แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การตีความสัญญาต้องเพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษรและต้องเป็นไปตามความประสงค์ในทางสุจริตโดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 171 และมาตรา 368 แม้สัญญาทั้งสองฉบับจะระบุชื่อว่า “สัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้า” และ ตามข้อ 1 ของสัญญาฉบับที่ 1 ระบุว่า “ผู้อนุญาต (โจทก์) เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้า ดังนี้… 1.1 ลิขสิทธิ์หลักสูตร วิธีการสอน E.M.T. (สมาร์ทเซ็นเตอร์ คณิตคิดเร็ว)… 1.2 ลิขสิทธิ์หลักสูตร วิธีการสอน “EngGet Smart English”… 1.3 เครื่องหมายการค้า “E.M.T.”… 1.4 เครื่องหมายการค้า “EngGet Smart English”…ซึ่งต่อไปตามสัญญานี้จะเรียกว่า “ลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้า” ส่วนข้อ 1 ตามสัญญาฉบับที่ 2 ระบุว่า “ผู้อนุญาต (โจทก์) เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้า ดังนี้ 1.1 ลิขสิทธิ์ หลักสูตร วิธีการสอน ตำราเรียน สมาร์ทเซ็นเตอร์ คณิตคิดเร็ว… 1.2 ลิขสิทธิ์ หลักสูตร วิธีการสอน ตำราเรียน “EngGet Smart English”… 1.3 เครื่องหมายการค้า “E.M.T”… 1.4 เครื่องหมายการค้า “EngGet”… ซึ่งต่อไปนี้ในสัญญาจะเรียกว่า “ลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้า” และตามข้อ 2 ของสัญญาทั้งสองฉบับระบุว่า “ผู้อนุญาต (โจทก์) ตกลงอนุญาตและผู้รับอนุญาต (จำเลย) ตกลงรับอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้า…” ก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาข้อความทั้งหมดตามสัญญาทั้งสองฉบับแล้ว ในส่วน “สัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์” แม้ข้อ 1.1 และ 1.2 ตามสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าวจะระบุว่าโจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในหลักสูตร วิธีการสอน และตำราเรียน แต่งานอันมีลิขสิทธิ์จะต้องเป็นงานอย่างใดอย่างหนึ่งใน 9 ประเภท ตามที่ได้บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องและนำสืบให้เห็นว่าหลักสูตรและวิธีการสอนของโจทก์ โจทก์ได้แสดงออกโดยวิธีหรือรูปแบบของงานอันมีลิขสิทธิ์อย่างใดอย่างหนึ่งใน 9 ประเภท ดังกล่าว หลักสูตรและวิธีการสอนดังกล่าวจึงเป็นเพียงความคิดและขั้นตอนการทำงานซึ่งมิได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 6 วรรคสอง คงมีเพียงตำราเรียนเท่านั้นที่เป็นงานสร้างสรรค์ประเภทวรรณกรรมอันเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง ตามสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าวไม่ปรากฏว่าโจทก์อนุญาตให้จำเลยใช้สิทธิทำซ้ำ ดัดแปลง หรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งตำราเรียนอันเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์แต่อย่างใด คงมีแต่ข้อตกลงให้จำเลยต้องซื้อตำราเรียนจากโจทก์และห้ามมิให้จำเลยกระทำการใด ๆ อันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ สัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าวจึงไม่มีข้อตกลงที่โจทก์อนุญาตให้จำเลยใช้ลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมตำราเรียนของโจทก์ ย่อมไม่ใช่สัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์แต่เป็นสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์เพียงแต่ชื่อเท่านั้น ในส่วนข้อสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าในสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าว ปรากฏว่าเครื่องหมายคำว่า “E.M.T.” และคำว่า “EngGet” ในข้อ 1.3 และ 1.4 เป็นเครื่องหมายที่ใช้กับบริการให้การศึกษา โดยจำเลยมิได้นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น แม้จะใช้ถ้อยคำตามสัญญาว่า “เครื่องหมายการค้า” เมื่อไม่ได้นำเครื่องหมายคำว่า “E.M.T.” และคำว่า “EngGet” ไปใช้กับสินค้าแต่ใช้กับบริการ เครื่องหมายดังกล่าวจึงเป็นเครื่องหมายบริการ ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 4 สัญญาในส่วนนี้จึงเป็นสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายบริการ นอกจากนี้สัญญาดังกล่าวยังมีข้อตกลงให้โจทก์สนับสนุนการถ่ายทอดนโยบายการทำงานและวิธีการสอนให้แก่บุคลากรของจำเลย จัดโครงสร้างการสอน การบริหารงานบุคคล ควบคุมและประเมินคุณภาพการเรียนของนักเรียน และจำเลยตกลงว่าจะปฏิบัติตามนโยบายแผนการปฏิบัติงานของโจทก์ จำเลยต้องเรียกเก็บค่าเล่าเรียนตามเกณฑ์ที่โจทก์กำหนดและต้องซื้อตำราเรียนจากโจทก์เท่านั้น ห้ามมิให้จำเลยกระทำการใด ๆ อันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ และเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาตามสัญญา จำเลยจะไม่ประกอบกิจการอันมีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกับโจทก์เป็นระยะเวลา 10 ปี ดังนี้ ข้อตกลงอื่นในสัญญาดังกล่าวเป็นข้อตกลงกำหนดสิทธิและหน้าที่ของโจทก์และจำเลยนอกเหนือจากข้อตกลงอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายบริการ ซึ่งข้อตกลงอื่นดังกล่าวรวมทั้งข้อตกลงที่ให้จำเลยใช้วิธีการสอนของโจทก์และให้จำเลยซื้อตำราเรียนจากโจทก์ซึ่งสามารถแยกออกจากข้อตกลงที่โจทก์อนุญาตให้จำเลยใช้เครื่องหมายบริการจดทะเบียนคำว่า “E.M.T.” และคำว่า “EngGet” ได้ ทั้งนี้ การตีความสัญญาต้องเป็นไปตามเจตนาอันแท้จริงของคู่สัญญาและตามความประสงค์ในทางสุจริตโดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 171 และมาตรา 368 เมื่อโจทก์และจำเลยมิได้ตกลงกันให้ปฏิบัติแตกต่างจากปกติประเพณี แม้ในสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์และเครื่องหมายบริการระหว่างโจทก์กับจำเลยจะมีข้อสัญญาส่วนหนึ่งที่โจทก์อนุญาตให้จำเลยใช้เครื่องหมายบริการที่ได้จดทะเบียนในราชอาณาจักรของโจทก์คำว่า “E.M.T.” และคำว่า “EngGet” ซึ่งมิได้ทำให้ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายบังคับไว้โดยไม่ได้จดทะเบียนต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและตกเป็นโมฆะ ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 80 ประกอบมาตรา 68 วรรคสอง ก็ตาม แต่ข้อสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายบริการจดทะเบียนดังกล่าวเป็นเพียงข้อสัญญาประกอบข้อหนึ่งของข้อตกลงอื่นรวมทั้งข้อตกลงที่ให้จำเลยใช้วิธีการสอนของโจทก์และให้จำเลยซื้อตำราเรียนจากโจทก์ในสัญญาเท่านั้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าโจทก์และจำเลยผู้เป็นคู่สัญญามีเจตนาจะผูกพันกันตามข้อตกลงอื่นดังกล่าวโดยให้มีผลสมบูรณ์บังคับกันได้ระหว่างโจทก์กับจำเลยแยกต่างหากจากข้อสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายบริการจดทะเบียนที่ตกเป็นโมฆะ ข้อตกลงตามสัญญาในส่วนอื่นจึงยังคงมีความสมบูรณ์และใช้บังคับระหว่างโจทก์กับจำเลยได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 173
ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยทำสัญญาดังกล่าวโดยสำคัญผิดในสาระสำคัญแห่งนิติกรรม นั้น ปรากฏว่าจำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้เป็นประเด็นข้อพิพาทแห่งคดี จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 38 (เดิม) ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในข้อนี้
แม้จะมีการทำซ้ำแบบเรียน “Smart Center Mental Arithmetic System Course 3 Book 1” จำนวน 2 หน้า จากจำนวนทั้งหมด 50 หน้า และแบบเรียน “Smart Center Mental Arithmetic System Course 3 Book 2” จำนวน 4 หน้า จากทั้งหมด 50 หน้า ให้แก่นักเรียนจำนวนประมาณ 20 ถึง 30 คน แต่ในส่วนที่ทำซ้ำดังกล่าวเป็นโจทย์ฝึกทักษะด้วยระบบลูกคิดโดยในแต่ละหน้าประกอบด้วยโจทย์หลายข้อ ซึ่งโจทย์แต่ละข้อผู้สร้างสรรค์ต้องใช้ความวิริยะอุตสาหะในการแสดงออกซึ่งความคิดของผู้สร้างสรรค์ในข้อนั้น ๆ ดังนี้ ในทุก ๆ หน้า จึงเป็นส่วนสาระสำคัญของแบบเรียนดังกล่าว โดยมิได้ขึ้นอยู่กับจำนวนหน้าแต่อย่างใด ทั้งนี้ ตามข้อ 6.1 และข้อ 8.1 ของสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้าระบุว่า ผู้รับอนุญาต (จำเลย) ตกลงว่าจะไม่กระทำการใด ๆ อันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ และข้อ 6.3 และข้อ 8.3 กำหนดให้ผู้รับอนุญาต (จำเลย) ต้องใช้หลักสูตรและวิธีการสอนตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ที่ผู้อนุญาต (โจทก์) กำหนดไว้ กับทั้งข้อ 6.18 และข้อ 8.16 ผู้รับอนุญาต (จำเลย) ต้องใช้แบบเรียนและอุปกรณ์การเรียนการสอนภายใต้ลิขสิทธิ์ของผู้อนุญาต (โจทก์) จากผู้อนุญาต (โจทก์) เท่านั้น แสดงว่าจำเลยจะต้องใช้หลักสูตรและวิธีการสอนตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ที่ผู้อนุญาต (โจทก์) กำหนดไว้โดยต้องใช้แบบเรียนและอุปกรณ์การเรียนการสอนภายใต้ลิขสิทธิ์ของผู้อนุญาต (โจทก์) จากผู้อนุญาต (โจทก์) เท่านั้น ทั้งโจทก์มิได้อนุญาตให้จำเลยทำซ้ำตำราเรียนของโจทก์ การที่จำเลยอ้างว่าทำซ้ำตำราเรียนบางส่วนเพื่อเป็นการฝึกทักษะจึงเป็นการกระทำนอกเหนือไปจากขอบเขตตามสัญญา โดยจำเลยประกอบกิจการโรงเรียนกวดวิชาซึ่งเป็นธุรกิจเพื่อหากำไร แม้จะเป็นการทำซ้ำโดยผู้สอนเพื่อประโยชน์ในการสอน แต่ก็เป็นการกระทำเพื่อหากำไรจากการประกอบกิจการโรงเรียนกวดวิชาของจำเลย จึงไม่เข้าข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 32 วรรคหนึ่งและวรรคสอง (6) นอกจากนี้โจทก์ได้รับค่าลิขสิทธิ์ซึ่งรวมอยู่ในรายได้จากการจำหน่ายตำราเรียนให้แก่นักเรียนที่มาเรียนที่โรงเรียนของจำเลยเท่านั้น โดยโจทก์มิได้อนุญาตให้จำเลยใช้ลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมตำราเรียนของโจทก์ การที่จำเลยทำซ้ำตำราเรียนอันเป็นงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์แม้เพียงบางส่วนโดยมิได้ชำระค่าลิขสิทธิ์แก่โจทก์ และการกระทำดังกล่าวเป็นช่องทางให้นักเรียนที่มาเรียนที่โรงเรียนของจำเลยไม่จำต้องซื้อตำราเรียนจากโจทก์ ย่อมเป็นการขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามปกติของโจทก์ ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 32 วรรคหนึ่ง การที่จำเลยทำซ้ำตำราเรียนบางส่วนของโจทก์จึงเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27 (1)
