คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1077/2498

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีที่พลทหารประจำการสมคบกับพวก ซึ่งไม่ปรากฏว่าเป็นทหารหรือพลเรือนกระทำผิด ต้องขึ้นศาลพลเรือน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองเป็นทหารประจำการ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม2496 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยทั้งสองกับพวกอีกประมาณ 5 คน ที่หลบหนี ได้บังอาจสมคบกันมีปืน มีดดาบ และมีดพกเป็นอาวุธ ทำการปล้นทรัพย์ของนายศิริ เคียงประพันธ์ นางไพเราะ เคียงประพันธ์ และนายฉลวย แซ่อั๋ง ไปรวมเป็นเงิน 5,848 บาท ตามบัญชีท้ายฟ้อง ในการปล้น จำเลยกับพวกได้ใช้มีดและปืนขู่เข็ญทำร้ายผู้เสียหาย ใช้ปืนยิงนายฉลวยบาดเจ็บ และจับตัวนางไพเราะไปปล่อยไว้กลางทุ่งนา ต่อมาเจ้าพนักงานจับจำเลยได้ และได้กระสุนปืนในที่เกิดเหตุ 1 นัด เหตุเกิดที่ตำบลสามเสนใน อำเภอดุสิต จังหวัดพระนคร ขอให้ลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์ และให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่ผู้เสียหาย

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธข้อหา และตัดฟ้องว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะ

1. จำเลยเป็นทหาร ตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2496 (ฉบับที่ 5) มาตรา 4 บัญญัติให้ดำเนินคดีในศาลทหารกรุงเทพฯ

2. จำเลยถูกควบคุมตัวนับจากวันถูกจับจนถึงวันฟ้องเกินกว่า 6 เดือน เกินอำนาจกฎหมายซึ่งให้ควบคุมตัวจำเลย

3. จำเลยมีภูมิลำเนาในต่างจังหวัด โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องต่อศาลอาญาขอให้ยกฟ้อง

ศาลอาญาพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อตัดฟ้องของจำเลยข้อ 2 ข้อ 3ฟังไม่ขึ้น ส่วนข้อ 1 นั้น เห็นว่า คดีนี้เป็นคดีมีเหตุควรสงสัยว่าพลเรือนกระทำผิดร่วมกับจำเลยด้วยหรือไม่ ทำให้ไม่แน่ว่าจะต้องฟ้องต่อศาลทหารหรือศาลพลเรือน ถ้าจะฟ้องต่อศาลพลเรือนก็ต้องมีความเห็นของอัยการทหารให้พิจารณาในศาลพลเรือนหรือศาลทหารได้สั่งว่าไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษา หรือสั่งว่าเป็นคดีเกี่ยวพันกับคดีที่อยู่ในอำนาจศาลพลเรือนเสียก่อน มิฉะนั้น โจทก์ไม่มีอำนาจที่จะฟ้องต่อศาลอาญาตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2496 มาตรา 8 ตามฟ้องก็ดี ตามทางพิจารณาก็ดีไม่ปรากฏว่า อัยการทหารเห็นว่าควรให้พิจารณาในศาลพลเรือนทั้งไม่ปรากฏว่า ศาลทหารมีคำสั่งหรือพิพากษาว่าศาลทหารไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งว่าเป็นคดีที่เกี่ยวพันกับคดีที่อยู่ในอำนาจศาลพลเรือน โจทก์จึงไม่มีสิทธินำคดีนี้มาดำเนินในศาลอาญา และศาลอาญาก็ไม่มีอำนาจดำเนินคดี ข้อตัดฟ้องของจำเลยฟังไม่ขึ้น ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงตามคำพยานจึงพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์ว่าคดีของโจทก์เข้าเกณฑ์ในวรรค 3 ตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2496 มาตรา 3 โดยครบถ้วนคดีนี้ศาลอาญาก็ประทับรับฟ้องของโจทก์ไว้ สมควรที่ศาลอาญาจะวินิจฉัยตามอำนาจที่มีอยู่ จึงขอให้กลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลอาญาพิพากษาคดีนี้ต่อไป

ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ว เห็นว่า ความในพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2496 มาตรา 3 ซึ่งให้ยกความในมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2477 วรรค 3 บัญญัติว่า “คดีดังกล่าวในวรรคสอง หรือคดีอื่นใดที่ศาลพลเรือนประทับฟ้องไว้แล้ว แม้จะปรากฏตามทางพิจารณาในภายหลังว่าเป็นคดีอยู่ในอำนาจศาลทหาร ก็ให้ศาลพลเรือนมีอำนาจพิจารณาพิพากษาได้” นั้นหมายความว่าคดีดังกล่าวนั้นไม่เสร็จเด็ดขาด ให้อำนาจศาลพลเรือนที่จะพิจารณาพิพากษาต่อไปได้ คดีนี้ทั้งอัยการทหารและศาลทหารมิได้มีความเห็น คำสั่ง หรือคำพิพากษาประการใด เป็นกรณีที่พนักงานสอบสวนแล้วเห็นว่า เป็นคดีอยู่ในอำนาจศาลพลเรือนได้ส่งสำนวนให้อัยการดำเนินการทางศาลพลเรือน และอัยการได้ฟ้องคดีต่อศาลอาญาและศาลอาญาก็ได้สั่งประทับฟ้องดำเนินการพิจารณาแล้ว กรณีจึงเข้าอยู่ในบทบัญญัติตอนหลังที่ว่า หรือคดีอื่นใดที่ศาลพลเรือนประทับฟ้อง ตามทางพิจารณาก็ยังไม่ปรากฏว่า พวกที่หลบหนีเป็นทหารหรือพลเรือน ดังนี้ ศาลพลเรือนจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้ จึงพิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นเสีย ให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อเท็จจริงตามหลักฐานคำพยานในท้องสำนวน แล้วพิพากษาต่อไปตามรูปคดี

จำเลยทั้งสองฎีกาเป็นข้อกฎหมายต่อมาว่า ตามฟ้องของโจทก์มิได้บรรยายว่า พวกของจำเลยที่ยังจับไม่ได้นั้น เป็นทหารหรือพลเรือนกรณีจึงเป็นกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าคดีจะอยู่ในอำนาจศาลทหารหรือพลเรือนตามวรรค 2 ของมาตรา 8 ซึ่งต้องให้อัยการทหารแทงความเห็นให้ดำเนินคดีในศาลพลเรือน หรือต้องมีคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลทหารว่า ศาลทหารไม่มีอำนาจพิจารณาหรือมีคำสั่งว่า เป็นคดีเกี่ยวพันกับคดีที่อยู่ในอำนาจศาลพลเรือนเสียก่อนศาลพลเรือนจึงจะมีอำนาจดำเนินคดีได้ดังคำพิพากษาของศาลชั้นต้นจึงขอให้กลับศาลอุทธรณ์และยกฟ้องโจทก์ตามศาลชั้นต้น

ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาปัญหาที่จำเลยยกขึ้นโต้เถียงในคดีนี้แล้ว คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองเป็นทหารประจำการสมคบกับพวกที่หลบหนีอีกประมาณ 5 คน กระทำผิดฐานปล้นทรัพย์ โดยมิได้ระบุว่าพวกที่หลบหนีไปนั้นเป็นพลเรือนหรือทหารและโจทก์ได้ฟ้องจำเลยยังศาลพลเรือนแล้ว เป็นปัญหาว่าคดีชนิดนี้ศาลพลเรือนมีอำนาจพิจารณาพิพากษาได้หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าปัญหาเช่นนี้ ศาลฎีกาได้เคยวินิจฉัยไว้เป็นแบบอย่างแล้วว่าคดีชนิดนี้ต้องฟ้องต่อศาลพลเรือน คือ ฎีกาที่ 619/2485 คดีระหว่างอัยการลพบุรี โจทก์ พลทหารเป้ โสพรม จำเลย ศาลอุทธรณ์พิพากษามาชอบแล้ว

เหตุนี้จึงพิพากษายืน ให้ยกฎีกาจำเลยเสีย

Share