คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 105/2530

แหล่งที่มา : ADMIN

ย่อสั้น

อุทธรณ์ของจำเลยมิได้อ้างเหตุที่จะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมาย จึงไม่มีประเด็นที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัย ส่วนอุทธรณ์เรื่องการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมนั้น แม้ศาลแรงงานกลางจะวินิจฉัยว่าการเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม แต่ก็มิได้กำหนดให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ดังนั้น การที่จะวินิจฉัยว่าการเลิกจ้างเป็นธรรมหรือไม่ ย่อมไม่เป็นประโยชน์แก่คดี อุทธรณ์ของจำเลยในข้อนี้จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย.(ที่มา-เนติ)

ย่อยาว

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ไม่เป็นธรรมแต่โจทก์อายุน้อย ทำงานกับจำเลยได้เพียง 2 ปีเศษ โจทก์มาทำงานสายบ่อย และได้เงินค่าชดเชยมากพอสมควรแล้ว จึงไม่กำหนดค่าเสียหายให้อีก พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างแทนการหยุดพักผ่อน สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชย พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ‘ข้อที่จำเลยอุทธรณ์ว่าการที่โจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ซึ่งจำเลยได้เคยตักเตือนเป็นหนังสือถึง 2 ครั้งแล้ว แต่โจทก์ไม่เชื่อฟังจำเลยจึงมีคำสั่งลงโทษโดยลดค่าจ้างและเปลี่ยนหน้าที่การงาน แต่โจทก์ไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยดังกล่าวจำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ การเลิกจ้างของจำเลยจึงไม่ใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์นั้นพิเคราะห์แล้วเห็นว่าข้ออุทธรณ์ของจำเลยที่ว่าการเลิกจ้างของจำเลยเป็นธรรมหรือไม่ และจำเลยต้องจ่ายค่าเสียหายให้แก่โจทก์หรือไม่นั้น เป็นอุทธรณ์ตามนัยมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 ซึ่งในปัญหาดังกล่าวนี้แม้ศาลแรงงานกลางจะได้วินิจฉัยว่า การเลิกจ้างของจำเลยเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมก็ตาม แต่ก็มิได้กำหนดให้จำเลยต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์แต่อย่างใด ทั้งการเลิกจ้างจะเป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรมนั้นก็เป็นคนละกรณีกับการที่จำเลยจะต้องจ่ายค่าชดเชยหรือต้องบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์เมื่อเลิกจ้างหรือไม่ เพราะถึงแม้การเลิกจ้างจะไม่ใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมดังอุทธรณ์ของจำเลยก็ตามศาลก็อาจพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ได้ เพราะการจ่ายค่าชดเชยหรือไม่เป็นปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 และ 47 ส่วนการจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าหรือไม่นั้นเป็นปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 อุทธรณ์ของจำเลยมิได้อ้างเหตุที่จะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามบทกฎหมายดังกล่าวนี้ จึงไม่มีประเด็นที่จะวินิจฉัยว่าโจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าหรือไม่ และดังได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้นว่าคดีนี้ศาลแรงงานกลางมิได้กำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ เพราะเหตุเลิกจ้างไม่เป็นธรรมแต่อย่างใดฉะนั้นการที่จะวินิจฉัยว่าการเลิกจ้างเป็นธรรมหรือไม่ดังข้ออุทธรณ์ของจำเลยนั้นย่อมไม่เป็นประโยชน์แก่คดีของจำเลยแต่ประการใด อุทธรณ์ของจำเลยในข้อนี้จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย
พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลย’.

Share