เมื่อเปรียบเทียบสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้าระหว่างโจทก์กับจำเลย กับสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้าระหว่างโจทก์กับผู้มีชื่อลงวันที่ 1 สิงหาคม 2547 และวันที่ 19 พฤศจิกายน 2549 แล้วมีลักษณะเป็นแบบพิมพ์ที่มีการกำหนดข้อความไว้ล่วงหน้าและนำมาใช้กับคู่สัญญาทุกราย จึงมีลักษณะเป็นสัญญาสำเร็จรูป ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 3 และตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว มาตรา 4 วรรคสาม (3) ที่บัญญัติว่า ข้อตกลงให้สัญญาสิ้นสุดลงโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรหรือให้สิทธิบอกเลิกสัญญาได้โดยอีกฝ่ายหนึ่งมิได้ผิดสัญญาในข้อสาระสำคัญนั้น เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของข้อตกลงที่มีลักษณะหรือมีผลให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่า ที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติอันอาจถือได้ว่าทำให้คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเท่านั้น ไม่ถึงขนาดว่าหากมีข้อตกลงในลักษณะดังกล่าวจะถือว่าเป็นข้อตกลงที่ทำให้ผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูปได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควรอันจะมีผลทำให้เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว มาตรา 4 วรรคหนึ่ง เมื่อปรากฏว่าข้อตกลงที่เป็นเหตุในการบอกเลิกสัญญาในข้อ 6 และข้อ 8 ของสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้าระหว่างโจทก์กับจำเลย เป็นข้อตกลงที่ห้ามมิให้จำเลยผู้รับอนุญาตกระทำสิ่งใดอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ผู้อนุญาต ให้จำเลยผู้รับอนุญาตตกแต่งสถานประกอบการ ติดตั้งป้ายโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์ตามแบบของโจทก์ผู้อนุญาต และให้จำเลยผู้รับอนุญาตกำหนดจำนวนนักเรียนและวันเปิดปิดโรงเรียนตามนโยบายของโจทก์ผู้อนุญาต จึงเห็นได้ว่าข้อตกลงดังกล่าวมีวัตถุประสงค์แห่งสัญญาให้โจทก์ผู้อนุญาตสามารถควบคุมรูปแบบของกิจการและคุณภาพของการเรียนการสอนตามหนังสือตำราเรียนที่โจทก์มีลิขสิทธิ์ในโรงเรียนของจำเลยให้เป็นไปในรูปแบบและแนวทางเดียวกัน ซึ่งจำเลยจะต้องปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าว จึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นข้อตกลงที่มีลักษณะหรือมีผลให้จำเลยผู้รับอนุญาตต้องปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติอันเป็นข้อตกลงที่อาจถือได้ว่าทำให้ได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง การที่ให้สิทธิโจทก์บอกเลิกสัญญาได้เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงข้อใดข้อหนึ่งดังกล่าว จึงไม่ใช่ข้อตกลงให้สัญญาสิ้นสุดลงโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ข้อตกลงดังกล่าวไม่ใช่ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 4 ย่อมใช้บังคับระหว่างโจทก์กับจำเลยผู้เป็นคู่สัญญาได้
การรับฟังพยานหลักฐานในคดีแพ่งกับในคดีอาญากฎหมายบัญญัติไว้แตกต่างกัน ไม่อาจนำบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 226 และมาตรา 226/1 ซึ่งบัญญัติห้ามมิให้รับฟังพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นจากการจูงใจ มีคำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวงหรือโดยมิชอบประการอื่น และพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยชอบแต่ได้มาเนื่องจากการกระทำโดยมิชอบหรือเป็นพยานหลักฐานที่ได้มาโดยอาศัยข้อมูลที่เกิดขึ้นหรือได้มาโดยมิชอบ มาใช้บังคับกับการรับฟังพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้ ดังนั้น การรับฟังพยานหลักฐานในคดีแพ่งจึงเป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 104 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า “ให้ศาลมีอำนาจเต็มที่ในอันที่จะวินิจฉัยว่าพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบนั้นจะเกี่ยวกับประเด็นและเป็นอันเพียงพอให้เชื่อฟังเป็นยุติได้หรือไม่ แล้วพิพากษาคดีไปตามนั้น”
เมื่อโจทก์และจำเลยต่างฝ่ายต่างมีความผูกพันซึ่งกันและกันโดยมีมูลหนี้อันเป็นวัตถุแห่งหนี้ที่ต้องชำระให้แก่กันและกันเป็นเงินอย่างเดียวกันและหนี้เงินที่โจทก์และจำเลยต้องชำระให้แก่กันและกันนั้นถึงกำหนดชำระแล้วด้วยกัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 341 ดังนี้ เพื่อความสะดวกในการบังคับคดี จึงให้นำหนี้เงินที่จำเลยต้องชำระแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้องจำนวน 725,148 บาท มาหักกลบลบกันกับหนี้เงินที่โจทก์ต้องชำระแก่จำเลยพร้อมดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้องจำนวน 307,274 บาท เมื่อหักกลบลบหนี้กันแล้ว คงเหลือค่าเสียหายที่จำเลยต้องชดใช้แก่โจทก์ถึงวันฟ้องเป็นต้นเงินจำนวน 417,874 บาท
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 7,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ในอัตราวันละ 10,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะหยุดประกอบกิจการ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง และฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์ชดใช้ค่าตอบแทนในการทำสัญญาจำนวน 2 ฉบับ รวมจำนวน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 14 สิงหาคม 2551 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งและแก้ไขคำให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 1,130,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ในอัตราวันละ 1,500 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะหยุดประกอบกิจการในลักษณะเดียวกับโจทก์ ให้โจทก์ชำระเงินแก่จำเลยจำนวน 