แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์เคยยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดกของผ. พี่ร่วมบิดามารดาเดียวกับโจทก์จำเลยที่2บิดาและผู้ใช้อำนาจปกครองของจำเลยที่1บุตรบุญธรรมของผ. ยื่นคำร้องคัดค้านขอให้ศาลตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดกดังนี้ย่อมถือได้ว่าสิทธิในการรับมรดกของโจทก์ถูกกระทบกระเทือนเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองขอให้ศาลพิพากษาว่าการรับบุตรบุญธรรมระหว่างผ. กับจำเลยที่1เป็นโมฆะได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นน้องชายร่วมบิดามารดาเดียวกันกับนางสาวผาย จำเลยที่ 2 เป็นบุตรนายผ่อน พี่ชายร่วมบิดามารดาเดียวกันกับโจทก์ ต่อมานางสาวผายถึงแก่กรรม โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งเป็นผู้จัดการมรดก จำเลยที่ 2 อ้างว่าเป็นบิดาและผู้ใช้อำนาจปกครองจำเลยที่ 1 ยื่นคำคัดค้านและขอให้ศาลตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดก อ้างว่าจำเลยที่ 1 เป็นบุตรบุญธรรมของนางสาวผาย โจทก์เห็นว่าการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายบังคับไว้ ขอให้พิพากษาว่าทะเบียนการรับบุตรบุญธรรม ฉบับเลขที่ 81/1185ลงวันที่ 26 มิถุนายน 2515 ระหว่าง นางสาวผาย ผู้รับบุตรบุญธรรมกับเด็กหญิงวินยะดา บุตรบุญธรรม เป็นโมฆะ และห้ามจำเลยที่ 1ที่ 2 เข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์มรดกของนางสาวผาย จนกว่าจะได้จัดการแบ่งมรดกโดยถูกต้องตามกฎหมาย
จำเลยทั้งสองให้การทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 1 เป็นบุตรของจำเลยที่ 2 กับนางวิลาวรรณ และเป็นบุตรบุญธรรมของนางสาวผาย ซึ่งได้จดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมถูกต้องตามกฎหมายโจทก์ไม่ใช่ทายาทซึ่งมีสิทธิรับมรดกของนางสาวผาย จึงไม่มีสิทธิฟ้องคดีนี้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษายก ฟ้อง
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่โจทก์ซึ่งเป็นน้องชายร่วมบิดามารดาเดียวกันกับนางสาวผาย อ้างว่าตนเป็นทายาทซึ่งมีสิทธิได้รับมรดกของนางสาวผาย แต่เมื่อมีจำเลยที่ 1 อ้างว่าเป็นบุตรบุญธรรมของนางสาวผาย ซึ่งหากข้อเท็จจริงฟังได้เช่นนั้นสิทธิในการรับมรดกของโจทก์ย่อมถูกกระทบกระเทือน การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ในฐานะทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิจะได้รับมรดกของนางสาวผายตามกฎหมาย ดังนั้น โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง
พิพากษายกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี