คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1063/2549

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 หลอกลวงโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินให้ลงลายมือชื่อในสัญญากู้ยืมเงินและหนังสือสัญญาจำนองที่ดินไว้กับจำเลยที่ 2 นิติกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นจากกลฉ้อฉลของจำเลยที่ 1 เป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. มาตรา 159 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 2 ร่วมรู้เห็นด้วยกับการกระทำของจำเลยที่ 1 นิติกรรมจำนองระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 จึงตกเป็นโมฆียะ โจทก์ย่อมมีสิทธิบอกล้างได้ตามมาตรา 175 และการที่โจทก์ฟ้องคดีถือได้ว่าเป็นการบอกล้างแล้ว นิติกรรมจำนองระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 176

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 25080 เมื่อประมาณเดือนมีนาคม 2537 โจทก์กู้ยืมเงินจากจำเลยที่ 1 และมอบโฉนดที่ดินดังกล่าวให้ยึดถือไว้เป็นประกัน ต่อมาโจทก์ชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 ครบแล้ว แต่จำเลยที่ 1 ไม่คืนโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ โจทก์ไปตรวจสอบที่สำนักงานที่ดินพบว่า มีรายการโจทก์จดทะเบียนจำนองไว้แก่จำเลยที่ 2 ในสารบัญจดทะเบียนโฉนดที่ดินทั้ง ๆ ที่โจทก์ไม่เคยทำสัญญาจำนองกับจำเลยที่ 2 โจทก์ขอให้จำเลยที่ 2 ไถ่ถอนจำนองและให้จำเลยทั้งสองคืนโฉนดที่ดินแก่โจทก์ แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองส่งมอบโฉนดที่ดินคืนแก่โจทก์และพิพากษาว่าสัญญาจำนองดังกล่าวเป็นโมฆะ ให้จำเลยที่ 2 ไปจดทะเบียนเพิกถอนการจำนองหากไม่ไปให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์กู้ยืมเงินจำเลยที่ 2 จำนวน 150,000 บาท โดยจดทะเบียนจำนองที่ดินตามฟ้องเป็นประกันและมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้ค้ำประกัน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า สัญญาจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 25080 ตำบลน้ำอ้อม อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นโมฆะ ให้จำเลยทั้งสองส่งมอบโฉนดที่ดินดังกล่าวคืนแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 2 ไปจดทะเบียนเพิกถอนสัญญาจำนองที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 2 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 600 บาท
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามที่คู่ความนำสืบและไม่ได้โต้แย้งกันว่า โจทก์กู้เงิน 10,000 บาท จากจำเลยที่ 1 และมอบโฉนดที่ดินตามฟ้องให้จำเลยที่ 1 ยึดถือไว้เป็นประกันตามหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.2 โจทก์ชำระหนี้แก่จำเลยที่ 1 ครบถ้วนแล้ว โจทก์ลงลายมือชื่อเป็นผู้กู้และผู้จำนองในสัญญากู้ยืมเงินและหนังสือสัญญาจำนองที่ดินตามเอกสารหมาย ล.1 และ ล.4 ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า โจทก์จะขอให้เพิกถอนนิติกรรมจำนองระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ได้หรือไม่ โจทก์อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่า โจทก์อ่านหนังสือไม่ออก ที่โจทก์ลงลายมือชื่อในสัญญากู้ยืมเงินและหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเอกสารหมาย ล.1 และ ล.4 เพราะจำเลยที่ 1 บอกให้ลงลายมือชื่อจึงจะจ่ายเงินให้ เห็นว่า หนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.2 และสัญญากู้ยืมเงินกับหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเอกสารหมาย ล.1 และ ล.4 ต่างทำขึ้นในวันเดียวกัน โจทก์ประกอบอาชีพทำนา และที่ดินตามฟ้องมีเนื้อที่เพียง 4 ไร่เศษ ข้อเท็จจริงตามที่คู่ความนำสืบไม่ได้ความว่าโจทก์มีเหตุจำเป็นประการใดจึงต้องกู้เงินตามสัญญาทั้งสองฉบับรวมเป็นเงิน 160,000 บาท จำเลยที่ 2 มีทนายความจำเลยที่ 2 ผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 2 เป็นพยานเบิกความประกอบเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.4 ว่า จำเลยที่ 1 ได้มาติดต่อขอกู้เงินจากจำเลยที่ 2 แทนโจทก์ และนำโฉนดที่ดินตามฟ้องมาแสดง จำเลยที่ 2 ตกลงรับจำนองที่ดินดังกล่าว โดยไม่ปรากฏว่าทนายความจำเลยที่ 2 ร่วมรู้เห็นในการทำนิติกรรมจำนอง และตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเอกสารหมาย ล.4 ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อเป็นผู้รับจำนองแทนจำเลยที่ 2 พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ 2 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 หลอกลวงโจทก์ให้ลงลายมือชื่อในสัญญากู้ยืมเงินและหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเอกสารหมาย ล.1 และ ล.4 นิติกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นจากกลฉ้อฉลของจำเลยที่ 1 เป็นโมฆียะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 159 วรรคหนึ่ง ทนายจำเลยที่ 2 เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า จำเลยที่ 2 ไม่เคยรู้จักจำเลยที่ 1 มาก่อน แต่กลับมอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนรับจำนองแทน และได้ความว่าจำเลยที่ 2 รับจำนองที่ดินตามฟ้องโดยไม่ใส่ใจว่าที่ดินตั้งอยู่ที่ใด พฤติการณ์ดังกล่าวไม่น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 2 ตกลงให้โจทก์กู้เงิน 150,000 บาท โดยมอบเงินดังกล่าวให้จำเลยที่ 1 รับแทนตามที่จำเลยที่ 2 กล่าวอ้างและนำสืบ แต่น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 2 ร่วมรู้เห็นด้วยกับการกระทำของจำเลยที่ 1 นิติกรรมจำนองระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 จึงตกเป็นโมฆียะ โจทก์ย่อมมีสิทธิบอกล้างได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 175 และการที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ถือได้ว่าเป็นการบอกล้างแล้ว นิติกรรมจำนองระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 176 โจทก์มีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวได้ ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น โจทก์ฎีกาโดยมีคำขอให้จำเลยที่ 2 ส่งมอบโฉนดที่ดินคืนแก่โจทก์ จึงบังคับให้ตามคำขอ”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เว้นแต่การส่งมอบโฉนดที่ดินคืนแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 2 กระทำการแต่เพียงผู้เดียว ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และฎีกาแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 2,000 บาท.

Share