คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1052/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์มีบ้านให้บุคคลอื่นเช่าในที่ดินของโจทก์ซึ่งไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะแม้หากผู้เช่าสามารถเดินเข้าออกที่ดินพิพาทได้โดยเป็นภาระจำยอมแล้ว โจทก์จะได้ประโยชน์จากการเก็บค่าเช่ามากขึ้น ทั้งทำให้ที่ดินของโจทก์มีราคาสูงขึ้นด้วย ก็ยังถือไม่ได้ว่าการที่โจทก์นำคดีมาฟ้องขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนภาระจำยอมและรื้อถอนรั้วที่ปิดกั้นระหว่างที่ดินของโจทก์กับที่ดินพิพาท เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทล้อมรั้วที่ดินพิพาทโดยด้านหน้ามีไม้กั้นติดข้อความว่า”ที่หวงห้าม ห้ามผ่าน” ด้านหลังใช้เสาไม้อันเดียวปักไว้มีป้ายติดข้อความว่า “ที่ส่วนตัวห้ามเดิน”และด้านข้างปักป้ายมีข้อความว่า “ที่สงวนลิขสิทธิ์” แต่ต่อมาในเดือนเดียวกันมีผู้รื้อถอนไม้ที่ใช้กั้นที่ดินพิพาทออก โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และผู้ที่เคยใช้ที่ดินพิพาทเป็นทางผ่านเข้าออกก็ยังคงใช้ที่ดินพิพาทเป็นทางผ่านเข้าออกต่อมาอีก การกั้นรั้วไม้ดังกล่าวไม่มีผลให้รับฟังว่าโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ได้ใช้ที่ดินพิพาทโดยความไม่สงบหรือมิได้ใช้ติดต่อกันมาเกิน 10 ปี
บทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1387 และมาตรา 1393แสดงว่าสิทธิการใช้ที่ดินพิพาทอันตกเป็นภาระจำยอม กฎหมายบัญญัติเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์หาได้มุ่งเพื่อประโยชน์ของบุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยเฉพาะไม่ ทั้งตกติดไปยังผู้รับโอนอสังหาริมทรัพย์อันเป็นสามยทรัพย์นั้นด้วย เมื่อปรากฏว่าขณะที่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ โจทก์ที่ 1 ที่ 2ได้ใช้ทางพิพาทเป็นทางออกจากที่ดินของตนไปสู่ทางสาธารณะ แม้ต่อมาภายหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว โจทก์ที่ 1 ที่ 2 จะได้โอนขายที่ดินของตนแก่บุคคลอื่น ก็หาทำให้อำนาจฟ้องของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ระงับไปไม่

Share