330,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 14 สิงหาคม 2551 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 30,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนของฟ้องแย้งให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยไม่ได้โต้แย้งในชั้นอุทธรณ์รับฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมตำราเรียนชื่อ “Smart Center Mental Arithmetic System Course 1 – Course 10 Book 1” รวมจำนวน 10 เล่ม ตำราเรียนชื่อ “Smart Center Mental Arithmetic System Course 1 – Course 10 Book 2” รวมจำนวน 10 เล่ม และตำราเรียนชื่อ “EngGet Smart English” ระดับ “Yellow” รวมจำนวน 10 เล่ม และระดับ “Green” รวมจำนวน 10 เล่ม และโจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายบริการคำว่า “E.M.T.” และคำว่า “EngGet” ซึ่งได้รับการจดทะเบียนไว้กับบริการจำพวก 41 รายการบริการ บริการให้การศึกษา ตามทะเบียนเลขที่ บ19440 และเลขที่ บ18950 เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2545 โจทก์และจำเลยทำสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์และเครื่องหมายบริการดังกล่าวเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2548 และวันที่ 8 เมษายน 2550 ตามลำดับ โดยโจทก์ได้รับค่าตอบแทนในวันทำสัญญาจำนวนฉบับละ 250,000 บาท รวมจำนวน 500,000 บาท ต่อมาวันที่ 14 สิงหาคม 2550 โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าว โดยโจทก์บอกกล่าวให้จำเลยเก็บรวบรวมลิขสิทธิ์และเครื่องหมายบริการของโจทก์ทั้งหมดออกจากสถานประกอบการของจำเลยภายใน 40 วัน นับแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2550 อันเป็นวันที่จำเลยได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาของโจทก์ คือภายในวันที่ 25 กันยายน 2550
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อแรกว่า สัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์และเครื่องหมายบริการระหว่างโจทก์กับจำเลย ฉบับลงวันที่ 7 กรกฎาคม 2548 และฉบับลงวันที่ 8 เมษายน 2550 เป็นโมฆะทั้งฉบับหรือไม่ เห็นว่า การตีความสัญญาต้องเพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษรและต้องเป็นไปตามความประสงค์ในทางสุจริตโดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 171 และมาตรา 368 แม้สัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าวจะระบุชื่อว่า “สัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้า” และตามข้อ 1 ของสัญญาระบุว่า “ผู้อนุญาต (โจทก์) เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้า ดังนี้… 1.1 ลิขสิทธิ์หลักสูตร วิธีการสอน E.M.T. (สมาร์ทเซ็นเตอร์ คณิตคิดเร็ว)… 1.2 ลิขสิทธิ์หลักสูตร วิธีการสอน “EngGet Smart English”… 1.3 เครื่องหมายการค้า “E.M.T.”… 1.4 เครื่องหมายการค้า “EngGet Smart English”…ซึ่งต่อไปตามสัญญานี้จะเรียกว่า “ลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้า” ส่วนข้อ 1 ตามสัญญาระบุว่า “ผู้อนุญาต (โจทก์) เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้า ดังนี้ 1.1 ลิขสิทธิ์ หลักสูตร วิธีการสอน ตำราเรียน สมาร์ทเซ็นเตอร์ คณิตคิดเร็ว… 1.2 ลิขสิทธิ์ หลักสูตร วิธีการสอน ตำราเรียน “EngGet Smart English”… 1.3 เครื่องหมายการค้า “E.M.T”… 1.4 เครื่องหมายการค้า “EngGet”… ซึ่งต่อไปนี้ในสัญญาจะเรียกว่า “ลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้า” และตามข้อ 2 ของสัญญาทั้งสองฉบับระบุว่า “ผู้อนุญาต (โจทก์) ตกลงอนุญาตและผู้รับอนุญาต (จำเลย) ตกลงรับอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้า…” ก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาข้อความทั้งหมดตามสัญญาทั้งสองฉบับแล้ว ในส่วน “สัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์” แม้ข้อ 1.1 และ 1.2 ตามสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าวจะระบุว่าโจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในหลักสูตร วิธีการสอน และตำราเรียน แต่งานอันมีลิขสิทธิ์จะต้องเป็นงานอย่างใดอย่างหนึ่งใน 9 ประเภท ตามที่ได้บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องและนำสืบให้เห็นว่าหลักสูตรและวิธีการสอนของโจทก์ โจทก์ได้แสดงออกโดยวิธีหรือรูปแบบของงานอันมีลิขสิทธิ์อย่างใดอย่างหนึ่งใน 9 ประเภท ดังกล่าว หลักสูตรและวิธีการสอนดังกล่าวจึงเป็นเพียงความคิดและขั้นตอนการทำงานซึ่งมิได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 6 วรรคสอง คงมีเพียงตำราเรียนเท่านั้นที่เป็นงานสร้างสรรค์ประเภทวรรณกรรมอันเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง ตามสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าวไม่ปรากฏว่า โจทก์อนุญาตให้จำเลยใช้สิทธิทำซ้ำ ดัดแปลง หรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งตำราเรียนอันเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์แต่อย่างใด คงมีแต่ข้อตกลงให้จำเลยต้องซื้อตำราเรียนจากโจทก์และห้ามมิให้จำเลยกระทำการใด ๆ อันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ สัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าวจึงไม่มีข้อตกลงที่โจทก์อนุญาตให้จำเลยใช้ลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมตำราเรียนของโจทก์ สัญญาย่อมไม่ใช่สัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์แต่เป็นสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์เพียงแต่ชื่อเท่านั้น ในส่วนข้อสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าปรากฏว่าเครื่องหมายคำว่า “E.M.T.” และคำว่า “EngGet” ในข้อ 1.3 และ 1.4 ตามสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าวเป็นเครื่องหมายที่ใช้กับบริการให้การศึกษา โดยจำเลยมิได้นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น แม้จะใช้ถ้อยคำตามสัญญาว่า “เครื่องหมายการค้า” เมื่อไม่ได้นำเครื่องหมายคำว่า “E.M.T.” และคำว่า “EngGet” ไปใช้กับสินค้าแต่ใช้กับบริการ เครื่องหมายดังกล่าวจึงเป็นเครื่องหมายบริการ ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 4 สัญญาในส่วนนี้จึงเป็นสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายบริการ นอกจากนี้สัญญาดังกล่าวยังมีข้อตกลงให้โจทก์สนับสนุนการถ่ายทอดนโยบายการทำงานและวิธีการสอนให้แก่บุคลากรของจำเลย จัดโครงสร้างการสอน การบริหารงานบุคคล ควบคุมและประเมินคุณภาพการเรียนของนักเรียน และจำเลยตกลงว่าจะปฏิบัติตามนโยบายแผนการปฏิบัติงานของโจทก์ จำเลยต้องเรียกเก็บค่าเล่าเรียนตามเกณฑ์ที่โจทก์กำหนดและต้องซื้อตำราเรียนจากโจทก์เท่านั้น ห้ามมิให้จำเลยกระทำการใด ๆ อันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ และเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาตามสัญญา จำเลยจะไม่ประกอบกิจการอันมีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกับโจทก์เป็นระยะเวลา 10 ปี ดังนี้ ข้อตกลงอื่นในสัญญาดังกล่าวเป็นข้อตกลงกำหนดสิทธิและหน้าที่ของโจทก์และจำเลยนอกเหนือจากข้อตกลงอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายบริการ ซึ่งข้อตกลงอื่นดังกล่าวรวมทั้งข้อตกลงที่ให้จำเลยใช้วิธีการสอนของโจทก์และให้จำเลยซื้อตำราเรียนจากโจทก์ซึ่งสามารถแยกออกจากข้อตกลงที่โจทก์อนุญาตให้จำเลยใช้เครื่องหมายบริการจดทะเบียนคำว่า “E.M.T.” และคำว่า “EngGet” ได้ ทั้งนี้ การตีความสัญญาต้องเป็นไปตามเจตนาอันแท้จริงของคู่สัญญาและตามความประสงค์ในทางสุจริตโดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 171 และมาตรา 368 เมื่อโจทก์และจำเลยมิได้ตกลงกันให้ปฏิบัติแตกต่างจากปกติประเพณี แม้ในสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์และเครื่องหมายบริการระหว่างโจทก์กับจำเลยจะมีข้อสัญญาส่วนหนึ่งที่โจทก์อนุญาตให้จำเลยใช้เครื่องหมายบริการที่ได้จดทะเบียนในราชอาณาจักรของโจทก์คำว่า “E.M.T.” และคำว่า “EngGet” ซึ่งมิได้ทำให้ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายบังคับไว้โดยไม่ได้จดทะเบียนต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและตกเป็นโมฆะ ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 80 ประกอบมาตรา 68 วรรคสอง ก็ตาม แต่ข้อสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายบริการจดทะเบียนดังกล่าวเป็นเพียงข้อสัญญาประกอบข้อหนึ่งของข้อตกลงอื่นรวมทั้งข้อตกลงที่ให้จำเลยใช้วิธีการสอนของโจทก์และให้จำเลยซื้อตำราเรียนจากโจทก์เท่านั้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าโจทก์และจำเลยผู้เป็นคู่สัญญามีเจตนาจะผูกพันกันตามข้อตกลงอื่นดังกล่าวโดยให้มีผลสมบูรณ์บังคับกันได้ระหว่างโจทก์กับจำเลยแยกต่างหากจากข้อสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายบริการจดทะเบียนที่ตกเป็นโมฆะ ข้อตกลงตามสัญญาในส่วนอื่นจึงยังคงมีความสมบูรณ์และใช้บังคับระหว่างโจทก์กับจำเลยได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 173 อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยทำสัญญาดังกล่าวโดยสำคัญผิดในสาระสำคัญแห่งนิติกรรม นั้น ปรากฏว่าจำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้เป็นประเด็นข้อพิพาทแห่งคดี จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 38 (เดิม) ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในข้อนี้ ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ขอให้ศาลวินิจฉัยปัญหาว่าจำเลยกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ในหลักสูตรและวิธีการสอนหรือไม่ นั้น เมื่อได้วินิจฉัยในข้างต้นแล้วว่าโจทก์มิได้บรรยายฟ้องและนำสืบให้เห็นว่าหลักสูตรและวิธีการสอนที่โจทก์กล่าวอ้างโจทก์ได้แสดงออกโดยวิธีหรือรูปแบบของงานอันมีลิขสิทธิ์ประเภทใดประเภทหนึ่งใน 9 ประเภท ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง หลักสูตรและวิธีการสอนของโจทก์ดังกล่าวซึ่งเป็นเพียงความคิดและขั้นตอนการทำงานจึงไม่ได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์แม้จะรับฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยใช้หลักสูตรและวิธีการสอนของโจทก์ในการสอนนักเรียนโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ การกระทำของจำเลยก็ไม่อาจเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในหลักสูตรและวิธีการสอนของโจทก์ได้ อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยทำซ้ำตำราเรียนบางส่วนอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมตำราเรียนของโจทก์หรือไม่ เห็นว่า แม้จะมีการทำซ้ำแบบเรียน “Smart Center Mental Arithmetic System Course 3 Book 1” จำนวน 2 หน้า จากจำนวนทั้งหมด 50 หน้า และแบบเรียน “Smart Center Mental Arithmetic System Course 3 Book 2” จำนวน 4 หน้า จากทั้งหมด 50 หน้า ให้แก่นักเรียนที่นางณิชาภาสอนจำนวนประมาณ 20 ถึง 30 คน แต่ในส่วนที่ทำซ้ำดังกล่าวเป็นโจทย์ฝึกทักษะด้วยระบบลูกคิดโดยในแต่ละหน้าประกอบด้วยโจทย์หลายข้อ ซึ่งโจทย์แต่ละข้อผู้สร้างสรรค์ต้องใช้ความวิริยะอุตสาหะในการแสดงออกซึ่งความคิดของผู้สร้างสรรค์ในข้อนั้น ๆ ดังนี้ ในทุก ๆ หน้า จึงเป็นส่วนสาระสำคัญของแบบเรียนดังกล่าว โดยมิได้ขึ้นอยู่กับจำนวนหน้าแต่อย่างใด ทั้งนี้ ตามข้อ 6.1 และข้อ 8.1 ของสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้าระบุว่า ผู้รับอนุญาต (จำเลย) ตกลงว่าจะไม่กระทำการใด ๆ อันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ และข้อ 6.3 และข้อ 8.3 กำหนดให้ผู้รับอนุญาต (จำเลย) ต้องใช้หลักสูตรและวิธีการสอนตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ที่ผู้อนุญาต (โจทก์) กำหนดไว้ กับทั้งข้อ 6.18 และข้อ 8.16 ผู้รับอนุญาต (จำเลย) ต้องใช้แบบเรียนและอุปกรณ์การเรียนการสอนภายใต้ลิขสิทธิ์ของผู้อนุญาต (โจทก์) จากผู้อนุญาต (โจทก์) เท่านั้น แสดงว่าจำเลยจะต้องใช้หลักสูตรและวิธีการสอนตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ที่ผู้อนุญาต (โจทก์) กำหนดไว้โดยต้องใช้แบบเรียนและอุปกรณ์การเรียนการสอนภายใต้ลิขสิทธิ์ของผู้อนุญาต (โจทก์) จากผู้อนุญาต (โจทก์) เท่านั้น ทั้งโจทก์มิได้อนุญาตให้จำเลยทำซ้ำตำราเรียนของโจทก์ การที่จำเลยอ้างว่าทำซ้ำตำราเรียนบางส่วนเพื่อเป็นการฝึกทักษะจึงเป็นการกระทำนอกเหนือไปจากขอบเขตตามสัญญา โดยจำเลยประกอบกิจการโรงเรียนกวดวิชาซึ่งเป็นธุรกิจเพื่อหากำไร แม้จะเป็นการทำซ้ำโดยผู้สอนเพื่อประโยชน์ในการสอน แต่ก็เป็นการกระทำเพื่อหากำไรจากการประกอบกิจการโรงเรียนกวดวิชาของจำเลย จึงไม่เข้าข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 32 วรรคหนึ่งและวรรคสอง (6) นอกจากนี้โจทก์ได้รับค่าลิขสิทธิ์ซึ่งรวมอยู่ในรายได้จากการจำหน่ายตำราเรียนให้แก่นักเรียนที่มาเรียนที่โรงเรียนของจำเลยเท่านั้น โดยโจทก์มิได้อนุญาตให้จำเลยใช้ลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมตำราเรียนของโจทก์ การที่จำเลยทำซ้ำตำราเรียนอันเป็นงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์แม้เพียงบางส่วนโดยมิได้ชำระค่าลิขสิทธิ์แก่โจทก์ และการกระทำดังกล่าวเป็นช่องทางให้นักเรียนที่มาเรียนที่โรงเรียนของจำเลยไม่จำต้องซื้อตำราเรียนจากโจทก์ ย่อมเป็นการขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามปกติของโจทก์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 32 วรรคหนึ่ง ดังนี้ การที่จำเลยทำซ้ำตำราเรียนบางส่วนของโจทก์ จึงเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27 (1) ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่าการกระทำดังกล่าวไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมตำราเรียนของโจทก์นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อต่อไปว่า ข้อตกลงตามข้อ 8.1 และข้อ 10.1 ของสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้า ลงวันที่ 7 กรกฎาคม 2548 และวันที่ 8 เมษายน 2550 ที่ระบุว่า เมื่อจำเลยผู้รับอนุญาตไม่ปฏิบัติตามสัญญาหรือผิดสัญญาข้อใดข้อหนึ่ง โจทก์ผู้อนุญาตมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้นั้นเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ และโจทก์ชอบที่จะบอกเลิกสัญญาหรือไม่ เห็นว่า เมื่อเปรียบเทียบสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้าระหว่างโจทก์กับจำเลย กับสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้าระหว่างโจทก์กับผู้มีชื่อ ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2547 และวันที่ 19 พฤศจิกายน 2549 แล้ว มีลักษณะเป็นแบบพิมพ์ที่มีการกำหนดข้อความไว้ล่วงหน้าและนำมาใช้กับคู่สัญญาทุกราย จึงมีลักษณะเป็นสัญญาสำเร็จรูป ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 3 และตามพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 4 วรรคสาม (3) ที่บัญญัติว่า ข้อตกลงให้สัญญาสิ้นสุดลงโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรหรือให้สิทธิบอกเลิกสัญญาได้โดยอีกฝ่ายหนึ่งมิได้ผิดสัญญาในข้อสาระสำคัญนั้น เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของข้อตกลงที่มีลักษณะหรือมีผลให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติอันอาจถือได้ว่าทำให้คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเท่านั้น ไม่ถึงขนาดว่าหากมีข้อตกลงในลักษณะดังกล่าวจะถือว่าเป็นข้อตกลงที่ทำให้ผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูปได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควรอันจะมีผลทำให้เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง เมื่อปรากฏว่าข้อตกลงที่เป็นเหตุในการบอกเลิกสัญญาในข้อ 6 และข้อ 8 เป็นข้อตกลงที่ห้ามมิให้จำเลยผู้รับอนุญาตกระทำสิ่งใดอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ผู้อนุญาตให้จำเลยผู้รับอนุญาตตกแต่งสถานประกอบการ ติดตั้งป้ายโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์ตามแบบของโจทก์ผู้อนุญาต