แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลขั้นต้นมิได้ชี้ขาดในประเด็นว่าจำเลยได้เช่าห้องพิพาทมาจากนายวิฑูรบิดานายเสียงจริงหรือไม่ คดีมาถึงชั้นศาลอุทธรณ์ ๆ เห็นสมควรชี้ขาดว่า ฟังได้ว่าจำเลยได้เช่าห้องพิพาทจากนายวิฑูรโดยมิได้ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นข้อนี้นั้น เป็นเรื่องศาลอุทธรณ์มีอำนาจทำได้ ตามประมวลวิธีพิจารณาความแพ่ง ม.240(3) ๆ ให้อำนาจศาลอุทธรณ์ที่จะย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นทำหรือไม่ย้อนก็ได้แล้วแต่ดุลยพินิจของศาลอุทธรณ์.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เช่าห้องแถวเลขที่ ๗๔ และ ๗๕ จากนายเสียง วิฑูรชาติมาประมาณ ๑๘ ปีเศษ ได้ทำสัญญากันไว้ เมื่อ ๑๔ ปีมาแล้วจำเลยได้เช่าห้องแถวดังกล่าวซึ่งอยู่ในทำเลการค้าจากโจทก์เพื่อทำการค้าและทำการค้าตลอดมาโดยไม่มีสัญญาเช่า จำเลยผิดนัดค้างชำระค่าเช่าตั้งแต่ มกราคม ๒๔๙๙ ตลอดมาเกิน ๒ คราว โจทก์ได้บอกเลิกการเช่าให้จำเลยส่งคืนห้องเช่าแก่โจทก์ จำเลยได้ขืนอยู่ในห้องเช่านี้ต่อมา โดยการละเมิด ทำให้โจทก์ขาดประโยชน์เดือนละ ๑๒๐ บาท รวม ๓ เดือนเศษคิดเป็นเงิน ๔๕๒ บาท จึงมาฟ้องขอให้ศาลขับจำเลยและบริวารออก ห้ามจำเลยเกี่ยวข้องและให้จำเลยใช้ค่าเสียหายด้วย
จำเลยให้การว่าจำเลยเช่าห้องจากบิดานายเสียงโดยตรง เช่าอยู่มา ๑๕ ปี เมื่อ ๗ – ๘ ปีนี้ บิดานายเสียงตาย นายเสียงหาได้แจ้งให้จำเลยทราบว่าได้ให้ผู้ใดเช่าห้องแถวไม่ โจทก์จะได้เช่าห้องนี้จากนายเสียงหรือไม่ จำเลยไม่รับรอง จำเลยไม่ได้ผิดนัดชำระค่าเช่า
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่าโจทก์มิได้เป็นผู้ทรงสิทธิในห้องพิพาท จึงขับไล่จำเลยมิได้ ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยประเด็นอื่น ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่ศาลชั้นต้นไม่ได้วินิจฉัยว่าจำเลยได้เช่าห้องพิพาทจากนายวิฑูรบิดานายเสียง แล้วศาลอุทธรณ์มาวินิจฉัยเสียเองว่าจำเลยได้เช่าห้องพิพาทจากนายวิฑูร โดยมิได้ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาด เป็นการขัดกับประมวลวิธีพิจารณาความแพ่ง ม.๒๔๐(๓) เพราะตาม ม.๒๔๐(๓) นี้บัญญัติให้ศาลอุทธรณ์มีอำนาจทำคำสั่งให้ศาลชั้นต้นพิจารณาปัญหาข้อเท็จจริง แล้วพิพาทตามรูปคดีนั้น เป็นเรื่องกฎหมายให้แก่ศาลอุทธรณ์ที่จะทำเช่นนั้นได้ ไม่เป็นบทบังคับว่าต้องทำคำสั่งให้ศาลชั้นต้น ปัญหาข้อเท็จจริงก่อนทุกเรื่องไป ย่อมอยู่ในดุลยพินิจของศาลอุทธรณ์ที่จะสังก็ได้ ในเรื่องนี้การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าวเอง จึงไม่ขัด ม.๔๒๐(๓) และศาลฎีกาได้วินิจฉัยต่อไปว่า เมื่อการวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ดังนี้ ก็ต้องฟังข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ตามที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ฟังมาแล้ว
ศาลฎีกาพิพากษายืน.