แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
จำเลยที่ 3 รับประกันภัยไว้จากจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 3 ตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนต่อบุคคลภายนอกแทนจำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัย ซึ่งจะต้องรับผิดชอบต่อบุคคลภายนอก การประกันภัยดังกล่าวจึงเป็นการประกันภัยค้ำจุน ดังนี้แม้โจทก์จะไม่ได้เป็นคู่สัญญากับจำเลยที่ 3 และตามกรมธรรม์ดังกล่าวจำเลยที่ 1 ไม่ได้ระบุให้โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ก็ตาม แต่เมื่อการประกันภัยดังกล่าวเป็นการประกันภัยค้ำจุนและความเสียหายนั้นมีจำนวนไม่เกินวงเงินที่จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดชอบ จำเลยที่ 3 ผู้รับประกันกันย่อมต้องรับผิดในนามของจำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บริษัท ซ. ซึ่งจำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ ทั้งบริษัทดังกล่าวบุคคลผู้ต้องเสียหายชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนตามที่ตรควรจะได้นั้นจากจำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยโดยตรง ที่จำเลยที่ 3 อ้างว่ามีข้อตกลงพิเศษว่ากรมธรรม์นี้จะไม่รับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้น กรณีทรัพย์สินที่บรรทุกนั้นมีกรมธรรม์ประกันภัยชนิดอื่นหรือประเภทอื่นรับผิดชอบอยู่แล้ว จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์นั้น ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่ได้ยกปัญหาข้อนี้ขึ้นมาวินิจฉัย ถือได้ว่าอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศจึงไม่รับวินิจฉัย
ส่วนที่จำเลยที่ 3 แก้อุทธรณ์ว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแพ่งนั้น แม้จำเลยที่ 3 จะได้บรรยายไว้ในคำให้การ แต่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งไม่รับคำให้การของจำเลยที่ 3 ข้อโต้แย้งเรื่องนี้ย่อมตกไป เมื่อศาลดังกล่าวดำเนินกระบวนพิจารณาต่อมา จำเลยที่ 3 ก็มิได้ยกเรื่องนี้ข้อโต้แย้งอีก แสดงว่ายอมรับอำนาจศาลและไม่มีปัญหาเรื่องอำนาจศาลอีกต่อไป ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่อาจส่งเรื่องให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการรับประกันวินาศภัยทุกประการ จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการขนส่งและขนถ่ายสินค้า มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ซึ่งต้องรับผิดในบรรดาหนี้สินของจำเลยที่ 1 ไม่จำกัดจำนวน จำเลยที่ 3 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการรับประกันวินาศภัยทุกประเภท จำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยความรับผิดในการประกอบธุรกิจบริการรถรับจ้างขนส่งสินค้าของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อบุคคลภายนอก บริษัทซีอาร์ทีดิสเพลย์ เทคโนโลยี จำกัด ได้เอาประกันภัยแบบเปิดไว้ต่อโจทก์ โดยโจทก์สัญญาว่า ในระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2545 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2545 โจทก์จะให้ความคุ้มครองความเสียหายของสินค้าที่บริษัทดังกล่าวส่งออกไปขายต่างประเทศ หากสินค้าของบริษัทดังกล่าวได้รับความเสียหายในระหว่างการขนส่ง ตั้งแต่สินค้าออกจากโกดังของบริษัทดังกล่าวในประเทศไทยจนกระทั่งสินค้าถึงโกดังของผู้ซื้อในต่างประเทศ โจทก์จะชดใช้ความเสียหายให้ตามจำนวนความเสียหายที่แท้จริง แต่ไม่เกินวงเงินที่เอาประกันภัยในการขนส่งสินค้าแต่ละเที่ยว ในการขนส่งสินค้าแต่ละเที่ยว บริษัทดังกล่าวจะต้องแจ้งให้โจทก์ทราบอีกครั้งหนึ่ง เพื่อที่โจทก์จะได้ออกกรมธรรม์ประกันภัยเฉพาะรายเที่ยวการขนส่งครั้งนั้นให้แก่ผู้เอาประกันภัย เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2545 บริษัทดังกล่าวได้แจ้งให้โจทก์ทราบและขอเอาประกันภัยทรัพย์ของตน คือ หลอดภาพโทรทัศน์ ขนาด 14 นิ้ว จำนวน 96 ไม้รองสินค้า ในการนี้โจทก์สัญญาว่า หากสินค้าได้รับความเสียหายหรือสูญหายไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ ตั้งแต่สินค้าออกจากโกดังของบริษัทดังกล่าวซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง ไปจนถึงโกดังของผู้ซื้อที่เมืองยันเทียน ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน โจทก์จะชดใช้ความเสียหายให้ภายในวงเงินจำนวน 155,010.24 ดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยจำนวน 6,738,295.13 บาท (อัตราแลกเปลี่ยนดอลลาร์สหรัฐละ 43.47 บาท) เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2545 