คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10552/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แม้ตามคำฟ้องโจทก์จะบรรยายว่า จำเลยโดยเจตนาทุจริตหลอกลวงผู้เสียหายที่ 2 ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จและด้วยการแสดงตนเป็นบุคคลอื่น แต่ตามทางพิจารณาที่ได้ความนั้น เป็นเรื่องที่จำเลยหลอกลวง ส. มารดาผู้เสียหายที่ 2 มิใช่หลอกลวงผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของเงินก็ตาม แต่เมื่อผู้เสียหายที่ 2 เป็นเจ้าของเงินที่ให้กู้ และเป็นผู้ทำสัญญากู้ในฐานะผู้ให้กู้เงินที่จำเลยผู้กู้นำโฉนดที่ดินของบุคคลอื่นมาหลอกลวงดังกล่าว เพื่อให้ได้เงินที่กู้ยืมไป ผู้เสียหายที่ 2 ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดของจำเลยแล้ว
จำเลยหลอกลวงด้วยการทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นบุคคลเดียวกับ ป. ผู้มีชื่อในโฉนดที่ดินที่จำเลยนำมาเป็นหลักประกันในการกู้เงินจากผู้เสียหายที่ 2 จากการหลอกลวงดังกล่าวทำให้ได้ไปซึ่งเงินจากผู้เสียหายที่ 2 การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188, 341, 342, 91 ให้จำเลยคืนเงิน 70,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 2
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188, 341 ประกอบมาตรา 342 (1) เป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่น จำคุก 1 ปี ฐานฉ้อโกง จำคุก 2 ปี รวม 2 กระทง จำคุก 3 ปี ให้จำเลยคืนเงินจำนวน 70,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 2
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ปรับบทลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานฉ้อโกง และยกคำขอให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 70,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “สำหรับความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่น คู่ความไม่ได้ฎีกา คดีสำหรับความผิดฐานดังกล่าวจึงฟังยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานฉ้อโกง และยกคำขอให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่ผู้เสียหายที่ 2 โดยเห็นว่า จำเลยแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อนางสุมล มารดาผู้เสียหายที่ 2 มิใช่แสดงต่อผู้เสียหายที่ 2 พยานหลักฐานของโจทก์จึงต่างไปจากคำฟ้อง การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการฉ้อโกงผู้เสียหายที่ 2 นั้น เป็นการชอบหรือไม่ เห็นว่า แม้ตามคำฟ้องโจทก์จะบรรยายว่า จำเลยโดยเจตนาทุจริตหลอกลวงผู้เสียหายที่ 2 ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จและด้วยการแสดงตนเป็นบุคคลอื่น แต่ตามทางพิจารณาที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องที่จำเลยหลอกลวงนางสุมลมารดาผู้เสียหายที่ 2 มิใช่หลอกลวงผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของเงินจำนวน 70,000 บาท ก็ตาม แต่เมื่อผู้เสียหายที่ 2 เป็นเจ้าของเงินที่ให้กู้ และเป็นผู้ทำสัญญากู้ในฐานะผู้ให้กู้เงินที่จำเลยผู้กู้นำโฉนดที่ดินของบุคคลอื่นมาหลอกลวงดังกล่าว เพื่อให้ได้เงินที่กู้ยืมไป ผู้เสียหายที่ 2 ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดของจำเลยแล้ว จึงเป็นผู้เสียหายในคดีฉ้อโกงด้วยคนหนึ่ง ข้อแตกต่างดังกล่าวนี้จึงหาใช่ข้อสาระสำคัญ ทั้งจำเลยก็มิได้หลงต่อสู้ เมื่อข้อแตกต่างดังกล่าวไม่ใช่ข้อสาระสำคัญ ศาลอุทธรณ์ภาค 5 จึงหาอาจพิพากษายกฟ้องโจทก์ในข้อหาฉ้อโกงโดยพิจารณาแต่เพียงว่าผู้เสียหายที่ 2 มิได้เป็นผู้ถูกหลอกลวงได้ไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษามานั้น ยังไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยเป็นประการต่อไปว่า จำเลยกระทำความผิดฐานฉ้อโกงโดยแสดงตัวเป็นบุคคลอื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 342 (1) หรือไม่ ปัญหานี้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ยังไม่ได้วินิจฉัย แต่เมื่อศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยเสร็จสิ้นแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียวโดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยก่อน …พยานหลักฐานที่โจทก์นำมาสืบมีน้ำหนักมั่นคง ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยหลอกลวงด้วยการทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นบุคคลเดียวกับนายปั๋น ผู้มีชื่อในโฉนดที่ดินเลขที่ 72880 ที่จำเลยนำมาเป็นหลักประกันในการกู้เงินจากผู้เสียหายที่ 2 จากการหลอกลวงดังกล่าวทำให้ได้ไปซึ่งเงินจำนวน 70,000 บาท จากผู้เสียหายที่ 2 การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตามที่โจทก์ฟ้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share