คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 928/2507

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยขับรถบรรทุกเฉี่ยวรถจี๊ปเสียหายด้วยความประมาท เป็นเหตุให้บุตรโจทก์ซึ่งนั่งมาในรถจี๊ปถึงแก่ความตาย อัยการได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาหาว่าขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้คนตาย ศาลพิพากษายกฟ้องโดยเห็นว่า เหตุที่รถเกิดชนกันนั้นอาจเกิดขึ้นเพราะความผิดความประมาทของจำเลยหรือของคนขับรถจี๊ปก็เป็นได้ทั้ง 2 ทางเท่าๆ กัน ดังนี้เมื่อโจทก์มาฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่งให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนในการที่ทำให้บุตรโจทก์ตาย ศาลจะนำเอาผลของคำพิพากษาคดีอาญาที่ให้ยกฟ้องอัยการนั้นมาวินิจฉัยคดีแพ่งอย่างใดไม่ได้ เพราะมิได้ฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติอย่างไร โจทก์อาจนำสืบในคดีแพ่งได้อีกว่า จำเลยเป็นฝ่ายประมาททำให้บุตรโจทก์ตาย
เมื่อโจทก์มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้จำเลยใช้ค่าปลงศพบุตรโจทก์ ซึ่งถูกจำเลยกระทำให้ถึงแก่ความตาย แม้นายจ้างของบุตรโจทก์จะได้บริจาคเงินแก่โจทก์ให้ใช้จ่ายในการทำศพเป็นเงินจำนวนเท่าๆ กันแล้ว จำเลยก็จะยกมาเป็นข้อปัดความรับผิดของจำเลยหาได้ไม่
ผู้ตายเคยอุปการะโจทก์เดือนละ 300 บาท ศาลก็มีอำนาจกำหนดให้จำเลยชำระค่าสินไหมทดแทนการที่โจทก์ขาดไร้อุปการะเป็นเงินจำนวนเดียว 36,000 บาท ตามที่โจทก์ขอมาโดยคิดคำนวณจากระยะเวลา 10 ปีได้ แต่ค่าสินไหมทดแทนเช่นนี้เป็นการชดใช้แก่หนี้ในอนาคต โจทก์จะเรียกดอกเบี้ยในเงินจำนวนนี้ไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบิดาของนายประสาร วิมลศิลปิน ผู้ตายจำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างขับรถยนต์บรรทุกเลขทะเบียน ป.ข.00192 ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ได้ขับรถคันนั้นตามทางการที่จ้างด้วยความประมาทเป็นเหตุให้รถเฉี่ยวกระแทกรถจี๊ป กท. ท.7375 นายประสาร วิมลศิลปิน กับนายจำลอง จันทา ผู้โดยสารมาในรถจี๊ปบาดเจ็บสาหัสถึงแก่ความตาย ก่อนนั้นนายประสารอุปการะโจทก์เป็นประจำเดือนละ300 บาท และโจทก์กับญาติต้องยืมเงินมาใช้ทำศพประมาณ 4,000 บาท การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นเหตุให้โจทก์ต้องขาดไร้อุปการะ จำเลยที่ 1 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 2 รับผิดชดใช้ โจทก์ขอคิดค่าสินไหมทดแทนค่าขาดไร้อุปการะเพียง 10 ปีเป็นเงิน 36,000 บาท กับค่าทำศพอีก 4,000 บาท ขอให้บังคับจำเลย

จำเลยให้การต่อสู้ว่า การที่รถเฉียดกันนี้เกิดจากความประมาทของนายประดิษฐ์คนขับรถจี๊ปคันที่ผู้ตายนั่งมา กรณีเรื่องนี้อัยการได้ฟ้องจำเลยที่ 2 ฐานทำให้คนตายโดยประมาทศาลได้พิพากษายกฟ้องปล่อยตัวจำเลยที่ 2 แล้วตามสำนวนคดีแดงที่ 181/2504 ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกก็สูงเกินความจริง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าทำศพนายประสารให้แก่โจทก์ 4,000 บาท และใช้ค่าสินไหมทดแทนเนื่องจากโจทก์ขาดการอุปการะเลี้ยงดูเดือนละ 300 บาท นับแต่ 10 มีนาคม 2504 (วันเกิดเหตุ) จนครบ 10 ปี

