คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4339/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นข้าราชการครูระดับ 6 ได้รับเงินเดือนในอัตรา7,200 บาท จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ซึ่งรับราชการครูด้วยกันหลายครั้งรวม 60,000 บาท โจทก์จึงฟ้องให้ล้มละลายโดยไม่ได้ฟ้องเป็นคดีแพ่งก่อน และไม่ได้ทวงถามผู้ค้ำประกัน เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้จำเลยได้นำเงินมาวางศาล 10,000 บาท เพื่อชำระหนี้โจทก์ โจทก์ไม่รับนอกจากเป็นหนี้โจทก์จำเลยยังเป็นหนี้ธนาคารอีกสองแห่งแห่งละ30,000 บาท ซึ่งจำเลยได้ชำระไปบ้างแล้วคงค้างเงินต้นรายละ20,575 บาท และ 19,544 บาท ส่วนหนี้นาง อ. และนาง น.รายละ 10,000 บาท จำเลยก็ได้ผ่อนชำระไป 2,300 บาท และ 1,100 บาทตามลำดับ ส่วนหนี้รายอื่นอีก 20,000 บาท เจ้าหนี้นั้นยังไม่ทวงถามและยังไม่ฟ้องเพราะต้องการเงินก้อน ดังนี้ แสดงว่าจำเลยขวนขวายหาเงินมาชำระหนี้แก่เจ้าหนี้และยังมีความสามารถชำระหนี้ได้อันเป็นเหตุที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลาย.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ 60,000 บาท แล้วไม่ชำระโจทก์มีหนังสือทวงถาม ให้จำเลยชำระหนี้ 2 ครั้งแล้วซึ่งมีระยะห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน แต่จำเลยก็ไม่ชำระหนี้ จำเลยเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด และพิพากษาให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยให้การว่า จำเลยมิได้มีหนี้สินล้นพ้นตัวแต่อย่างใดขอให้พิพากษายกฟ้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า มีเหตุที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลายพิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่คู่ความไม่โต้เถียงกันชั้นฎีกาว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามฟ้องกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน และต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่า จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวปัญหามีว่าจำเลยอาจชำระหนี้ได้ทั้งหมดหรือมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลายหรือไม่ เห็นว่า โจทก์จำเลยต่างรับราชการครูในโรงเรียนเดียวกัน โดยจำเลยเป็นข้าราชการครู ระดับ 6 ได้รับเงินเดือนในอัตรา 7,200 บาท หนี้ที่โจทก์ฟ้องได้ความจากโจทก์ว่าให้จำเลยกู้ยืมไปหลายครั้ง ได้ใช้หนี้กันไปแล้วมากู้ยืมกันใหม่ครั้งก่อน ๆ ไม่ได้ทำหลักฐานการกู้ยืมเป็นหนังสือ เป็นเงิน50,000 บาท วันทำสัญญากู้ยืมเอกสารหมาย จ.1 จำเลยกู้ยืมอีก10,000 บาท จึงรวมจำนวนเงินเป็น 60,000 บาท และในการทำสัญญากู้ยืมดังกล่าวมีนางสาวพัฒนาซึ่งเป็นครูโรงเรียนเดียวกันเป็นผู้ค้ำประกัน แต่โจทก์ก็ไม่ได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่งก่อนและไม่ได้ทวงถามให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้อีกด้วย เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยให้เป็นบุคคลล้มละลายคดีนี้ จำเลยได้นำเงินมาวางศาลเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์เป็นจำนวน 10,000 บาท แต่โจทก์ก็ไม่รับไปจนภายหลังจำเลยมาขอรับเงินคืนจากศาลไปแล้ว ได้ความจากนางสาวอารีวรรณผู้จัดการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูจังหวัดประจวบคีรีขันธ์พยานโจทก์ว่าจำเลยเคยกู้ยืมเงินสหกรณ์ไป 55,000 บาท แต่จำเลยก็ชำระหนี้หมดแล้ว จำเลยได้กู้ยืมเงินธนาคารกสิกร จำกัด สาขาสามร้อยยอดและธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาปราณบุรี รายละ 30,000 บาท ตามคำเบิกความของนายชาญเวช และนางพรทิพย์พยานโจทก์ก็ปรากฏว่าจำเลยได้ชำระไปบ้างแล้วคงค้างต้นเงิน 20,575 บาท และ 19,544 บาทตามลำดับ รายนางอัมพร และนางอนงค์พยานโจทก์ที่จำเลยกู้ยืมไปรายละ 10,000 บาท จำเลยได้ผ่อนชำระไป 2,300 บาท และ 1,100บาท ตามลำดับ ส่วนที่จำเลยกู้ยืมเงินนางสมหมายพยานโจทก์เป็นเงิน20,000 บาท ก็ได้ความว่านางสมหมายประสงคืให้จำเลยคืนเป็นเงินก้อนไม่ต้องการให้ผ่อนชำระ และยังไม่ได้ทวงถามหรือฟ้องร้องให้ชำระอีกด้วย พฤติการณ์ดังนี้แสดงว่าจำเลยขวนขวายหาเงินมาชำระหนี้แก่เจ้าหนี้และยังมีความสามารถชำระหนี้ได้อันเป็นเหตุที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลาย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share