คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1053/2507

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บรรยายฟ้องว่า “จำเลยกล่าวคำดูหมิ่นนางประยูรด้วยการโฆษณา โดยจำเลยกล่าวต่อเด็กหญิงเวียนเด็กรับใช้ในบ้านของนางประยูรว่า ” ให้ไปบอกอ้ายเหี้ย อีเหี้ย นายของมึงสองคน อย่ามาว่าอะไรกูมากนัก ประเดี๋ยวกูทนไม่ได้จะเอาเรื่องอีก” ดังนี้ เป็นการสั่งฝากไปบอกผู้เสียหายในลักษณะพูดกันตัวต่อตัว โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยได้กล่าวต่อบุคคลอื่นอีกจึงเป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ในความผิดฐานดูหมิ่นด้วยการโฆษณาตามมาตรา 393 เพราะมาตราดังกล่าวนี้มีความหมายถึงการดูหมิ่นในลักษณะป่าวร้องให้รู้กันหลายๆ คน ฉะนั้น แม้จำเลยจะรับสารภาพก็ลงโทษไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อ 25 มีนาคม 2507 เวลากลางวัน จำเลยบังอาจกล่าวคำดูหมิ่นนางประยูร กลัมพะนัน ด้วยการโฆษณา โดยจำเลยกล่าวต่อเด็กหญิงเวียน เพชรแสงเด็กรับใช้ในบ้านนางประยูรว่า “ให้ไปบอก อ้ายเหี้ย อีเหี้ย นายของมึงสองคน อย่ามาว่าอะไรกูมากนักประเดี๋ยวกูทนไม่ได้จะเอาเรื่องอีก” เหตุเกิดตำบลบ้านช่างหล่ออำเภอบางกอกน้อย จังหวัดธนบุรี ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393

จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง

ศาลชั้นต้นเห็นว่า ที่จำเลยกล่าวถ้อยคำดังที่โจทก์ฟ้องต่อเด็กหญิงเวียนนั้น ไม่ใช่เป็นการโฆษณา เพราะกล่าวต่อหน้าบุคคลคนเดียว และถ้อยคำที่กล่าวเป็นเพียงคำไม่สุภาพจำเลยไม่ผิดพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 บัญญัติว่า “ผู้ใดดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้าหรือด้วยการโฆษณา ต้องระวางโทษฯ ” และคำว่า “โฆษณา” ตามพจนานุกรมหมายความว่า การป่าวร้อง จึงแสดงให้เห็นว่า การดูหมิ่นด้วยการโฆษณาตามมาตรา 393 นี้ มีความหมายถึงการดูหมิ่นในลักษณการให้รู้กันหลาย ๆ คน ไม่ใช่พูดกันตัวต่อตัวจริงอยู่ การฟ้องหาว่าดูหมิ่นผู้อื่นด้วยการโฆษณา ไม่จำต้องบรรยายว่าจำเลยกล่าวคำดูหมิ่นต่อหน้าบุคคลรวมทั้งสิ้นกี่คน และเป็นใครบ้างโดยละเอียดดังฎีกาโจทก์ เพียงแต่บรรยายรายละเอียดเกี่ยวกับบุคคลมาให้เห็นหรือเข้าใจได้ว่า จำเลยดูหมิ่นผู้อื่นต่อบุคคลหลายคนอันเข้าในลักษณการโฆษณาก็พอแล้ว ในฟ้องโจทก์ แม้จะได้กล่าวว่าจำเลยกล่าวคำดูหมิ่นผู้เสียหายด้วยการโฆษณามาด้วยก็ตาม นั่นเป็นเพียงกล่าวถึงฐานความผิดที่โจทก์กล่าวหาตามความเข้าใจของโจทก์เท่านั้น โจทก์จำต้องบรรยายรายละเอียดแห่งการกระทำของจำเลยที่อ้างว่าเป็นความผิดในฐานที่กล่าวหานั้นมาด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) แต่ตามฟ้องโจทก์บรรยายมาเพียงว่าจำเลยได้กล่าวคำดูหมิ่นผู้เสียหายต่อเด็กหญิงเวียน เป็นการสั่งฝากไปบอกผู้เสียหายในลักษณะพูดกันตัวต่อตัว โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยได้กล่าวต่อบุคคลอื่นอีกเช่นนี้ จะให้เข้าใจเลยไปว่าจำเลยยังกล่าวต่อบุคคลอื่นอีกด้วยไม่ได้ ไม่มีทางให้เห็นหรือเข้าใจว่าจำเลยกล่าวคำดูหมิ่นผู้เสียหายต่อบุคคลหลายคน จึงเป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ในความผิดฐานดูหมิ่นด้วยการโฆษณา แม้จำเลยจะรับสารภาพ ก็ลงโทษจำเลยไม่ได้

พิพากษายืน

Share