และให้จำเลยผู้รับอนุญาตกำหนดจำนวนนักเรียนและวันเปิดปิดโรงเรียนตามนโยบายของโจทก์ผู้อนุญาต จึงเห็นได้ว่าข้อตกลงดังกล่าวมีวัตถุประสงค์แห่งสัญญาให้โจทก์ผู้อนุญาตสามารถควบคุมรูปแบบของกิจการและคุณภาพของการเรียนการสอนตามหนังสือตำราเรียนที่โจทก์มีลิขสิทธิ์ในโรงเรียนของจำเลยให้เป็นไปในรูปแบบและแนวทางเดียวกัน ซึ่งจำเลยจะต้องปฏิบัติตาม ข้อตกลงดังกล่าวจึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นข้อตกลงที่มีลักษณะหรือมีผลให้จำเลยผู้รับอนุญาตต้องปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติอันเป็นข้อตกลงที่อาจถือได้ว่าทำให้ได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง การที่ให้สิทธิโจทก์บอกเลิกสัญญาได้เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงข้อใดข้อหนึ่งดังกล่าว จึงไม่ใช่ข้อตกลงให้สัญญาสิ้นสุดลงโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ดังนี้ ข้อตกลงตามข้อ 8.1 และข้อ 10.1 จึงไม่ใช่ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 4 ข้อตกลงดังกล่าวย่อมใช้บังคับระหว่างโจทก์กับจำเลยผู้เป็นคู่สัญญาได้ อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ดังนี้ เมื่อในระหว่างสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้าดังกล่าว จำเลยได้กระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์โดยการทำซ้ำตำราเรียนบางส่วนดังที่วินิจฉัยมาข้างต้น จึงเป็นการที่จำเลยปฏิบัติผิดสัญญาข้อ 6.1 และข้อ 8.1 และข้อเท็จจริงยังรับฟังได้ตามที่โจทก์และจำเลยไม่โต้แย้งกันในชั้นอุทธรณ์ด้วยว่าจำเลยปฏิบัติผิดสัญญาตามข้อ 6.4 ข้อ 6.8 ข้อ 6.12 และข้อ 8.4 กับข้อ 8.11 โจทก์จึงชอบที่จะมีหนังสือบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยตามหนังสือบอกเลิกสัญญาลงวันที่ 14 สิงหาคม 2550 ซึ่งจำเลยได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาดังกล่าวแล้ว ย่อมเป็นอันเลิกกัน อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อต่อไปว่า ภายหลังสัญญาเลิกกัน จำเลยกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์หนังสือตำราเรียนคณิตคิดเร็ว 7 ระดับ รวมจำนวน 14 เล่ม ของโจทก์หรือไม่ เห็นว่า การรับฟังพยานหลักฐานในคดีแพ่งกับในคดีอาญากฎหมายบัญญัติไว้แตกต่างกัน ไม่อาจนำบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226 และมาตรา 226/1 ซึ่งบัญญัติห้ามมิให้รับฟังพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นจากการจูงใจ มีคำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวงหรือโดยมิชอบประการอื่น และพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยชอบแต่ได้มาเนื่องจากการกระทำโดยมิชอบหรือเป็นพยานหลักฐานที่ได้มาโดยอาศัยข้อมูลที่เกิดขึ้นหรือได้มาโดยมิชอบนั้น มาใช้บังคับกับการรับฟังพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้ ดังนั้น การรับฟังพยานหลักฐานในคดีแพ่งจึงเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 104 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า “ให้ศาลมีอำนาจเต็มที่ในอันที่จะวินิจฉัยว่าพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบนั้นจะเกี่ยวกับประเด็นและเป็นอันเพียงพอให้เชื่อฟังเป็นยุติได้หรือไม่ แล้วพิพากษาคดีไปตามนั้น” ในปัญหานี้โจทก์มีนางสาวศรียามาเบิกความเป็นพยานประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงของพยานยืนยันว่า เมื่อประมาณปลายเดือนสิงหาคม 2550 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังวันที่ 16 สิงหาคม 2550 อันเป็นวันที่จำเลยได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาจากโจทก์ จำเลยว่าจ้างพยานให้จัดทำหนังสือตำราเรียนคณิตคิดเร็ว 7 ระดับ รวมจำนวน 14 เล่ม โดยจำเลยจ่ายเงินค่าจ้างในเบื้องต้นให้แก่พยานจำนวน 15,000 บาท ในการจัดทำตำราเรียนดังกล่าวจำเลยส่งต้นฉบับตำราเรียนวิชาคณิตคิดเร็วของโจทก์ให้แก่พยานตามจำนวนหลักสูตรที่ให้จัดทำ โดยให้พยานใช้วิธีนำต้นฉบับตำราเรียนของโจทก์มาตัดแปะ สลับหน้า และจัดเรียงหน้าใหม่แล้วส่งให้จำเลยจัดพิมพ์และตกแต่งเป็นตำราเรียนใหม่เพื่อนำไปใช้ในโรงเรียนของจำเลย และโจทก์มีพยานหลักฐานเป็นหนังสือคณิตคิดเร็วคอร์ส 1 เล่ม 2 ที่ได้มาจากโรงเรียนของจำเลยภายหลังจากที่โจทก์บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยแล้ว มาแสดงเปรียบเทียบกับหนังสือตำราเรียน “Smart Center Mental Arithmetic System Coures 1 Book 2” ของโจทก์พบว่ามีการทำซ้ำ ดัดแปลงมาจากหนังสือตำราเรียนของโจทก์เป็นจำนวน 35 หน้า จาก 50 หน้า นอกจากนี้โจทก์มีเด็กชาย ส. มาเบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงของพยานยืนยันว่า พยานลงทะเบียนเรียนวิชาคณิตคิดเร็วและคณิตพิชิตโจทย์ปัญหาที่โรงเรียนของจำเลยแล้วได้รับหนังสือ โดยนักเรียนในห้องเดียวกันจะมีหนังสือดังกล่าวทุกคน ประกอบกับจำเลยไม่ขอตอบทนายโจทก์ที่ถามค้านว่าหลักสูตรคณิตคิดเร็วของจำเลยเป็นหลักสูตรเดียวกับของโจทก์หรือไม่ และจำเลยไม่นำสืบพยานหลักฐานให้เห็นเป็นอย่างอื่น ดังนี้พยานหลักฐานของโจทก์จึงเกี่ยวกับประเด็นแห่งคดีและมีน้ำหนักและเหตุผลให้รับฟังได้ดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์โดยทำซ้ำหนังสือตำราเรียนคณิตคิดเร็ว 7 ระดับ รวมจำนวน 