คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10625/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ปัญหาเกี่ยวกับอำนาจฟ้องเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยทั้งสี่ย่อมมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ แม้จะมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง เมื่อจำเลยทั้งสี่ยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ย่อมเป็นประเด็นที่ศาลอุทธรณ์จะต้องวินิจฉัยให้ การที่ศาลอุทธรณ์นำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) มาปรับแก่คดีแล้วเห็นว่าไม่สมควรยกขึ้นวินิจฉัยให้ เป็นการไม่ชอบ ปัญหาว่าโจทก์มอบอำนาจให้ ส. ฟ้องคดีแทนเฉพาะกิจการของโจทก์สาขาย่อยนวนครหรือไม่นั้น เมื่อพิจารณาหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 มีข้อความว่า “…กรรมการผู้มีอำนาจของธนาคารได้แต่งตั้งและมอบอำนาจให้ ส. ผู้จัดการสาขาย่อยนวนคร ซึ่งได้ลงลายมือชื่อไว้ท้ายหนังสือนี้เป็นตัวแทนของธนาคารอันชอบด้วยกฎหมายในอันที่จะกระทำแทนธนาคารในกิจการของสาขาที่กล่าวข้างต้น… รวมทั้งให้มีอำนาจ ดังนี้ 6. …ฟ้องคดีอาญา คดีแพ่ง …เพื่อป้องกันและรักษาทรัพย์สิน ผลประโยชน์หรือสิทธิต่าง ๆ ของธนาคาร…” ย่อมหมายความว่าโจทก์มอบอำนาจให้ ส. ในฐานะผู้จัดการสาขาย่อยนวนครดำเนินคดีแทนโจทก์ในกิจการของสาขาย่อยนวนครของโจทก์เท่านั้น ส. ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องเกี่ยวกับหนี้ของโจทก์สาขาอื่น ส. จึงมีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์เฉพาะหนี้เงินกู้ที่โอนจากสาขาเพชรบุรีตัดใหม่ไปยังสาขาย่อยนวนคร
โจทก์เป็นผู้ประกอบการธนาคารพาณิชย์จะต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 ประกอบประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศของธนาคารโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นลูกค้าโจทก์ไม่อาจทราบถึงหลักเกณฑ์ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศของธนาคารโจทก์ได้ การที่จำเลยที่ 1 นำเงินมาชำระหนี้โจทก์แล้วโจทก์นำไปหักชำระหนี้ตามจำนวนที่คิดคำนวณเอง โดยโจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์อันเป็นกิจการที่เชื่อถือของประชาชน ย่อมมีเหตุให้จำเลยที่ 1 เข้าใจและเชื่อโดยสุจริตว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยถูกต้อง ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ชำระหนี้โดยจงใจฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือเป็นการกระทำอันใดตามอำเภอใจเสมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันตามกฎหมายที่จะต้องชำระ อันจะเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิจะได้รับทรัพย์นั้นคืนตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 เมื่อข้อสัญญาเกี่ยวกับการคิดดอกเบี้ยของโจทก์เป็นโมฆะ เท่ากับสัญญากู้ยืมเงินมิได้มีการตกลงเรื่องดอกเบี้ยกันไว้ โจทก์ไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยก่อนผิดนัด และไม่อาจนำเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระแก่โจทก์มาแล้วไปหักออกจากดอกเบี้ยที่โจทก์ไม่มีสิทธิคิดได้ จึงต้องนำเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ไปชำระต้นเงินทั้งหมด
แม้ผู้บอกกล่าวบังคับจำนองจะมิใช่ผู้รับจำนองและไม่ได้รับมอบอำนาจจากผู้รับจำนอง แต่โจทก์ผู้รับจำนองยอมรับเอาการกระทำของผู้บอกกล่าวบังคับจำนองที่ได้กระทำไปในนามของโจทก์โดยการฟ้องคดีนี้ ถือว่าโจทก์ได้ให้สัตยาบันแก่การบอกกล่าวบังคับจำนองนั้นแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 823 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องบังคับจำนอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันชำระหนี้ให้แก่โจทก์เป็นเงิน 146,739,536.24 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 102,704,552.74 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้ให้โจทก์เสร็จสิ้น