แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
++ เรื่อง บุกรุก ลักทรัพย์ พยายาม ++
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตาม ป.อ.มาตรา 335(1)(7)(8) วรรคสาม ประกอบด้วยมาตรา 80 มาตรา 365(2)(3)เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 335(1)(7)(8) วรรคสาม ประกอบด้วยมาตรา 80 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ.มาตรา 90 จำคุกคนละ 3 ปี ริบของกลาง ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้ลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานบุกรุก ตาม ป.อ.มาตรา 365(2)(3) ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ.มาตรา 90 ให้จำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 2 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์เพียงแต่ปรับบทกฎหมายลงโทษจำเลยทั้งสองให้ถูกต้อง จึงเป็นการแก้ไขเล็กน้อยและลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองคนละไม่เกิน 5 ปี ซึ่งต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ.มาตรา 218 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๓๕ (๑)(๗)(๘), ๓๓๖ ทวิ, ๘๐, ๓๖๕, ๓๓, ๘๓ และริบของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๕(๑)(๗)(๘) วรรคสาม ประกอบด้วยมาตรา ๘๐มาตรา ๓๖๕ (๒)(๓) เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา ๓๓๕ (๑)(๗)(๘) วรรคสาม ประกอบด้วยมาตรา ๘๐ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๙๐ จำคุกคนละ ๓ ปี ริบของกลาง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๕ (๒)(๓) ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ ให้จำคุกจำเลยทั้งสองคนละ ๒ ปีนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกาขอให้รอการลงโทษ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำผิดตามฟ้อง แต่เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๕ (๑)(๗)(๘) วรรคสาม ประกอบด้วยมาตรา ๘๐ จำคุกคนละ ๓ ปี ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษาแก้โดยปรับบทให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๕(๒)(๓) ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดและลดโทษลงเหลือจำคุกคนละ ๒ ปี เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ เพียงแต่ปรับบทกฎหมายลงโทษจำเลยทั้งสองให้ถูกต้องเท่านั้น จึงเป็นการแก้ไขเล็กน้อยและลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองคนละไม่เกิน ๕ ปี ซึ่งต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๘ วรรคหนึ่งฎีกาของจำเลยทั้งสองที่ขอให้รอการลงโทษเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกฎีกาของจำเลยทั้งสอง.