คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10660/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 6 บัญญัติว่า “รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎหรือข้อบังคับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้” และมาตรา 211 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในการที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับแก่คดีใด ถ้าศาลเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้งพร้อมด้วยเหตุผลว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 6 และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น ให้ศาลส่งความเห็นเช่นว่านั้นตามทางการเพื่อศาลรัฐธรรมนูญจะได้พิจารณาวินิจฉัย ในระหว่างนั้นให้ศาลดำเนินการพิจารณาต่อไปได้แต่ให้รอการพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ” ดังนี้แม้อำนาจในการสั่งรับหรือไม่รับคำโต้แย้งของคู่ความตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 211 วรรคหนึ่ง ดังกล่าวไว้พิจารณาจะเป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ แต่อำนาจในการวินิจฉัยว่าคำโต้แย้งของคู่ความเข้าหลักเกณฑ์ที่จะต้องส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่นั้นเป็นอำนาจของศาลยุติธรรมหาใช่ว่าเมื่อคู่ความมีคำโต้แย้งอย่างไรแล้ว ศาลยุติธรรมจะต้องส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยทุกกรณีไม่ คดีนี้จำเลยฎีกาว่า ป.วิ.พ. มาตรา 293 วรรคหนึ่งและวรรคสาม ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2549 มาตรา 3 บังคับใช้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 264, 272 ประกอบมาตรา 2, 4, 29, 30, 233 ใช้บังคับไม่ได้ตามมาตรา 6 ซึ่งข้อฎีกาของจำเลยล้วนแต่อ้างว่าการตีความของศาลอุทธรณ์ภาค 7 ที่ยกคำร้องของจำเลยที่ขอให้งดการบังคับคดีตามคำสั่งศาลชั้นต้นเนื่องจากยังไม่มีการบังคับคดีและจำเลยมิได้ยื่นฟ้องโจทก์ เป็นคดีเรื่องอื่นในศาลเดียวกัน ไม่ต้องด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 293 ไม่เป็นธรรมแก่คู่ความ เป็นการตีความที่คับแคบขัดต่อพระราชดำริการตีความและการใช้กฎหมายที่ประสงค์จะให้ตีความอย่างอะลุ่มอล่วย ให้เกิดความสุขในบ้านเมือง ทั้งการอ้างว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 2, 4, 29, 30, 233 ก็ไม่ชัดแจ้งว่าขัดแย้งต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตราต่างๆ ดังกล่าวอย่างไร บทบัญญัติดังกล่าวก่อให้เกิดผลที่กระทำให้บุคคลไม่มีความเสมอกันในกฎหมายหรือได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายไม่เท่าเทียมกัน ขัดต่อหลักสิทธิเสรีภาพ และศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติอย่างไร ป.วิ.พ. มาตรา 293 เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ในการงดการบังคับคดีเพิ่มเติมจากหลักทั่วไปตาม ป.วิ.พ. มาตรา 292 โดยมาตรา 293 เป็นบทบัญญัติที่ให้สิทธิแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่จะของดการบังคับคดีโดยมีสิทธิหักกลบลบหนี้กับเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา และแม้จะได้ความตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 293 วรรคหนึ่ง กฎหมายก็ให้อำนาจศาลที่จะให้งดการบังคับคดีหรือไม่ เมื่อกรณีไม่เข้าหลักเกณฑ์ในมาตรา 293 ดังกล่าว ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จึงได้ยกคำร้องของจำเลย คำโต้แย้งของจำเลยไม่ต้องด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 6 ประกอบมาตรา 264 แม้ขณะที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยคดีนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 จะได้ยกเลิกและไม่มีศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยก็ตาม ก็ไม่มีเหตุที่จะต้องส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยและต้องรอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลย และบริวารออกไปจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ที่ตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 9049, 17885 และ 17886 ตำบลปากแพรก อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวนเดือนละ 20,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2548) จนกว่าจำเลยจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาทแก่โจทก์ คดีอยู่ระหว่างการบังคับคดี
จำเลยยื่นคำร้องของดการบังคับคดี 2 ครั้ง ศาลชั้นต้นยกคำร้องทั้งสองครั้ง จำเลยอุทธรณ์คำสั่งที่ยกคำร้องของดการบังคับคดีในครั้งหลัง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์
จำเลยยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่รับอุทธรณ์และยื่นคำร้องขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 293 วรรคสาม ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 272 ประกอบมาตรา 2, 4, 29, 30, 233
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 มีคำสั่งตามคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยว่า ตามคำร้องของจำเลยที่ขอให้งดการบังคับคดีไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 293 ดังนั้น คำสั่งยกคำร้องของศาลชั้นต้นจึงไม่เป็นที่สุด ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ คำสั่งนี้จึงไม่ชอบ แต่ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอให้งดการบังคับของจำเลยโดยวินิจฉัยว่ายังมิได้มีหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีและจำเลยมิได้ยื่นคำฟ้องโจทก์เป็นคดีเรื่องอื่นในศาลเดียวกันนั้น เนื่องจากกรณียังไม่มีการบังคับคดีไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 292 และมาตรา 293 ชอบแล้ว ไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งศาลชั้นต้นที่ยกคำร้อง ค่าคำร้องให้เป็นพับ