หากจำเลยทั้งสี่ไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วน ให้ยึดทรัพย์ที่จำนองเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 55120 ถึง 55259 ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี พร้อมสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินอื่น ๆ ของจำเลยทั้งสี่ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยทั้งสี่ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 102,683,570.08 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีจากต้นเงิน 11,798,148.23 บาท นับแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2540 จากต้นเงิน 70,000,000 บาท นับแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2541 จากต้นเงิน 10,000,000 บาท นับแต่วันที่ 16 มีนาคม 2543 จากต้นเงิน 10,863,000 บาท นับแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2541 จากต้นเงิน 22,421.85 บาท นับแต่วันที่ 18 ตุลาคม 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสี่ไม่ชำระหรือชำระไม่ครบให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 55120 ถึง 55259 ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี พร้อมสิ่งปลูกสร้างอันเป็นทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้โจทก์ หากได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ ให้บังคับคดีจากทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสี่จนครบ ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความเป็นเงิน 10,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ บริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ ศาลอุทธรณ์อนุญาต
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับดอกเบี้ยให้คิดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของยอดหนี้ทุกจำนวนนับแต่วันผิดนัดของยอดหนี้แต่ละจำนวนตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสี่ฎีกา
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ ศาลฎีกาอนุญาต
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาเกี่ยวกับเรื่องอำนาจฟ้องคดีเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยทั้งสี่ย่อมมีสิทธิที่จะยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ แม้จะมิได้เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคสอง และเมื่อจำเลยทั้งสี่ยกปัญหาดังกล่าวขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ย่อมเป็นประเด็นที่ศาลอุทธรณ์จะต้องวินิจฉัยให้ การที่ศาลอุทธรณ์นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) มาปรับแก่คดีแล้วเห็นว่าไม่สมควรยกขึ้นวินิจฉัยให้จึงเป็นการไม่ชอบ และศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ ปัญหาว่าโจทก์มอบอำนาจให้นายสมพงษ์ฟ้องคดีแทนโจทก์เฉพาะกิจการของโจทก์สาขาย่อยนวนครหรือไม่นั้น เมื่อพิจารณาหนังสือมอบอำนาจ มีข้อความว่า “… กรรมการผู้มีอำนาจของธนาคารได้แต่งตั้งและมอบอำนาจให้นายสมพงษ์ ผู้จัดการสาขาย่อยนวนคร ซึ่งได้ลงลายมือชื่อไว้ท้ายหนังสือนี้ เป็นตัวแทนของธนาคารอันชอบด้วยกฎหมายในอันที่จะกระทำแทนธนาคารในกิจการของสาขาที่กล่าวข้างต้น… รวมทั้งให้มีอำนาจ ดังนี้ 6. …ฟ้องคดีอาญา คดีแพ่ง …เพื่อป้องกันและรักษาทรัพย์สิน ผลประโยชน์หรือสิทธิต่างๆ ของธนาคาร…” ย่อมหมายความว่า โจทก์มอบอำนาจให้นายสมพงษ์ในฐานะผู้จัดการสาขาย่อยนวนครดำเนินคดีแทนโจทก์ในกิจการของสาขาย่อยนวนครของโจทก์เท่านั้น นายสมพงษ์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องเกี่ยวกับหนี้ของโจทก์สาขาอื่น ดังนั้น นายสมพงษ์จึงมีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์เฉพาะหนี้เงินกู้ที่โอนจากสาขาเพชรบุรีตัดใหม่ไปยังสาขาย่อยนวนครตามสัญญากู้เงินและบันทึกข้อตกลงการโอนวงเงินสินเชื่อและภาระหนี้ ที่จำเลยที่ 1 ผู้กู้ยังคงค้างชำระต้นเงิน 70,000,000 บาท ตามการ์ดบันทึกรายละเอียดลูกหนี้ และหนี้เงินกู้ที่จำเลยที่ 1 