บริษัทดังกล่าวได้ว่าจ้างให้จำเลยที่ 1 ทำการขนส่งสินค้าจำนวน 1 ตู้สินค้า บรรจุหลอดภาพโทรทัศน์ จำนวน 2,016 หลอด จากโรงงานไปยังท่าเรือแหลมฉบัง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี จำเลยที่ 1 ตกลงรับจ้างโดยใช้รถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 70-1474 ระยอง และรถพ่วงหมายเลขทะเบียน 70-6287 ชลบุรี มีนายวิรัตน์ หนองใหญ่ ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับ เมื่อรถยนต์คับดังกล่าวแล่นไปถึงปากทางเข้าท่าเรือแหลมฉบัง นายวิรัตน์ขับรถด้วยความเร็วสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดและไม่เหมาะสมกับสภาพของรถยนต์บรรทุกหนัก ปรากฏว่าในขณะนั้นมีรถยนต์คันอื่นจอดติดสัญญาณไฟจราจรสีแดงอยู่ จึงหักพวงมาลัยหลบลงไหล่ถนนด้านซ้าย ทำให้รถยนต์ดังกล่าวพลิกตะแคงข้างถนน เป็นเหตุให้ตู้สินค้าและหลอดภาพโทรทัศน์ที่บรรจุอยู่ในตู้สินค้าได้รับความเสียหาย 2,016 หลอด ความเสียหายของสินค้าดังกล่าวเกิดขึ้นจากการกระทำโดยประมาทเลินเล่อของนายวิรัตน์ผู้เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้างจึงต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างซึ่งได้กระทำไปในทางการที่จ้าง และจำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ผู้มีความรับผิดตามกฎหมายในภาระหนี้สินของจำเลยที่ 1 โดยไม่จำกัดจำนวน ต้องร่วมรับผิดชดใช้ความเสียหายกับจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้รับประกันภัยความรับผิดของจำเลยที่ 1 ย่อมต้องร่วมรับผิดชดใช้ความเสียหายแก่บริษัทดังกล่าวด้วย เพื่อเป็นการบรรเทาความเสียหาย บริษัทซีอาร์ที ดิสเพลย์ เทคโนโลยี จำกัด ได้นำซากหลอดภาพโทรทัศน์ดังกล่าวทั้งหมดออกประมูลขายทอดตลาด ปรากฏว่าสามารถขายซากหลอดภาพได้เป็นเงิน 60,000 บาท จึงได้เรียกร้องให้โจทก์ชดใช้ความเสียหายตามสัญญาประกันภัยเป็นเงิน 2,211,376.24 บาท โจทก์พิจารณาแล้วเห็นว่า ความเสียหายเกิดขึ้นจากการขนส่งและเกิดขึ้นก่อนส่งมอบสินค้าที่ปลายทาง ซึ่งกรมธรรม์ประกันภัยมีผลคุ้มครองและรายการความเสียหายที่เรียกร้องมาดังกล่าวเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัย โจทก์จึงใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บริษัทดังกล่าวเป็นเงิน 2,211,376.24 บาท โจทก์จึงเป็นผู้รับช่วงสิทธิในอันที่จะเรียกร้องค่าเสียหายดังกล่าวจากจำเลยทั้งสาม โจทก์เรียกร้องให้จำเลยทั้งสามชดใช้ค่าเสียหายแล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 2 แจ้งว่าให้ไปเรียกร้องเอาจากจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้รับประกันภัยของตนแทน เมื่อโจทก์ไปเรียกร้องจากจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 กลับปฏิเสธความรับผิดไม่ยอมชดใช้ความเสียหายแก่โจทก์ โจทก์ขอคิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสามในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของเงินต้น 2,211,376.24 บาท นับแต่วันที่โจทก์ได้จ่ายเงินค่าสินไหมทดแทน คือวันที่ 26 มิถุนายน 2546 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จคิดจนถึงวันฟ้องรวมเวลา 141 วัน เป็นเงิน 2,275,445.56 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 2,275,445.56 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 2,211,376.24 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้ครบถ้วน
จำเลยทั้งสามขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 2,275,445.56 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 2,211,376.24 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 14 พฤศจิกายน 2546) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3
โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “คดีในส่วนที่เกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่อโจทก์ โจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ 2 ไม่อุทธรณ์ จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง คงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ 2 ว่า จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวแก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า สัญญาประกันภัยระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 ตามเอกสารแนบท้ายตารางกรมธรรม์ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของกรมธรรม์ดังกล่าวได้ระบุไว้ได้ความว่า