แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องว่า ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสที่โจทก์มีสิทธิอยู่กึ่งหนึ่ง จำเลยทั้งสามให้การว่าที่ดินพิพาทเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทว่า ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสหรือไม่ เมื่อโจทก์กล่าวอ้างต่อไปว่า จำเลยที่ 1 จดทะเบียนยกที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละแปลงโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์และโจทก์ไม่ทราบเรื่อง การที่จำเลยทั้งสามให้การต่อไปว่า โจทก์ไม่มีสิทธิเพิกถอนนิติกรรมการให้ที่ดินพิพาทเพราะโจทก์ทราบเรื่องและไม่คัดค้านถือว่าโจทก์ให้สัตยาบันแล้ว และนับถึงวันที่โจทก์นำคดีมาฟ้องเกินกว่าสิบปี คดีโจทก์ขาดอายุความ คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทด้วยว่า โจทก์มีสิทธิขอเพิกถอนนิติกรรมการให้ที่ดินทั้งสองแปลงหรือไม่ และคดีขาดอายุความหรือไม่ หากทางพิจารณาฟังได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 ก็วินิจฉัยประเด็นต่อไปว่าโจทก์ไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าว แต่หากฟังว่าที่ดินพิพาทเป็นสินสมรส ก็มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า โจทก์มีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมการให้หรือไม่ และคดีขาดอายุความหรือไม่ คำให้การของจำเลยทั้งสามจึงเป็นประเด็นต่อเนื่องและไม่ขัดแย้งกัน เป็นคำให้การที่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อนิติกรรมการให้ที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำลงวันที่ 22 เมษายน 2542 โจทก์ยื่นฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการให้เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2555 จึงเป็นการฟ้องหลังจากพ้นกำหนดสิบปีนับแต่วันที่ได้ทำนิติกรรมนั้น ฟ้องโจทก์ในส่วนนี้ย่อมขาดอายุความ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480 วรรคสอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาให้โจทก์กับจำเลยที่ 1 หย่าขาดจากกัน และเพิกถอนนิติกรรมการให้ที่ดินทั้งสองแปลงระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 และที่ 3 ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวกลับคืนมาเป็นสินสมรสใส่ชื่อโจทก์กับจำเลยที่ 1 หากไม่ปฏิบัติให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาและให้จำเลยที่ 1 แบ่งสินสมรสคือที่ดินดังกล่าวให้โจทก์กึ่งหนึ่ง หากทำไม่ได้ให้เอาที่ดินดังกล่าวออกขายทอดตลาดแล้วเอาเงินมาแบ่งกันคนละกึ่งหนึ่ง
จำเลยที่ 1 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ โดยได้รับอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในชั้นอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลชั้นฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย จดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2522 มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือจำเลยที่ 2 และที่ 3 เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2527 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนซื้อที่ดินพิพาท 2 แปลง คือโฉนดที่ดินเลขที่ 23641 และเลขที่ 23642 ต่อมาเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2542 จำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมการให้ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงแก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละแปลง
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า โจทก์มีเหตุฟ้องหย่าจำเลยที่ 1 ตามกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า เหตุที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่ได้พักอาศัยร่วมกันเป็นไปเพื่อความสะดวกในการประกอบอาชีพ ไม่ได้เกิดจากเหตุที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ทะเลาะกันจนต้องแยกกันอยู่ และจำเลยที่ 1 คอยให้ความช่วยเหลือโจทก์ตามหน้าที่ของภริยาที่ต้องช่วยเหลืออุปการะสามีตามสมควร โจทก์จึงไม่มีเหตุฟ้องหย่าจำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์ไม่มีเหตุฟ้องหย่าจำเลยที่ 1 โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอแบ่งที่ดินพิพาททั้งสองแปลงที่โจทก์อ้างว่าเป็นสินสมรสในระหว่างที่การสมรสยังมีอยู่
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ประการต่อไปว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องขอเพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 และที่ 3 หรือไม่ เห็นว่า โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องว่า ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสที่โจทก์มีสิทธิอยู่ด้วยกึ่งหนึ่ง จำเลยทั้งสามให้การว่าที่ดินพิพาทเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 คดีมีประเด็นข้อพิพาทว่าที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสหรือไม่ โจทก์กล่าวอ้างต่อไปว่าจำเลยที่ 1 จดทะเบียนยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละแปลงโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์และโจทก์ไม่ทราบเรื่อง จำเลยทั้งสามให้การทำนองเดียวกันว่าโจทก์ไม่มีสิทธิเพิกถอนนิติกรรมการให้ที่ดินพิพาทเพราะโจทก์ทราบเรื่องและไม่คัดค้านถือว่าโจทก์ให้สัตยาบันแล้ว และนับถึงวันที่โจทก์นำคดีมาฟ้องเกินกว่า 10 ปี คดีโจทก์ขาดอายุความจึงมีประเด็นข้อพิพาทด้วยว่า โจทก์มีสิทธิขอเพิกถอนนิติกรรมการให้ที่ดินทั้งสองแปลงหรือไม่และคดีขาดอายุความแล้วหรือไม่ หากทางพิจารณาฟังได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 ก็วินิจฉัยประเด็นต่อไปได้เลยว่าโจทก์ไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวแต่หากฟังว่าที่ดินพิพาทเป็นสินสมรส ก็มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า โจทก์มีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมการให้หรือไม่ และคดีขาดอายุความหรือไม่ ดังนั้นคำให้การของจำเลยทั้งสามจึงเป็นประเด็นต่อเนื่องและไม่ขัดแย้งกันเอง แต่เป็นคำให้การที่ชอบด้วยกฎหมาย ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาว่าโจทก์มีสิทธิขอเพิกถอนนิติกรรมการให้หรือไม่ และคดีขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า นิติกรรมการให้ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำลงเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2542 โจทก์ยื่นฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการให้เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2555 จึงเป็นการฟ้องหลังจากพ้นกำหนดสิบปี นับแต่วันที่ได้ทำนิติกรรมนั้น ฟ้องโจทก์ในส่วนนี้ย่อมขาดอายุความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1480 วรรคสอง ดังนั้น ข้อเท็จจริงที่ว่าโจทก์ทราบเรื่องการจดทะเบียนให้หรือไม่ จึงไม่เป็นประเด็นสำคัญอีกต่อไปเพราะแม้โจทก์ไม่ทราบเรื่อง แต่โจทก์ก็ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าว หลังจากพ้นกำหนดสิบปีนับแต่วันทำนิติกรรมได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