โจทก์จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ เป็นให้จำเลยร่วมกันใช้ค่าขาดอุปการะเป็นเงินจำนวนเดียวรวม 36,000 บาท กับค่าทำศพอีก 4,000 บาทและเนื่องจากศาลพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายฐานละเมิดโจทก์เป็นเงินจำนวนหนึ่ง ถือได้ว่าเป็นหนี้เงินแล้ว จึงให้จำเลยใช้ดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี ในต้นเงิน 40,000 บาท นับแต่วันศาลพิพากษาจนกว่าจะใช้เงินเสร็จแก่โจทก์ด้วย

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า นายประดิษฐ์ขับรถจี๊ปมาจากจังหวัดประจวบฯ ได้สวนเฉี่ยวกับรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 2 ผู้เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับ รถเฉี่ยวกันครั้งนี้เป็นเหตุให้นายประสารและนายจำลองซึ่งนั่งมาในรถจี๊ปถึงแก่ความตายอัยการได้ฟ้องจำเลยที่ 2 แต่ผู้เดียวตามสำนวนคดีหมายเลขแดงที่ 181/2504 หาว่าจำเลยที่ 2 ขับรถโดยประมาท เป็นเหตุให้คนตายแต่ศาลพิพากษายกฟ้อง โดยเห็นว่าเหตุที่ชนกันอาจเกิดขึ้นเพราะความผิดความประมาทของจำเลยที่ 2 ก็เป็นได้ หรือเพราะความผิดความประมาทของนายประดิษฐ์ก็เป็นได้ และเป็นได้เท่า ๆ กัน ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลย

โจทก์เป็นบิดาของนายประสารผู้ตาย ก่อนตายนายประสารทำงานอยู่ที่บริษัทพรหมวิวัฒน์ จำกัด นายประสารได้ให้เงินเลี้ยงดูโจทก์เดือนละ 300 บาท

แล้วศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ศาลจะนำเอาผลของคำพิพากษาคดีอาญาแดงที่ 181/2504 ที่ให้ยกฟ้องของอัยการโจทก์นั้นมาวินิจฉัยคดีนี้อย่างใดไม่ได้ เพราะคำพิพากษาในคดีอาญานั้นมิได้ฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติอย่างไร เป็นแต่เพียงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยเท่านั้น โจทก์อาจฟ้องและนำสืบความรับผิดของจำเลยในทางแพ่งอีกได้ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 57 วรรคหนึ่ง คดีนี้ ศาลจึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่คู่ความนำสืบกันใหม่

ส่วนในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เหตุเกิดเพราะความประมาทของจำเลยที่ 2

ฎีกาเรื่องเงินค่าทำศพนายประสาร 40,000 บาทนั้น เห็นว่าโจทก์มีสิทธิเรียกร้องได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 443จำเลยจะยกเหตุที่บริษัทพรหมวิวัฒน์ จำกัดได้จ่ายเงินให้เป็นค่าใช้จ่ายในการทำศพประมาณ 4,000 บาท และผู้จัดการบริษัทยังให้เงินอีกจำนวนหนึ่งด้วย มาเป็นข้อปัดความรับผิดชอบของจำเลยหาได้ไม่เพราะบริษัทนั้นและผู้จัดการไม่อยู่ในฐานะที่จะต้องรับผิดชอบต่อโจทก์อย่างใด เงินดังกล่าวเป็นการบริจาคของบุคคลภายนอก ไม่เกี่ยวกับความรับผิดของจำเลย

สำหรับค่าสินไหมทดแทนการที่โจทก์ขาดไร้อุปการะนั้น เห็นว่าการบังคับให้จำเลยชำระแก่โจทก์เป็นรายเดือนเป็นเวลา 10 ปี ย่อมเป็นการยุ่งยากมาก ควรกำหนดให้ชำระคราวเดียวที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยชำระเป็นเงิน 36,000 บาทนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นสมควรเปลี่ยนแปลงแต่ค่าสินไหมทดแทนเช่นนี้เป็นหนี้การชดใช้แก่หนี้ในอนาคต โจทก์จะเรียกดอกเบี้ยในเงินจำนวนนี้หาได้ไม่

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยสำหรับค่าสินไหมทดแทนในการที่โจทก์ขาดไร้อุปการะ 36,000 บาทนั้น

Share