คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10802/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกับ ป. ขับรถพาโจทก์ร่วมที่ 1 ไปห้องพักที่เกิดเหตุ โดยโจทก์ร่วมที่ 1 เต็มใจไปกับ ป. ด้วย ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชักชวนโจทก์ร่วมที่ 1 คงมีแต่คำเบิกความของโจทก์ร่วมที่ 1 ว่า ป. ชวนโจทก์ร่วมที่ 1 ไปโดยบอกว่าจะไปส่งจำเลยที่ 2 กลับหอพักและจะส่งโจทก์ร่วมที่ 1 ก่อนเพราะเป็นทางผ่าน แต่ ป. ไม่ทำตามที่พูดกลับพาโจทก์ร่วมที่ 1 ไปล่วงละเมิดทางเพศในห้องพักที่เกิดเหตุ ซึ่งโจทก์ร่วมที่ 1 ไม่ได้ขัดขืนแต่อย่างใด การกระทำของ ป. กับจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดาเพื่อการอนาจาร โดยผู้เยาว์เต็มใจไปด้วย ส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่มีความผิดฐานดังกล่าวนี้ แต่เนื่องจากเป็นเหตุในลักษณะคดี แม้จำเลยที่ 3 ไม่ได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจวินิจฉัยถึงจำเลยที่ 3 ได้ สำหรับคดีในส่วนแพ่งนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง จำเลยที่ 1 จึงไม่จำต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมทั้งสาม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 276, 319
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นางสาว จ. โดยนาย อ. และนาง ก. ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้เสียหายที่ 1 นาย อ. ผู้เสียหายที่ 2 และนาง ก. ผู้เสียหายที่ 3 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต และโจทก์ร่วมทั้งสามยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงินคนละ 400,000 บาท
จำเลยทั้งสามไม่ยื่นคำให้การคดีส่วนแพ่ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 วรรคแรก, 276 วรรคสาม ประกอบมาตรา 83 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 1 (ที่ถูก และที่ 3) อายุ 16 ปีเศษ จำเลยที่ 2 และที่ 3 (ที่ถูก จำเลยที่ 2) อายุ 15 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 ฐานร่วมกันพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดาเพื่อการอนาจารโดยผู้เยาว์เต็มใจไปด้วย จำคุกคนละ 3 ปี ฐานร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง จำคุกคนละ 8 ปี รวมจำคุกคนละ 11 ปี อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 142 (1), 143 ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยทั้งสามไปควบคุมเพื่อฝึกอบรม ณ ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เขต 4 จังหวัดขอนแก่น มีกำหนดขั้นต่ำคนละ 3 ปี ขั้นสูงคนละ 4 ปี นับแต่วันพิพากษา กับให้จำเลยทั้งสามชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงินคนละ 40,000 บาท แก่โจทก์ร่วมทั้งสาม
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ที่พิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่า ขณะเกิดเหตุโจทก์ร่วมที่ 1 อายุ 15 ปีเศษ กำลังศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 พักอาศัยและอยู่ในความปกครองของโจทก์ร่วมที่ 2 และที่ 3 โจทก์ร่วมที่ 1 คบหากับนาย ป. ฉันคนรัก ในวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้อง โจทก์ร่วมที่ 1 ไปบ้านนาง ร. ผู้เป็นย่าของนาย ป. พบนาย ป. จำเลยทั้งสามและเพื่อน ๆ ของนาย ป. นั่งดื่มสุราอยู่ด้วยกันประมาณ 10 คน ต่อมาโจทก์ร่วมที่ 1 กับนาย ป. ได้เข้าไปในบ้านและมีเพศสัมพันธ์กัน จากนั้นโจทก์ร่วมที่ 1 กับนาย ป. กลับมานั่งดื่มสุราจนกระทั่งเวลาประมาณ 21 นาฬิกา จึงพากันกลับออกไปจากบ้านย่าของนาย ป. โดยจำเลยที่ 2 ขับรถจักรยานยนต์ให้นาย ป. กับโจทก์ร่วมที่ 1 นั่งซ้อนท้าย ส่วนจำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์มีนาย พ. ชายลักษณะกะเทยนั่งหน้าและจำเลยที่ 3 นั่งซ้อนท้ายออกไปก่อน ระหว่างทางจำเลยที่ 2 นำรถจักรยานยนต์ไปปะยางที่ร้านปะยางข้างทางเพราะยางรั่ว นาย ป. พูดคุยกับชายวัยรุ่น 2 คนที่ร้านปะยางซึ่งเป็นคนรู้จักกัน จำเลยทั้งสามกับพวกทั้งหมดพากันไปหอพักของจำเลยที่ 2 โจทก์ร่วมที่ 1 กับนาย ป. มีเพศสัมพันธ์กันในห้องพักของจำเลยที่ 2 แล้วโจทก์ร่วมที่ 1 