กู้เงินจากโจทก์สาขาย่อยนวนครตามสัญญากู้เงินที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระต้นเงิน 10,863,000 บาท ตามการ์ดบันทึกรายละเอียดลูกหนี้เท่านั้น ส่วนหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินของสาขาเพชรบุรีตัดใหม่ส่วนที่ยังไม่โอนไปยังสาขาย่อยนวนครที่จำเลยที่ 1 ยังคงค้างชำระต้นเงิน 11,798,148.23 บาท พร้อมค่าเบี้ยประกันภัยที่โจทก์ชำระแทนไปตามสัญญาดังกล่าวเป็นเงิน 22,421.85 บาท ตามสัญญากู้เงิน บันทึกข้อตกลงการโอนวงเงินสินเชื่อและภาระหนี้ บัญชีเงินให้กู้และสำเนาใบเสร็จรับเงินและหนี้เงินกู้ที่จำเลยที่ 1 กู้โจทก์สาขาเพชรบุรีตัดใหม่ ตามสัญญากู้เงินที่จำเลยที่ 1 ยังคงค้างชำระต้นเงิน 10,000,000 บาท ตามการ์ดบัญชีเงินให้กู้นั้น นายสมพงษ์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์เพื่อขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ชำระหนี้ในส่วนนี้ได้ ฎีกาของจำเลยทั้งสี่ข้อนี้ฟังขึ้น
โจทก์เป็นผู้ประกอบการธนาคารพาณิชย์จะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 ประกอบประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศของธนาคารโจทก์ โจทก์ทราบรายละเอียดหลักเกณฑ์การเรียกดอกเบี้ยเป็นอย่างดี ส่วนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกค้าโจทก์ไม่อาจทราบถึงหลักเกณฑ์ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศของธนาคารโจทก์ได้ การที่จำเลยที่ 1 นำเงินมาชำระหนี้โจทก์แล้วโจทก์นำไปหักชำระหนี้ตามจำนวนที่คิดคำนวณเอง โดยโจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์อันเป็นกิจการที่เชื่อถือของประชาชนย่อมมีเหตุให้จำเลยที่ 1 เข้าใจและเชื่อโดยสุจริตว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยถูกต้อง ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ที่คิดคำนวณไม่ถูกต้อง โดยจงใจฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือเป็นการกระทำอันใดตามอำเภอใจเสมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันตามกฎหมายที่จะต้องชำระ อันจะเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิจะได้รับทรัพย์นั้นคืนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 407 ดังนั้น เมื่อข้อสัญญาเกี่ยวกับการคิดดอกเบี้ยของโจทก์ตกเป็นโมฆะ เท่ากับสัญญากู้ยืมเงินมิได้มีการตกลงเรื่องดอกเบี้ยกันไว้ โจทก์ไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยก่อนผิดนัดและไม่อาจนำเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระแก่โจทก์มาแล้วไปหักออกจากดอกเบี้ยที่โจทก์ไม่มีสิทธิคิดได้ จึงต้องนำเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ไปชำระต้นเงินทั้งหมด ฎีกาของจำเลยทั้งสี่ข้อนี้ฟังขึ้น
แม้ผู้บอกกล่าวบังคับจำนองจะมิใช่ผู้รับจำนองและไม่ได้รับมอบอำนาจจากผู้รับจำนอง แต่โจทก์
ผู้รับจำนองยอมรับเอาการกระทำของผู้บอกกล่าวบังคับจำนองที่ได้กระทำไปในนามของโจทก์โดยการฟ้องคดีนี้ ถือว่าโจทก์ได้ให้สัตยาบันแก่การบอกกล่าวบังคับจำนองนั้นแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 823 จึงถือว่าคดีมีการบอกกล่าวบังคับจำนองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 728 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องบังคับจำนอง ฎีกาของจำเลยทั้งสี่ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 80,863,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 70,000,000 บาท นับแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2541 จากต้นเงิน 10,863,000 บาท นับแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้นำเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระมาแล้วตามยอดหนี้ดังกล่าวไปหักออกจากต้นเงินของยอดหนี้แต่ละจำนวนเสียก่อน เมื่อเหลือต้นเงินเท่าใดให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระต้นเงินคงเหลือพร้อมดอกเบี้ยอัตราดังกล่าว คำขออื่นให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share