กรมธรรม์ฉบับนี้คุ้มครองถึงความเสียหายของสินค้าของบุคคลอื่นที่บรรจุอยู่ในตู้สินค้าซึ่งผู้เอาประกันภัยได้รับว่าจ้างให้ทำการขนส่งโดยรถยนต์บรรทุกของผู้เอาประกันตามหมายเลขทะเบียนที่ระบุไว้ คือรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 70-1474 ระยอง ดังกล่าว โดยจำกัดความรับผิดสำหรับสินค้าและตู้สินค้าในวงเงิน 3,000,000 บาท ต่อเหตุการณ์หนึ่งครั้ง ทั้งตามตารางกรมธรรม์ดังกล่าวก็ระบุไว้ชัดว่าประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลภายนอกสำหรับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 70-1474 ระยอง แสดงว่าจำเลยที่ 3 รับประกันภัยไว้จากจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 3 ตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนต่อบุคคลภายนอกแทนจำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยซึ่งจะต้องรับผิดชอบแต่บุคคลภายนอก การประกันภัยดังกล่าวจึงเป็นการประกันภัยค้ำจุนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 887 วรรคหนึ่ง ดังนี้ แม้โจทก์จะไม่ได้เป็นคู่สัญญากับจำเลยที่ 3 และตามกรมธรรม์ดังกล่าว จำเลยที่ 1 ไม่ได้ระบุให้โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ก็ตาม แต่เมื่อการประกันภัยดังกล่าวเป็นการประกันภัยค้ำจุนและความเสียหายนั้นมีจำนวนไม่เกินวงเงินที่จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดชอบ จำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยย่อมต้องรับผิดในนามของจำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บริษัทซีอาร์ที ดิสเพลย์ เทคโนโลยี จำกัด ซึ่งจำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ ทั้งบริษัทซีอาร์ที ดิสเพลย์ เทคโนโลยี จำกัด บุคคลผู้ต้องเสียหายชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนตามที่ตนควรจะได้นั้นจากจำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยโดยตรง ที่จำเลยที่ 3 อ้างว่าตามเอกสารแนบท้ายตารางกรมธรรม์มีข้อตกลงพิเศษว่ากรมธรรม์นี้จะไม่รับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้น กรณีทรัพย์สินที่บรรทุกนั้นมีกรมธรรม์ประกันภัยชนิดอื่นหรือประเภทอื่นรับผิดชอบอยู่แล้ว จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ นั้น เห็นว่า จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและจำเลยที่ 3 ไม่ได้ถามค้านพยานโจทก์ถึงข้อยกเว้นความรับผิดข้อนี้ไว้ให้ชัดแจ้งทั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่ได้ยกปัญหาข้อนี้ขึ้นมาวินิจฉัย ดังนี้ถือได้ว่าอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ดังกล่าวเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศจึงไม่รับวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดต่อบริษัทซีอาร์ที ดิสเพลย์ เทคโนโลยี จำกัด และต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับช่วงสิทธิจากบริษัทซีอาร์ที ดิสเพลย์ เทคโนโลยี จำกัด และต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวแก่โจทก์ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 3 นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ 2 ฟังขึ้น
ส่วนที่จำเลยที่ 3 แก้อุทธรณ์ว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแพ่งไม่อยู่ในอำนาจของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางนั้น เห็นว่า แม้จำเลยที่ 3 จะได้บรรยายโต้แย้งเรื่องนี้ไว้ในคำให้การของจำเลยที่ 3 แต่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งไม่รับคำให้การของจำเลยที่ 3 ดังกล่าว ข้อโต้แย้งเรื่องนี้ย่อมตกไป จากนั้นเมื่อศาลดังกล่าวดำเนินกระบวนพิจารณาต่อมา จำเลยที่ 3 ก็มิได้ยกเรื่องนี้ขึ้นโต้แย้งอีก แสดงว่าจำเลยที่ 3 ยอมรับอำนาจศาลและไม่มีปัญหาเรื่องอำนาจศาลอีกต่อไป เมื่อจำเลยที่ 3 เพิ่งยกเรื่องนี้ขึ้นมาในชั้นอุทธรณ์จึงถือว่าล่วงเลยเวลาที่จะพิจารณาปัญหานี้แล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่อาจส่งให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยได้”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 2,275,445.56 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 2,211,376.24 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 14 พฤศจิกายน 2545) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 6,000 บาท ให้จำเลยที่ 3 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้แทนโจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ 2 โดยกำหนดค่าทนายความแก่โจทก์ 3,000 บาท และแก่จำเลยที่ 1 ที่ 2 จำนวน 3,000 บาท