คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1341-1342/2501

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การส่งมอบทรัพย์ให้ไปตามคำหลอกลวงของจำเลยที่ว่าจะช่วยให้เข้ารับราชการนั้น ไม่ใช่การกระทำอันมีความประสงค์ผิดกฎหมาย ผู้ส่งทรัพย์จึงเป็นผู้เสียหายที่จะร้องทุกข์ เพื่อให้อัยการฟ้องจำเลยฐานฉ้อโกงได้

ย่อยาว

คดี ๒ สำนวนนี้เป็นมูลกรณีเดียวกัน หากแต่มีผู้เสียหาย ๒ คน ศาลจึงรวมพิจารณาพิพากษา
โจทก์ฟ้องว่า ระหว่าง ๓ ถึง ๑๕ ต.ค.๒๔๙๙ จำเลยบังอาจเอาความเท็จมาบอกกล่าวแก่นางสาวกาญจนา และนางสาวแจ้ง ว่า จำเลยรับราชการเป็นผู้ช่วยสรรพากรจังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อต้องการจะเข้ารับราชการก็จะช่วยให้สำเร็จ แต่ต้องเสียเงิน ๒,๓๐๐ บาท เป็นค่าเข้าทำงาน ไม่ต้องสอบคัดเลือก ซึ่งความจริงจำเลยมิได้รับราชการ ทั้งนี้ เพื่อเป็นอุบายที่จะหลอกลวงให้นางสาวกาญจนา และนางสาวแจ้งหลงเชื่อตามที่จำเลยหลอกลวง จึงได้มอบเงินคนละ ๒,๓๐๐ บาท ให้แก่จำเลยไป จำเลยรับเงินไปเป็นประโยชน์โดยมิได้จัดการอย่างใด ขอให้ลงโทษ
จำเลยปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นฟังว่า จำเลยกระทำผิดดังฟ้อง พิพากษาว่า จำเลยผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.๓๐๔,๓๐๖ จำคุกสำนวนละ ๒ ปี รวมจำคุก ๔ ปี เอาโทษที่รอไว้ ๖ เดือนมาบวก เป็นจำคุก ๔ ปี ๖ เดือน และให้จำเลยใช้เงิน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงดังศาลชั้นต้น แต่แก้ให้ลงโทษตาม ม.๓๐๔ จำคุก สำนวนละ ๒ ปี รวมจำคุก ๔ ปี ลด ๑ ใน ๔ จำคุก ๓ ปี เอาโทษรอ ๖ เดือนมาบวกเป็นจำคุก ๔ ปี ๖ เดือน และให้จำเลยใช้เงิน
จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับฉะเพาะปัญหาข้อกฎหมาย ที่ว่า ผู้เสียหายมีอำนาจร้องทุกข์หรือไม่ และโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่เท่านั้น
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีไม่ปรากฎว่า การที่ผู้เสียหายมอบเงินให้จำเลยไปตามคำหลอกลวงของจำเลยนั้น เป็นการกระทำอันมีความประสงค์ผิดกฎหมาย ผู้เสียหายจึงชอบที่จะร้องทุกข์และอัยการโจทก์มีอำนาจฟ้องได้ พิพากษายืน

Share