ถูกจำเลยที่ 2 และที่ 3 กับเพื่อนของนาย ป. อีก 2 คน ข่มขืนกระทำชำเราที่ห้องพักของจำเลยที่ 2 หลังเกิดเหตุโจทก์ร่วมที่ 1 ตั้งครรภ์ นาย ป. ไม่ยอมรับว่าเด็กในครรภ์เป็นบุตรของตน โจทก์ร่วมทั้งสามจึงแจ้งความดำเนินคดีกับแก่นาย ป. กับจำเลยทั้งสามและพวก ต่อมาพนักงานอัยการโจทก์ฟ้องนาย ป. ในความผิดฐานพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดาเพื่อการอนาจาร โดยผู้เยาว์เต็มใจไปด้วย นาย ป. ให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษแล้ว ตามคดีหมายเลขแดงที่ 298/2555 สำหรับคดีนี้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่อุทธรณ์ จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
คงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าในขณะที่จำเลยที่ 3 ข่มขืนกระทำชำเราโจทก์ร่วมที่ 1 นั้น นาย พ. นอนอยู่ในห้องด้วย ทั้งสองคนโดยสารรถจักรยานยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับมายังห้องที่เกิดเหตุ จึงน่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 ยังคงอยู่บริเวณหน้าห้องที่เกิดเหตุเพราะจะต้องรอคนทั้งสองกลับบ้านพร้อมกัน เนื่องจากระยะทางจากอำเภอชุมแพไปอำเภอสีชมพูใช้เวลาในการขับรถจักรยานยนต์นานประมาณ 1 ชั่วโมงซึ่งเป็นระยะทางที่ไกลพอสมควร จำเลยที่ 1 ย่อมจะรู้เห็นการกระทำของเพื่อน ๆ ของนาย ป. ที่เข้าไปข่มขืนกระทำชำเราโจทก์ร่วมที่ 1 อย่างไรก็ตามทางนำสืบของโจทก์และโจทก์ร่วมที่ 1 ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏชัดว่า จำเลยที่ 1 กำลังรอคิวเพื่อจะข่มขืนโจทก์ร่วมที่ 1 หรือไม่ หรือตัวจำเลยที่ 1 ไม่ต้องการข่มขืนโจทก์ร่วมที่ 1 เอง ซึ่งก็เป็นได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธตั้งแต่ชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณาตลอดมา จึงเป็นหน้าที่โจทก์และโจทก์ร่วมที่ 1 ที่จะต้องนำพยานหลักฐานมาสืบให้ปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาร่วมกับจำเลยอื่นกระทำความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราโจทก์ร่วมที่ 1 ในลักษณะโทรมหญิง เห็นควรยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้เป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6
สำหรับความผิดฐานพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดาเพื่อการอนาจาร โดยผู้เยาว์เต็มใจไปด้วยนั้น ข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกับนาย ป. ขับรถพาโจทก์ร่วมที่ 1 ไปห้องพักที่เกิดเหตุ โดยโจทก์ร่วมที่ 1 เต็มใจไปกับนาย ป. ด้วย ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชักชวนโจทก์ร่วมที่ 1 คงมีแต่คำเบิกความของโจทก์ร่วมที่ 1 ว่านาย ป. ชวนโจทก์ร่วมที่ 1 ไปโดยบอกว่าจะไปส่งจำเลยที่ 2 กลับหอพักและจะส่งโจทก์ร่วมที่ 1 ก่อนเพราะเป็นทางผ่าน แต่นาย ป. ไม่ทำตามที่พูดกลับพาโจทก์ร่วมที่ 1 ไปล่วงละเมิดทางเพศในห้องพักที่เกิดเหตุ ซึ่งโจทก์ร่วมที่ 1 ไม่ได้ขัดขืนแต่อย่างใด การกระทำของนาย ป. กับจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดาเพื่อการอนาจาร โดยผู้เยาว์เต็มใจไปด้วย ส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่มีความผิดฐานดังกล่าวนี้ แต่เนื่องจากเป็นเหตุในลักษณะคดี แม้จำเลยที่ 3 ไม่ได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจวินิจฉัยถึงจำเลยที่ 3 ได้ สำหรับคดีในส่วนแพ่งนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง จำเลยที่ 1 จึงไม่จำต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมทั้งสาม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น
พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 และยกฟ้องจำเลยที่ 3 เฉพาะความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 วรรคแรก จำเลยที่ 3 คงจำคุก 8 ปี ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยที่ 3 ไปควบคุมเพื่อฝึกอบรม ณ ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 4 จังหวัดขอนแก่น มีกำหนดขั้นต่ำ 2 ปี ขั้นสูง 2 ปี 6 เดือน ยกคำร้องของโจทก์ร่วมทั้งสามสำหรับจำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4

Share