แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ข้อบังคับของจำเลยกำหนดให้พนักงานประจำรายวันมีสิทธิลาป่วยในปีหนึ่งได้ไม่เกิน 30 วัน พนักงานประจำรายวันที่เป็นหญิงมีสิทธิลาป่วยเกี่ยวกับการคลอดบุตรได้ไม่เกิน 45 วัน หรือพนักงานประจำรายวันมีสิทธิลากิจส่วนตัวได้ไม่เกิน 20 วันนั้นเป็นกรณีที่แบ่งแยกสิทธิในการลาหยุดงานแต่ละประเภทไว้ต่างหากจากกัน โดยลูกจ้างมีสิทธิลาหยุดงานในแต่ละประเภทได้ไม่เกินจำนวนที่กำหนดมิได้หมายความว่าลูกจ้างจะมีสิทธิลาหยุดงานผิดประเภทได้หรือลาหยุดงานประเภทใดเป็นเวลานานมากน้อยเท่าใดก็ได้เพียงแต่วันลาต้องไม่เกินยอดรวมของวันลาตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ
การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ลาป่วยเกินกำหนด โดยจำเลยได้บอกกล่าวตักเตือนเป็นหนังสือล่วงหน้าก่อนแล้วว่า หากโจทก์ลาป่วยเกินกำหนดอาจถูกพิจารณาเลิกจ้างนั้น เป็นคำสั่งที่มีเหตุสมควร และมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมขอให้เพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงคำสั่งของจำเลย และให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์
จำเลยให้การว่าได้เลิกจ้างโจทก์ตามข้อบังคับถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม ขอให้ยกฟ้อง
วันนัดพิจารณาโจทก์จำเลยแถลงรับความมีอยู่และความถูกต้องของเอกสารซึ่งแต่ละฝ่ายส่งต่อศาล และแถลงไม่สืบพยานโดยขอให้ศาลวินิจฉัยไปตามรูปคดี
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ‘โจทก์อุทธรณ์ว่าการที่โจทก์ลาป่วยนั้นโจทก์ได้รับอนุญาตจากจำเลยแล้ว และตามข้อบังคับของจำเลยฉบับที่ 45 ข้อ 9.2 กำหนดให้พนักงานประจำรายวันมีสิทธิลาป่วยได้ไม่เกิน 30 วันข้อ 10.2 กำหนดให้พนักงานประจำรายวันมีสิทธิลาเกี่ยวกับการคลอดบุตรได้ไม่เกิน 45 วันเมื่อรวมสิทธิในการลาป่วยของโจทก์แล้ว โจทก์มีสิทธิลาป่วยรวมทั้งสิ้น 75 วันแต่โจทก์เพิ่งลาป่วยเพียง 49 วันจึงเหลือสิทธิไว้ในการลาป่วยอีก26 วันและตามข้อ 11.1 กำหนดให้โจทก์มีสิทธิลากิจได้อีกไม่เกิน 20 วันซึ่งโจทก์ใช้สิทธิลากิจไปแล้ว 10 วันยังเหลืออยู่อีก 10 วัน ฉะนั้นโจทก์จึงใช้สิทธิลายังไม่ครบถ้วนตามข้อบังคับของจำเลย การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรและเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมพิเคราะห์แล้วเห็นว่าตามข้อบังคับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฉบับที่ 45ว่าด้วยการลาและการจ่ายเงินเดือนหรือค่าจ้างระหว่างลาพ.ศ.2524ข้อ 9.2 ซึ่งกำหนดให้พนักงานประจำรายวันมีสิทธิลาป่วยในปีหนึ่งได้ไม่เกิน 30 วันข้อ 10.2 กำหนดให้พนักงานประจำรายวันที่เป็นหญิงมีสิทธิลาป่วยเกี่ยวกับการคลอดบุตรได้ไม่เกิน 45 วันหรือข้อ 11.1 กำหนดให้พนักงานประจำรายวันมีสิทธิลากิจส่วนตัวได้ไม่เกิน 20 วันนั้น เป็นกรณีที่ข้อบังคับของจำเลยแบ่งแยกสิทธิในการลาหยุดงานแต่ละประเภทไว้ต่างหากจากกัน โดยลูกจ้างมีสิทธิลาหยุดงานในแต่ละประเภทได้ไม่เกินจำนวนที่กำหนด มิได้หมายความว่าลูกจ้างจะมีสิทธิลาหยุดงานผิดประเภทได้หรือลาหยุดงานประเภทใดเป็นเวลามากน้อยเท่าใดก็ได้ เพียงแต่วันลาต้องไม่เกินยอดรวมของวันลาตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของจำเลยนั้น เมื่อคดีได้ความว่าการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ลาป่วยเกินกำหนดตามข้อบังคับของจำเลยโดยจำเลยได้บอกกล่าวตักเตือนเป็นหนังสือล่วงหน้าก่อนแล้วว่าหากโจทก์ลาป่วยเกินกำหนดตามข้อบังคับของจำเลย อาจถูกพิจารณาเลิกจ้างนั้น ถือได้ว่าจำเลยได้ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของจำเลยแล้วคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นคำสั่งที่มีเหตุสมควรที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้ และมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมดังที่โจทก์อุทธรณ์ อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น’
พิพากษายืน.