14 เล่ม ของโจทก์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27 (1) หลังเลิกสัญญาแล้วนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยข้อต่อไปว่า โจทก์ได้รับความเสียหายจากการที่จำเลยปฏิบัติผิดสัญญาเพียงใด เห็นว่า การที่จำเลยกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ในตำราเรียนของโจทก์ดังกล่าวย่อมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นค่าแห่งลิขสิทธิ์ที่จำเลยต้องชดใช้แก่โจทก์ โดยโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นถึงความเสียหายประการอื่น แต่ได้ความจากบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงของโจทก์ว่า โจทก์ใช้กำลังกาย กำลังความคิด ทีมงาน บุคลากร เพื่อทำหลักสูตร สร้างสรรค์ตำราเรียน คิดค้นเทคนิควิธีการพิเศษที่จะทำให้ผู้เรียนอายุ 6 ถึง 13 ปี ได้รับความรู้และความสนุกสนาน โดยใช้ระยะเวลาค้นคว้าวิจัย ทดลองใช้ ประเมินผล และปรับปรุงกับผู้เรียนหลายรุ่นใช้เวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกำหนดค่าเสียหายในการละเมิดลิขสิทธิ์ตำราเรียนของโจทก์รวมจำนวน 14 เล่ม เป็นเงินจำนวน 300,000 บาท เฉลี่ยจำนวนเล่มละประมาณ 21,428 บาท จึงเป็นจำนวนค่าเสียหายซึ่งเป็นค่าแห่งลิขสิทธิ์ที่เหมาะสมแล้ว ส่วนค่าขาดรายได้จากการจำหน่ายตำราเรียนที่พึงจะได้เมื่อครบกำหนดตามสัญญาแต่โจทก์ขอคิดเพียง 15 ปี นั้น ตามสัญญา ข้อ 6.18 และ ข้อ 6.2 กำหนดให้จำเลยผู้รับอนุญาตจะต้องซื้อหนังสือตำราเรียนจากโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิได้รับรายได้จากการขายตำราเรียนดังกล่าว เมื่อได้มีการซื้อขายตำราเรียนดังกล่าวจริงในระหว่างที่สัญญามีผลใช้บังคับ การที่โจทก์เรียกให้จำเลยชำระค่าตำราเรียนดังกล่าวจึงมิใช่เป็นการเรียกค่าเสียหายเนื่องจากการเลิกสัญญา แต่เป็นการเรียกร้องให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญา ดังนั้น เมื่อสัญญาเลิกกันแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาค่าขาดรายได้ในส่วนนี้จากจำเลย ส่วนที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกำหนดค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการบังคับตามสิทธิจำนวน 30,000 บาท จากที่โจทก์เรียกร้องมาจำนวน 200,000 บาท โดยโจทก์มิได้มีพยานหลักฐานพิสูจน์ถึงค่าใช้จ่ายจำนวนดังกล่าวนั้น เห็นว่า เป็นการกำหนดค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการบังคับตามสิทธิให้แก่โจทก์เป็นจำนวนพอสมควรแล้ว ดังนี้ จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ฐานผิดสัญญา จำนวน 395,148 บาท ค่าเสียหายที่เป็นค่าแห่งลิขสิทธิ์จำนวน 300,000 บาท และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการบังคับตามสิทธิจำนวน 30,000 บาท รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้นจำนวน 725,148 บาท พร้อมดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อสุดท้ายว่า โจทก์ต้องคืนเงินที่จำเลยได้ชำระเป็นค่าตอบแทนแก่โจทก์ตามสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้าลงวันที่ 7 กรกฎาคม 2548 และวันที่ 8 เมษายน 2550 ตามลำดับ จำนวนฉบับละ 250,000 บาท รวมจำนวน 500,000 บาท แก่จำเลยตามฟ้องแย้งหรือไม่ เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าโจทก์ได้ดำเนินการปฏิบัติตามสัญญาทั้งสองฉบับนี้ไปประมาณสองในห้าส่วนของสัญญาทั้งสองฉบับนั้นแล้ว จึงสมควรกำหนดค่าใช้จ่ายที่โจทก์พึงได้รับเป็นเงินจำนวน 200,000 บาท เมื่อสัญญาเลิกกันโจทก์จึงต้องคืนเงินที่จำเลยชำระแก่โจทก์ไว้ในวันทำสัญญาในส่วนที่เหลือจำนวน 300,000 บาท แก่จำเลยพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 25 กันยายน 2550 อันเป็นวันที่สัญญาเลิกกัน แต่ตามฟ้องแย้งจำเลยขอคิดดอกเบี้ยจากต้นเงินที่โจทก์ต้องคืนแก่จำเลยนับแต่วันที่ 14 สิงหาคม 2551 จึงให้คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 300,000 บาท นับแต่วันที่ 14 สิงหาคม 2551 ถึงวันที่ 9 ธันวาคม 2551 อันเป็นวันฟ้องเป็นเงินจำนวน 7,274 บาท
อนึ่ง เมื่อโจทก์และจำเลยต่างฝ่ายต่างมีความผูกพันซึ่งกันและกันโดยมีมูลหนี้อันเป็นวัตถุแห่งหนี้ที่ต้องชำระให้แก่กันและกันเป็นเงินอย่างเดียวกันและหนี้เงินที่โจทก์และจำเลยต้องชำระให้แก่กันและกันนั้นถึงกำหนดชำระแล้วด้วยกัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 341 ดังนี้ เพื่อความสะดวกในการบังคับคดี จึงให้นำหนี้เงินที่จำเลยต้องชำระแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้องจำนวน 725,148 บาท มาหักกลบลบกันกับหนี้เงินที่โจทก์ต้องชำระแก่จำเลยพร้อมดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้องจำนวน 307,274 บาท เมื่อหักกลบลบหนี้กันแล้ว คงเหลือค่าเสียหายที่จำเลยต้องชดใช้แก่โจทก์ถึงวันฟ้องเป็นต้นเงินจำนวน 417,874 บาท
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายทั้งสิ้นจำนวน 417,874 บาท พร้อมดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 10 ธันวาคม 2551 อันเป็นวันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนของฟ้องแย้งในชั้นศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางและค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนของคำฟ้องและฟ้องแย้งในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