทรงและมาตรา ๙๘๙ ให้นำมาตรา ๙๖๗ นี้มาใช้บังคับในเรื่องเช็คได้ด้วยเช่นเดียวกัน จำเลยที่ ๒ จึงต้องรับผิดในฐานะผู้สลักหลัง ต้องใช้เงินที่ค้างชำระให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรง ในเมื่อธนาคารไม่ยอมจ่ายเงินตามเช็คนั้น
ปัญหา (๒) เห็นว่า จำเลยที่ ๒ เป็นผู้สลักหลังมีฐานะเป็นลูกหนี้ต้องร่วมกับผู้สั่งจ่ายรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรง จำเลยที่ ๒ มิได้มีฐานะเป็นผู้ค้ำประกัน จะนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๗๐๐ มาใช้บังคับกรณีนี้มิได้ตามแบบอย่างคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๕๙๕/๒๕๐๙ คดีระหว่างนายเป็งกิม แซ่โล้ว โจทก์ ห้างหุ้นส่วนจำกัดมหะโยธาก่อสร้างกับพวก จำเลย และคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๐๓๔/๒๕๐๗ คดีระหว่างนายบุญชอบ อ่องสว่าง โจทก์ หม่อมเจ้าศุกรวรรณดิศ ดิศกุล จำเลย
พิพากษายืน

Share