ส่วนที่จำเลยขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 7 มีคำสั่งว่า ปรากฏว่าได้มีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2549 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2549 อันมีผลเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ดังนั้น กรณีไม่มีปัญหาว่าบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 293 วรรคสาม จะขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ทั้งยังไม่มีศาลรัฐธรรมนูญที่จะวินิจฉัยเกี่ยวกับกรณีนี้อีกต่อไป จึงไม่มีเหตุที่จะให้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ต้องรอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว ยกคำร้อง ค่าคำร้องให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นนี้เพียงว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 มีคำสั่งยกคำร้องไม่ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย นั้น ชอบหรือไม่ เห็นว่า ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 6 บัญญัติว่า “รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้” และมาตรา 211 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในการที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับแก่คดีใด ถ้าศาลเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้งพร้อมด้วยเหตุผลว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 6 และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น ให้ศาลส่งความเห็นเช่นว่านั้นตามทางการเพื่อศาลรัฐธรรมนูญจะได้พิจารณาวินิจฉัย ในระหว่างนั้นให้ศาลดำเนินการพิจารณาต่อไปได้ แต่ให้รอการพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ” ดังนี้ แม้อำนาจในการสั่งรับหรือไม่รับคำโต้แย้งของคู่ความตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 211 วรรคหนึ่ง ดังกล่าวไว้พิจารณาจะเป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ แต่อำนาจในการวินิจฉัยว่า คำโต้แย้งของคู่ความเข้าหลักเกณฑ์ที่จะต้องส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่นั้นเป็นอำนาจของศาลยุติธรรม หาใช่ว่าเมื่อคู่ความมีคำโต้แย้งอย่างไรแล้ว ศาลยุติธรรมจะต้องส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยทุกกรณีไม่ คดีนี้จำเลยฎีกาว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 293 วรรคหนึ่ง และวรรคสาม ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาไทย พุทธศักราช 2549 มาตรา 3 บังคับใช้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 264, 272 ประกอบมาตรา 2, 4, 29, 30, 233 ใช้บังคับไม่ได้ตามมาตรา 6 ซึ่งข้อฎีกาของจำเลยล้วนแต่อ้างว่าการตีความของศาลอุทธรณ์ภาค 7 ที่ยกคำร้องของจำเลยที่ขอให้งดการบังคับคดีตามคำสั่งศาลชั้นต้นเนื่องจากยังไม่มีการบังคับและจำเลยมิได้ยื่นฟ้องโจทก์เป็นคดีเรื่องอื่นในศาลเดียวกัน ไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 293 ไม่เป็นธรรมแก่คู่ความ เป็นการตีความที่คับแคบขัดต่อพระราชดำริการตีความและการใช้กฎหมายที่มีประสงค์จะให้ตีความอย่างอะลุ่มอล่วย ให้เกิดความสุขในบ้านเมือง ทั้งการอ้างว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 2, 4, 29, 30, 233 ก็ไม่ชัดแจ้งว่าขัดแย้งต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตราต่าง ๆ ดังกล่าวอย่างไร บทบัญญัติดังกล่าวก่อให้เกิดผลที่จะทำให้บุคคลไม่มีความเสมอกันในกฎหมายหรือได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายไม่เท่าเทียมกัน ขัดต่อหลักสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติอย่างไร ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 293 เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ในการงดการบังคับคดีเพิ่มเติมจากหลักทั่วไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 292 โดยมาตรา 293 บัญญัติว่า “ลูกหนี้ตามคำพิพากษาอาจยื่นคำขอทำเป็นคำร้องต่อศาลให้งดการบังคับคดีไว้ โดยเหตุที่ตนได้ยื่นฟ้องเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเป็นคดีเรื่องอื่นในศาลเดียวกันนั้น ซึ่งศาลยังมิได้วินิจฉัยชี้ขาด และถ้าหากตนเป็นฝ่ายชนะ จะไม่ต้องมีการขายทอดตลาดหรือจำหน่ายทรัพย์สินของตนโดยวิธีอื่น เพราะสามารถจะหักกลบลบหนี้กันได้
ถ้าศาลเห็นว่าข้ออ้างของลูกหนี้ตามคำพิพากษามีเหตุผลฟังได้และถ้างดการบังคับคดีไว้ไม่น่าจะเป็นที่เสียหายแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ศาลอาจมีคำสั่งงดบังคับคดีไว้ภายในระยะเวลาและเงื่อนไขตามที่เห็นสมควร
คำสั่งของศาลตามมาตรานี้ให้เป็นที่สุด” บทบัญญัติดังกล่าวให้สิทธิแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่จะของดการบังคับคดีโดยมีสิทธิหักกลบลบหนี้กับเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและแม้จะได้ความตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 293 วรรคหนึ่ง กฎหมายก็ให้อำนาจศาลที่จะใช้ดุลพินิจให้งดการบังคับคดีหรือไม่ เมื่อกรณีไม่เข้าหลักเกณฑ์ในมาตรา 293 ดังกล่าว ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จึงได้ยกคำร้องของจำเลย คำโต้แย้งของจำเลยไม่ต้องด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญของราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 6 ประกอบมาตรา 264 แม้ขณะที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยคดีนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 จะได้ยกเลิกและไม่มีศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยก็ตาม ก็ไม่มีเหตุที่จะต้องส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และต้องรอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ยกคำร้องชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share